′กรณ์′เผย เคยเตือนIMFเรื่องปล่อยกู้′กรีซ′แล้ว ชี้ 2มาตรฐานกับไทยปี′40
หลังจากที่การประนอมหนี้ระหว่างกรีซและยูโรกรุ๊ปเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่สำเร็จตามคาดซึ่งอาจส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้จำนวน1.6พันล้านยูโรแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ในวันที่30มิ.ย.นี้
จากประเด็นดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็นถึงการปล่อยเงินกู้ของไอเอ็มเอฟ โดยระบุว่า
เมื่อ 5 ปีก่อนเจ้าหน้าที่ IMF ได้ติดต่อเพื่อขอเข้ามาเยี่ยม ผมจำได้ว่าผมบอกเขาทีเล่นทีจริงว่า ถ้าจะมาก็ขอให้มาเงียบๆ เพราะคนไทยยังเคือง IMF อยู่ และเนื่องจากตอนนั้นอยู่ในช่วงที่เราพยายามแก้วิกฤติ sub-prime กันอยู่ เดี๋ยวจะมีการเข้าใจผิดว่าเรามีปัญหาถึงกับต้องพึ่ง IMF อีกครั้ง
จากนั้นไม่กี่วัน IMF เองก็เกิดวิกฤตจากการที่ผู้จัดการใหญ่ชาวฝรั่งเศสถูกตำรวจจับที่อเมริกา ด้วยข้อกล่าวหาว่าไปลวนลามแม่บ้านทำความสะอาดห้องโรงแรม แผนการเยือนไทยของ IMF จึงล้มไป
จากนั้นผมได้เสนอความคิดต่อสื่อต่างประเทศว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ที่จะมาแทนผู้จัดการใหญ่ที่ลาออกไปนั้น ควรจะเป็นคนจากชาติอื่นที่ไม่ใช่ยุโรป ผมได้เสนอชื่อเพื่อนรัฐมนตรีคลังจากสิงค์โปร์ว่ามีความเหมาะสม ด้วยความมั่นใจว่าจะดีกว่าเอาคนยุโรปมาทำหน้าที่ในช่วงที่เศรษฐกิจยุโรปเองอยู่ในขั้นวิกฤต เพื่อไม่ให้การตัดสินใจมีความลำเอียง หรือมีนัยยะทางการเมืองมากเกินไป
สุดท้ายการผลักดันนี้ไม่สำเร็จ ประเทศยุโรปเองต่อสู้เต็มที่ในการรักษาตำแหน่งนี้ให้คนของเขา เพราะเขาต้องการความมั่นใจว่า IMF จะต้องช่วยเขากอบกู้สถานการณ์ให้กับยุโรปเอง
วันนี้ผมสรุปได้ว่า IMF พลาดท่าอีกแล้ว เมื่อคืนวันเสาร์ผมดูการสัมภาษณ์โดย Christine Lagarde ผู้จัดการใหญ่ของ IMF ว่า ด้วยเรื่องการประกาศทำประชามติโดยกรีซ ผมดูก็รู้ว่าเธอกำลังงงอย่างหนัก และท่าทีแรกของเธอก็ผิดแล้ว ที่ประกาศว่าประชามตินั้นจะ ′ไม่มีผล′ เพราะ ไม่ได้มีข้อเสนออย่างเป็นทางการจาก IMF ให้ชาวกรีซพิจารณา นี่คือวิธีคิดขององค์ใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง (ถึงไม่เป็น ′ทางการ′ ใครๆ ก็รู้ว่าข้อเสนอคืออะไร) และสะท้อนแนวคิดของ Lagarde เองในฐานะอดีตนักกฎหมายไม่ใช่นักการเงิน ผมเคยร่วมประชุมกับ Lagarde ครั้งสองครั้ง ผมไม่แปลกใจที่ IMF หลงทางถึงขนาดนี้
ในฐานะประเทศสมาชิก ไทยเรามีสิทธิตั้งคำถามว่าด้วยเหตุใด IMF จึงยอมปล่อยกู้ให้กรีซเป็นเม็ดเงินกว่า2เท่าที่เคยปล่อยให้ประเทศไทย เมื่อปี 2540 ทั้งๆ ที่กรีซเองเป็นประเทศที่มีประชากรเพียง 11 ล้านคน (และโดยปลอดเงื่อนไขการกู้ในระดับเดียวกันกับที่เคยบังคับเรา) ที่สำคัญ ทำไมผู้ให้กู้ต้องเป็น IMF ด้วย ทั้งๆที่เพื่อนสมาชิก EU ของกรีซล้วนเป็นประเทศรํ่ารวยที่สุดในโลก และถ้ากรีซเบี้ยวหนี้ (เริ่มตั้งแต่วันนี้) ผู้ใหญ่ใน IMF จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร
ผมมั่นใจว่าถ้าผู้จัดการใหญ่ IMF ไม่ได้เป็นคนยุโรป การแก้ปัญหาให้กรีซจะออกมาอีกแนวหนึ่งแต่แรก คือแทนที่จะกลับกลายเป็นการพยุงรักษาสกุลเงินยูโร (ที่ผมเถียงได้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของ IMF) ควรจะเป็นการแก้ปัญหาให้ชาวกรีซโดยตรง และเป็นการแก้ปัญหาที่มีมาตรฐานเดียวกันกับประเทศอื่นๆทั่วโลก
เราได้เรียกร้องให้ IMF ปฏิรูปตัวเองมานานแล้ว ทางตะวันตกดื้อดึงในเรื่องนี้มาตลอด จนเป็นเหตุให้จีนและประเทศเอเชียอื่นๆ เอือมระอาจนต้องออกมาตั้งองค์กรที่เราอาจพึ่งพาได้มากกว่า อย่างเช่น ′กองทุนริเริ่มเชียงใหม่′ ของ ASEAN และ ′AIIB′ ของจีน
อีกบทเรียนที่สำคัญคือ ในความพยายามที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจประเทศ ASEAN เข้าหากัน เราต้องไม่ฝืนธรรมชาติ และต้องยึดหลักว่าตราบใดที่ประเทศสมาชิกทั้งหลายมีความเป็นเอกภาพทางนโยบาย เราไม่ควรที่จะไปร่วมรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของนโยบายของประเทศอื่นๆแต่อย่างใดออ