เคล็ด (ไม่) ลับ สร้างจุดเด่น ให้สินค้าขายตัวเอง
ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะซื้อผลิตภัณฑ์เดิมๆ มาใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ ใช้งานดี ไม่มีปัญหา ยกเว้นจะเจอโปรโมชั่นหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าสนใจกว่า แล้วถ้าเราเป็นผู้ขายสินค้าชนิดใหม่ เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเอาชนะความลังเลใจ จนสามารถจ่ายเงินซื้อสินค้าของเราและกลายมาเป็นลูกค้าขาประจำได้ นี่คือวิธีที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์เกิดใหม่ สามารถเข้าไปแทรกตัวในตลาดที่แสนจะแออัดได้
1. บอกประโยชน์ที่เหนือกว่า
ต้องมีความชัดเจนตั้งแต่ต้นเลยว่า อะไรคือ ความแตกต่างหรือจุดเด่นที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด เช่น มีประโยชน์มากกว่า สะดวกสบายกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า คุ้มค่าคุ้มราคากว่า ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยี่ห้อ Mr. Clean Magic Eraser ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถใช้ทำความสะอาดได้โดยไม่ทำลายสีบนผนังเหมือนกับสินค้าของคู่แข่ง ต่อมาแบรนด์นี้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่ม โดยโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์ว่า ผลิตภัณฑ์ของเขาสามารถลบเครื่องหมายต่างๆ บนผนังได้โดยไม่ทำลายพื้นผิวของผนัง ซึ่งเป็นความแตกต่างและจุดเด่นที่ชัดเจนกว่าคู่แข่ง จึงช่วยสร้างการตัดสินใจให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี
2. ใช้งานง่ายตั้งแต่แกะกล่อง
เมื่อเราสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ ต้องไม่สร้างภาระให้ผู้ซื้อและผู้ใช้งาน พยายามทำให้ผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานตั้งแต่แกะออกมาจากกล่อง ยกตัวอย่างเช่น สายรดน้ำในสวนแบบงอได้ ก็ต้องให้สามารถต่อได้ง่าย ทนแดดทนฝน ไม่ต้องมาคอยพับเก็บเพื่อหลบแดด หรือถ้าเป็นของเล่นเด็ก ก็ไม่ควรที่จะต้องมานั่งต่อนั่งประกอบกันเป็นชั่วโมง หรือถ้าเป็นหม้อสุกี้ไฟฟ้า ก็ไม่ควรต้องให้ผู้ซื้อทำความเข้าใจด้านการใช้งานเกิน 5 นาที เป็นต้น
3.ให้ลูกค้าได้มีโอกาสลอง
ในยุคแรกๆ ของการขายชา ถุงชาขนาดเล็กได้ถูกผลิตออกมาเพื่อแจกให้ลูกค้าได้นำกลับไปลองชงดื่ม ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ผลิตชาหลายๆ แบรนด์ก็สามารถขายถุงชาขายเล็กกันได้แล้ว
กระนั้น หากคุณเป็นแบรนด์ขนาดเล็ก และคิดว่ายังไม่มีงบด้านการตลาดสูงพอจะทำผลิตภัณฑ์มาแจกฟรี อาจต้องลองใช้โปรโมชั่นต่างๆ มอบส่วนลด หรือซื้อ 1 แถม 1 เข้ามาช่วยเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสทดลองใช้สินค้าของคุณดู ซึ่งการได้ทดลองใช้สินค้าแบบง่ายๆ จะช่วยให้รู้ค้าได้รู้จัก ได้สัมผัส และมีความต้องการซื้อสินค้าสูงขึ้น
4. มีข้อดีที่เห็นได้เด่นชัดและเห็นได้ง่าย
ยิ่งมีข้อดีที่เห็นได้เด่นชัดเท่าไหร่ ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นๆ ก็จะทำการตลาดได้ด้วยตัวเองง่ายมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ 3M ซึ่งเป็นฝอยขัดหม้อแบบมีด้ามจับ โดยตัวบรรจุภัณฑ์จะเป็นพลาสติกแบบใส เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นได้ง่ายว่า สวนหัวของฝอยขัดหม้อสามารถถอดเปลี่ยนได้หรือเปล่า และส่วนปลายด้ามได้เจาะรูเอาไว้ให้เราแขวนห้อยกับฝาผนังครัวไหม ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร เราอาจบอกวิธีการใช้งานเช่น สามารถนำบรรจุภัณฑ์เข้าไมโครเวฟได้หรือไม่ ใช้กำลังไฟเท่าไหร่ และใช้เวลากี่นาที เป็นต้น
เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ควรคิดให้รอบคอบ เพราะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อเป็นอย่างมาก
บางครั้งเราอาจมองไกลไปถึงการตลาดออนไลน์ โมบายแอพส์ ฯลฯ แต่ลืมคิดถึงเรื่องพื้นฐานของการตลาด ลองเริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานเหล่านี้ดู สินค้าของคุณอาจไปได้ไกลกว่าที่คิดก็เป็นได้
เรื่อง เจษฎา ปุรินทวรกุล
Create by smethailandclub.com