ผุด "ดิวตี้ฟรี" 2 หมื่นแห่ง ธุรกิจ "ญี่ปุ่น" ขานรับขาช็อปต่างชาติ
การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของญี่ปุ่น ตามนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "อาเบะโนมิก" ซึ่งการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ จนปีที่แล้วญี่ปุ่นมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุเป้า 10 ล้านคน และก้าวสู่ขั้นที่ 2 ด้วยเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน ภายในปี 2020
โดยเมื่อต้นเดือน พ.ค. รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศขึ้นจาก 6 พันร้าน รวมเป็นกว่า 2 หมื่นร้าน ในอีก 5 ปี มากกว่าเป้าเดิมที่วางไว้เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว
ล่าสุดสำนักข่าว "นิกเคอิ เอเชี่ยน รีวิว" รายงานว่า ผู้ประกอบธุรกิจร้านขายยาในญี่ปุ่นได้ออกมาขานรับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวนี้ ด้วยบริการใหม่ ๆ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งเพิ่มจำนวนร้านที่ร่วมโครงการปลอดภาษี เมื่อซื้อสินค้าครบ 5,000 เยนแต่ไม่เกิน 5 แสนเยน ในร้านและวันเดียวกัน รวมถึงบริการฟรีไวไฟ เป็นต้น
มัตซึโมโต้คิโยชิ โฮลดิงส์ (Matsumotokiyoshi Holdings) เจ้าของธุรกิจร้านขายยาและเครื่องสำอางที่มีสาขากว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น อาทิ ร้านมัตซึโมโต้คิโยชิ และร้านดารุมะ ดรั๊กสโตร์ ประกาศว่าจะเพิ่มจำนวนร้านที่ขายสินค้าแบบปลอดภาษีเพิ่มจาก 121 สาขาเป็น 200 สาขาในสิ้นปีงบประมาณนี้ หรือในเดือน มี.ค. 2016 โดยจะขยายบริการนี้ไปยังเมืองย่อยในด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอนุภูมิภาคโฮกุริกุ และทางตอนใต้ของคิวชู จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่เฉพาะในกรุงโตเกียว
นอกจากนี้ ยังเพิ่มบริการฟรีไวไฟในร้านเพื่อตอบโจทย์ของบรรดานักท่องเที่ยวที่ต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อหารูปภาพของสินค้าที่ต้องการหรือติดต่อญาติและเพื่อนฝูงเพื่อสอบถามรายละเอียดสินค้าที่ฝากซื้อโดยบริษัทคาดว่านโยบายใหม่นี้จะช่วยเพิ่มยอดซื้อของนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเดิมที่มีสัดส่วนประมาณ2-3% เป็น 8% ของรายได้รวม
เช่นเดียวกับเชนร้านขายยา "โคโคคาระ ไฟน์" (Cocokara Fine) ที่ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านขายยาปลอดภาษีในเครือมากกว่า 2 เท่า จาก 52 สาขาเป็น 127 สาขา โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในเมืองขนาดเล็กอย่างเมืองโฮตารุในฮอกไกโด และเมืองอิซุในชิซุโอกะ รวมถึงเมืองอิซุมิซาโนะที่อยู่ใกล้กับสนามบินคันไซ เพื่อขยายขอบเขตบริการเพิ่มจากเดิมที่ 80% ของร้านปลอดภาษีของบริษัทกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น ซัปโปโร โอซากา และเขตชินจูกุของโตเกียวเท่านั้น
ด้าน ร้านยาซันดรัก (Sundrug) ยังไม่มีแผนรับมือมากนัก นอกจากเป้าที่จะเพิ่มร้านยาปลอดภาษีขึ้น 3 เท่าเป็น 300 สาขา นอกจากนี้ ผู้เล่นทุกรายยังมีแผนเน้นพัฒนาและทำตลาดสินค้าที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างมาสก์หน้า ยากลุ่มที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ รวมถึงเครื่องสำอางอื่น ๆ อีกด้วย
โดยก่อนหน้านี้ธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ ของญี่ปุ่น เช่น ยูนิโคล่ ได้นำร้าน 31 สาขา ในจุดท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น ชินจูกุ และชิบุย่า เข้าโครงการปลอดภาษีด้วยเช่นกัน ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน และทากาชิมายะ เพิ่มบริการแลกเงินต่างประเทศ แปลภาษา และส่งสินค้าถึงโรงแรม เพื่อเอาใจนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนถือเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูงที่สุด โดยจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.76 ล้านคนในเดือน เม.ย. ในจำนวนนี้กว่า 4 แสนคนเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้น 113% จากปีก่อนหน้า รวมถึงยังมียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนถึง 2 พันเหรียญสหรัฐ สูงกว่าจำนวนเงินที่ชาวญี่ปุ่นใช้จ่ายในต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะไหลเข้าสู่ห้างสรรพสินค้า และกลุ่มสินค้าหรูเป็นหลัก
ที่ผ่านมาธุรกิจค้าปลีกของญี่ปุ่นได้มีการปรับตัวรับมือบ้างแล้ว เช่น ติดตั้งป้ายภาษาจีน และจ้างพนักงานที่สามารถพูดภาษาจีนได้ เป็นต้น