"ตระหนก"แต่ไม่"ตระหนัก" "เผยคนไทย 90% ไม่วางแผน"เกษียณ"
คงเคยได้ยินกันชินหูว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ฟังแล้วก็ตระหนก แต่สุดท้ายไม่ตระหนัก เพราะส่วนใหญ่มองว่ายังไกลตัว สอดคล้องกับผลสำรวจของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่าคนไทยร้อยละ 90 ขาดการเตรียมตัวเพื่อการใช้ชีวิตวัยชรา
นัยยะนี้สะท้อนปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพของผู้สูงวัยเองตลอดจนศักยภาพของประเทศ ฉะนั้น หากคุณคือหนึ่งในนั้น เสวนาในหัวข้อ "ปัญหาทั่วไปทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการใช้ชีวิตหลังเกษียณ" จัดโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ที่หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่มีคำตอบ!
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ กล่าวว่า อีก 7 ปีข้างหน้าไทยจะมีประชากรสูงวัยร้อยละ 20 จากประชากรทั้งหมด กล่าวคือสัดส่วนคนทำงานต่อผู้สูงวัย จาก 5 ต่อ 1 จะเปลี่ยนเป็น 2 ต่อ 1 ขณะที่เด็กเกิดใหม่ยังพบกรณีคนพร้อมมีลูกแต่ไม่มีลูก คนไม่พร้อมมัวแต่มีลูก โดยเฉพาะปัญหาแม่วัยรุ่น เหล่านี้เกิดคำถามมากมายกับคุณภาพประชากรไทยในอนาคต ใครจะมาจ่ายภาษี ระบบสวัสดิการจะเป็นอย่างไร
ขณะที่การแก้ไขสถานการณ์ด้วยการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวทดแทนก็ไม่ได้ เพราะประเทศเมียนมา ลาว และกัมพูชาเองก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกันในระยะเวลาใกล้เคียงกับไทย ถึงเวลานั้นเขาก็แยกย้ายกลับ
"ถึงเวลานี้เราควรตั้งหลักก่อน เริ่มแรกคือทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสกลับมาทำงาน มีคุณค่าด้วยการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือกันเอง เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองให้ได้นานที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน แต่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง ด้วยการเก็บออมตั้งแต่วันนี้" ดร.เจิมศักดิ์กล่าว
ขณะที่ รศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเรื่อง "เศรษฐกิจกับผู้สูงวัย" ว่า ปัจจุบันรัฐสร้างหลักประกันทางรายได้ให้ผู้สูงอายุไว้มาก เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งเราพบว่าหลักประกันเหล่านี้เดินไปอย่างไร้ทิศทาง ไม่มียุทธศาสตร์ในภาพรวม ขาดการเชื่อมโยงระบบ ขาดการกำกับดูแล
ทั้งยังพบความเหลื่อมล้ำของการดูแลที่สุดท้ายก็เป็นภาระทางงบประมาณของรัฐบาล ฉะนั้นจึงเสนอคือ การจัดตั้งกลไกระดับชาติ เพื่อนำมาจัดระเบียบและเชื่อมโยงกันให้เป็นระบบการออมและสวัสดิการระดับชาติ รวมถึงขยายการเกษียณอายุ การส่งเสริมจ้างงานที่เหมาะสมกับวัยวุฒิ ประสบการณ์ และสภาพร่างกาย
รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงเรื่อง "สภาพแวดล้อมของผู้สูงวัย" ว่า เราพบว่าผู้สูงวัยมักเกิดอุบัติเหตุในบ้าน เช่น หกล้ม บางส่วนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าตัว เนื่องจากไม่มีการปรับสภาพแวดล้อมให้รองรับ เช่น มีราวจับ ทางลาด แสงสว่างเพียงพอ ทางไม่ลื่น เช่นเดียวกับสภาพแวดล้อมในชุมชนและระบบขนส่งที่ไม่ปลอดภัย ทั้งนี้ อยากให้ลงทุนซ่อมสร้างสภาพแวดล้อมในบ้านให้รองรับ แม้จะยังไม่เป็นผู้สูงวัยก็ตาม เพราะหากเกิดอุบัติเหตุแล้ว ความสูญเสียและค่ารักษาพยาบาลจะมากกว่าการซ่อมสร้าง
พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ รักษาการเลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวถึงเรื่อง "ปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ" ว่า ข้อมูลปี 2556 ผู้สูงอายุร้อยละ 95 มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งล้วนเกิดจากพฤติกรรมไม่เหมาะสมในช่วงวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน ขณะเดียวกันพบว่าผู้สูงอายุไทยออกกำลังกายน้อย ทั้งที่โรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการสร้างสุขภาพที่ดี
"การมีสุขภาพที่ดีจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ทั้งกับตัวผู้สูงอายุเองและงบประมาณประเทศซึ่งสามารถเริ่มได้ด้วยตัวเองโดยเฉพาะการออกกำลังกายชุมชนช่วยเหลือดูแลกัน และบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการมีแพทย์ที่จะมาดูแลผู้สูงวัยแบบองค์รวม ไม่ใช่แยกเป็นด้านๆ อย่างปัจจุบัน" พญ.ลัดดากล่าว
รศ.วิพรรณ ประจวบเหมาะ อาจารย์จากวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงเรื่อง "สภาพปัญหาสังคมของผู้สูงอายุ" ว่า อัตราการมีบุตรของคนไทยลดลงเฉลี่ย 2 คน ขณะเดียวกันพบแนวโน้มบุตรต้องย้ายไปทำงานที่ห่างไกลจากผู้สูงวัยมากขึ้น จึงเป็นเรื่องท้าทายว่าในอนาคต
ผู้สูงอายุที่เป็นโสดหรือไม่มีบุตรใครจะดูแล หรือที่มีบุตรก็เช่นกัน ฉะนั้นต้องเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ลดการพึ่งพาบุตรให้น้อยลง ผู้สูงอายุอาจต้องช่วยเหลือกันเอง อาจรวมกันเป็นชมรมผู้สูงอายุในปัจจุบัน หรือการรับบริการจากภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสม
แต่ไม่ใช่ส่งเข้าสถานบริบาลผู้สูงวัยอย่างประเทศที่พัฒนาแล้วเพราะจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากไม่คุ้มทุน ฉะนั้น ผู้สูงอายุและว่าที่ผู้สูงอายุจะต้องเตรียมแล้วว่าจะทำอย่างไร ที่จะพึ่งพาตัวเองได้มากและนานที่สุด
"การเตรียมพร้อมสังคมสูงวัย เริ่มได้ตั้งแต่การเกิดที่มีคุณภาพ มีการวางแผนชีวิต วางแผนครอบครัว ปรับแนวคิดการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่แบ่งแยกคนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ที่สำคัญต้องดูแลสุขภาพ และส่งเสริมบทบาทชุมชนในการช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน อย่างไรก็ตาม สังคมสูงวัยเป็นเหมือนสงครามหรือวิกฤตที่คนไทยต้องประสบ ฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน" รศ.วิพรรณกล่าว