จัดเต็ม !! วิเคราะห์ผลกระทบค่าแรง 300
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท กับเงินเดือนเริ่มต้นระดับ ป.ตรีที่ 15,000 บาท ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายถึงกับจะทำให้ธุรกิจเจ๊ง ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน เรื่องแค่นี้ผ่านไปได้
ผ่านไปแล้วได้สัปดาห์กว่าๆกับดีเดย์ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ ภูเก็ต
พร้อมกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วทั้งประเทศในสัดส่วน 40 % ก่อนที่จะเคาะราคา 300 บาทต่อวันเหมือนกันภายในวันที่ 1 มกราคม 2556 นี้
ถือว่าเป็นการปรับฐานรายได้ครั้งสำคัญ ของวงการแรงงานไทย อีกทั้งยังเป็นการเริ่มเคาะอัตราเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 บาท สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป แม้จะเริ่มจากภาคราชการ แต่ก็เป็นการอิงราคาในภาคเอกชนไปพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม จะกล่าวว่าอัตราเริ่มต้นเงินเดือนของภาคเอกชน โดยปกติแล้วจะมากกว่าราชการประมาณ 15-20% อยู่แล้ว เนื่องจากภาคราชการจะมีสวัสดิการต่างๆ และวันหยุด
รวมถึงเวลาทำงานที่รองรับการทำงานที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ภาคเอกชนสิ่งเหล่านี้อาจไม่เท่ากับภาคราชการ รวมทั้งเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานใหม่ที่เริ่ม 15,000 บาท
อาจทำให้พนักงานเก่าที่มีอายุงานสักระยะ โดนฐานเงินเดือนเด็กใหม่มาจี้ก้นให้ใจหาย และอาจบั่นทอนกำลังใจหากบริษัทนั้นลืมที่จะพิจารณาการปรับฐานเงินเดือนไปพร้อมๆกัน
แต่สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามมองเป็นพิเศษ คือ การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เนื่องจากเกิดผลกระทบวงกว้างในหลายเรื่องหลายปัจจัย
ประการแรก การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทำให้แรงงานระดับล่าง มีรายรับที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนว่าย่อมเป็นผลดีต่อการเพิ่มกำลังซื้อ หรือเพิ่มความสามารถในการออมให้กับแรงงานกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่กล่าวมานั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออัตราค่าครองชีพไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างทิ้งช่องว่างห่างกันเกินไป เพราะหากค่าแรงขึ้นแต่ค่าครองชีพขึ้นไปด้วย ก็ไม่มีความแตกต่างอะไร เพราะระยะห่างระหว่างค่าแรงขั้นต่ำกับเพดานค่าครองชีพยังเหมือนเดิม
ประการที่สอง การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำ แน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น บางธุรกิจอาจผลักภาระส่วนนี้ให้ไปอยู่ในราคาจำหน่ายสินค้าได้ แต่บางธุรกิจก็อาจแค่ทำให้กำไรลดลงหรือมาร์จิ้นบางลงเท่านั้น ง่ายๆคือ ขาดทุนกำไร แต่ธุรกิจยังอยู่ได้ ผลกระทบในประเด็นนี้ จึงอยู่ที่ความเข้มงวดในการบริหารจัดการขององค์กรหรือธุรกิจนั้นๆเอง ที่จะลดค่าโสหุ้ย เพื่อคงกำไรในสัดส่วนเดิมได้หรือไม่อย่างไร
ประการที่สาม การเพิ่มรายได้ขั้นต่ำครั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจบางอย่างที่ดิ้นรนไม่รอด หรือปรับตัวเองไม่ทัน หรือจนแต้มเดินที่จะข้ามผ่านอุปสรรคชิ้นนี้ แต่เชื่อว่า การบริหารต้นทุนที่ทราบอย่างชัดเจน คงจะมีน้อยรายที่จะก้าวข้ามผ่านไปไม่ได้ เนื่องจากการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ครม.ยังมีมติกำหนดว่า ภายในปี 2558 จะไม่มีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก หากจะปรับอะไรอย่างไร ก็ขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนั้นเป็นตัวกำหนดโดยรัฐบาลจะพิจารณาตามสถานการณ์ ดังนั้น ความเป็นห่วงหรือข้อกังวลต่อธุรกิจเอสเอ็มอี ที่จะเอาตัวไม่รอดจากผลกระทบครั้งนี้ อาจเป็นเพียงแค่แผลถลอกๆเท่านั้น เพราะยังเบากว่าการก้าวข้ามภาวะเศรษฐกิจยุคต้มยำกุ้งในปี 2540
อย่างไรก็ตาม พบว่าผลการสำรวจของ เอแบคโพล เรื่อง เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และประชาชนต่อนโยบายค่าจ้าง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาท
พบว่า เอสเอ็มอีส่วนมากหรือร้อยละ 86.7 ระบุได้รับผลกระทบมากจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ มีเพียงร้อยละ 13.3 เท่านั้นที่บอกว่ากระทบเล็กน้อย
แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ ตัวอย่างเอสเอ็มอีจำนวนมาก หรือร้อยละ 85.5 ระบุรัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 78
คิดว่านโยบายนี้เป็นนโยบายประชานิยมมุ่งเพียงการหาเสียงมากกว่า ขณะเดียวกันยังมีความเคลือบแคลงว่าจะเอาใจแต่บริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น
นอกจากนี้ ร้อยละ 90.5 ระบุว่า การขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ทำให้ราคาสินค้าและค่าบริการได้เพิ่มสูงไปก่อนหน้านี้แล้ว ร้อยละ 65.6 ระบุว่าต้นทุนนายจ้างเพิ่มสูงขึ้น ร้อยละ 60.8 ระบุว่า
คนงานถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 55.8 ระบุว่า บริษัทและโรงงานขนาดเล็กจะปิดตัวลง และร้อยละ 1.5 ระบุว่า ต้องทำงานให้ได้มากขึ้น
แต่ความเป็นกังวลต่างๆนั้น ไม่ใช่เรื่องเกินเลย เพราะตอนนี้ หลายธุรกิจที่พยายามปรับตัวก็พบว่า ไม่ง่ายที่จะบริหารจัดการให้ลงตัว ทำให้ไม่นานมานี้ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ได้ออกหนังสือเวียนไปยังผู้ประกอบการต่างๆ สั่งห้ามไม่ให้มีการเซ็นชื่อไม่รับสิทธิรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพราะมีกระแสข่าวออกมาว่า บางสถานประกอบการ ให้ลูกจ้างเลือกเอาว่าจะรับค่าแรงวันละ 300 บาท โดยตัดสิทธิสวัสดิการต่างๆ อาทิ งดให้บริการรถรับส่ง ยกเลิกสวัสดิการอาหารกลางวัน ต้องจ่ายค่าเครื่องแบบเอง รวมทั้งลดการทำโอที ซึ่งส่วนใหญ่พบได้ตามลูกจ้างรายวันในโรงงานต่างๆ
ส่วนหากลูกจ้างรายไหน อยากได้สวัสดิการ ก็จำต้องลงชื่อว่าขอรับค่าแรงประมาณ 220-240 บาทต่อวัน และขอรับสวัสดิการต่างๆคงเดิม
หรืออย่างกระแสข่าวที่ว่า โรงแรมบางแห่ง ก็ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท โดยระบุว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากเซอร์วิสชาร์จอยู่แล้ว หากจะรับ 300 บาท อาจต้องตัดสิทธิการรับเซอร์วิสชาร์จ รวมทั้งระบบงานการขาย ที่ทราบกันดีว่า พนักงานขายจะมีเงินเดือนไม่มาก แต่จะได้รายได้มาจากคอมมิชชั่นเป็นหลัก หากจะต้องมาปรับเงินเดือนถึง 1.5 หมื่นบาท และยังต้องมีคอมมิชชั่นอีก จึงไม่ใช่ง่ายที่ระดับผู้ประกอบการในรูปแบบห้องแถวจะปรับตัวกับเรื่องแบบนี้ได้
และหากมองไปข้างหน้าในปี 2558 ที่เขตประชาคมอาเซียนจะเปิดประตูนั้น เรายังไม่รู้ว่าเมื่อถึงตอนนั้น กระแสหลั่งไหลเรื่องแรงงาน จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านมากน้อยเพียงไร แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายเริ่มดีไซน์รูปแบบการบริหารงานเอาไว้บางแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น
ณ โรงงานแห่งหนึ่งที่มีเจ้าของเป็นคนไทย แต่อาจจะมีผู้จัดการทั่วไปที่อิมพอร์ทมาจากสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์ขึ้นชื่อเรื่องการสร้างนักบริหาร อาจมีผู้บริหารฝ่ายบัญชีจากสิงคโปร์ หรือผู้บริหารระดับรองลงไปเป็นคนไทย หรือคนเวียดนาม มีฝ่ายขายที่ชำนาญงาน และเชี่ยวชาญภาษามาจากฟิลิปปินส์ มีหัวหน้าระดับปฏิบัติงานเป็นคนไทย แต่มีแรงงานระดับล่างมาจากกัมพูชา หรือพม่า ซึ่งดูในรูปแบบเช่นนี้ แล้วอาจจะคล้ายเป็นโรงงานสหประชาชาติ แต่ถ้าในแต่ละตำแหน่งแรงงานไทยเองยังไม่สามารถยกระดับฝีมือแรงงาน ทั้งระดับมันสมอง หรือระดับงานฝีมือ กระทั่งแรงงานไร้ฝีมือ
เมื่อประตูเขตประชาคมอาเซียนเริ่มเมื่อไร เราอาจได้ทำงานร่วมกันหลายชาติในบริษัทเดียวกันก็ได้
เพราะหากวันนี้ ยังมัวแต่จ้องจะเอาค่าแรงสูง แต่ไม่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกหน่อยเราคงต้องแข่งขันระดับภาคแรงงานกับประเทศกัมพูชา หรือสหภาพพม่าก็เป็นได้
แต่หากแรงงานหรือลูกจ้างที่มีฝีมือดี มีประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญ มีความขยัน มุ่งมั่น ซื่อสัตย์ในการทำงาน อย่าว่าแต่วันละ 300 บาทเลย วันละ 500 บาท นายจ้างก็พร้อมที่จะจ่ายให้กับ ลูกจ้างดีๆแบบนี้ หรือจะเรียกเงินเดือนมากกว่า 2-3 หมื่นบาท ถ้าทำงานดีจริง นายจ้างที่ดี ก็คงไม่ตาถั่วหลับหูหลับตาปฏิเสธคำขอ
แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมกัน เอาความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายเป็นที่ตั้ง โดยยึดหลัก "นายจ้างอยู่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ยาว" เชื่อว่า ธุรกิจจะมาเจ๊งเพราะแค่เรื่องขึ้นค่าแรง คงไม่มี
ส่วนหากจ้องเอาเปรียบซึ่งกันและกันไม่หยุดหย่อน ก็คงต้องลำบากกันไปทุกฝ่าย เหมือนที่เป็นอยู่เฉกเช่นทุกวันนี้.
ขอบคุณข้อมูล VoiceTV