เปิดศึกแย่ง"พยาบาล"ประเคนสารพัดรายได้ล่อใจ
โรงพยาบาลดิ้นแก้ปมพยาบาลขาด เสนอเงินเดือน-โบนัส-ค่าภาษาต่างประเทศ จูงใจ ตั้งงบฯแจกทุนการศึกษาตั้งแต่เข้าเรียน ด้าน "เกษมราษฎร์" เพิ่มโบนัสพิเศษ-ทุนเรียนต่อ ขณะที่ "บำรุงราษฎร์" รีวิวแผนถี่ยิบ จับมือเซนต์หลุยส์ผลิตป้อน-ตั้งโต๊ะเปิดรับถึงสถาบันการศึกษา
ปัจจุบัน แม้ว่าในแต่ละปี วิทยาลัยพยาบาลจะผลิตพยาบาลวิชาชีพออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า หลังจากที่ทำงานมาระยะหนึ่ง จะมีพยาบาลจำนวนไม่น้อยที่ยื่นใบลาออก เนื่องจากมีการแต่งงานมีครอบครัว ออกไปทำอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่า มีปัญหาสุขภาพ ฯลฯ ประกอบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลเอกชนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 320 แห่งทั่วประเทศ ทำให้พยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอกับความต้องการที่เกิดขึ้น
นายแพทย์ เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกเชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ธุรกิจโรงพยาบาลยังประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพยาบาลและพยาบาลเฉพาะทาง ทำให้เกิดการแย่งซื้อตัวบุคลากรตามมาเป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตาม หลายแห่งได้พยายามแก้ปัญหา ด้วยวิธีการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาวิชาพยาบาล รวมถึงมีสวัสดิการ มีเงินเดือนที่จูงใจ
ปัจจุบัน จะพบว่าอายุเฉลี่ยการทำงานของพยาบาลมีแนวโน้มลดลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22 ปี ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานและมีมาต่อเนื่อง เหตุผลที่พยาบาลลาออก หลัก ๆ มาจากพยาบาลเป็นอาชีพที่ทำงานหนัก มีจำนวนไม่น้อยที่ลาออกไปเป็นผู้แทนยา (Medical Representative) หรือแต่งงานมีครอบครัว
สำหรับกลุ่มเกษม ราษฎร์ ปัจจุบันมีอัตราการขาดแคลนเฉลี่ย 5-10% ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลจะมีการปรับเงินเดือนทุกปีแล้ว ยังมีอินเซนทีฟโบนัส รวมถึงการให้ทุนการศึกษาตามสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องกลับมาใช้ทุนด้วยการมาทำงานกับโรงพยาบาล
สอดคล้องกับนางสาวอาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ผู้อำนวยการด้านการจัดการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการลาออกของพยาบาลในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยมากกว่า 15% โดยกลุ่มที่มีโอกาสลาออกสูง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพยาบาลที่มีอายุงานเฉลี่ย 1-3 ปี ประกอบกับค่านิยมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจส่วนตัว จึงลาออกและไปทำอาชีพอื่นแทน โดยพยาบาลที่เป็นที่ต้องการของตลาดมากในขณะนี้ คือ พยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งแต่ละแห่งจะพยายามรักษาและจูงใจพยาบาลกลุ่มนี้ค่อนข้างมากเพื่อแก้ปัญหานี้
บำรุงราษฎร์ได้วางแผนในเรื่องของอัตรากำลัง และจะมีการรีวิวทุก ๆ ไตรมาส และที่ผ่านมาได้ร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลเซนต์หลุยส์ ด้วยการให้ทุนการศึกษา ซึ่งสามารถผลิตพยาบาลได้ปีละ 60 คน มีการให้ทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนพยาบาลชั้นปี 3-4 ของมหาวิทยาลัยนานาชาติเอเชียแปซิฟิค, แม่ฟ้าหลวง ฯลฯ รวมทั้งจัดแคมปัส รีครูตเมนต์ ด้วยการออกไปรับสมัครตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ "Flexible hours" เพื่อเป็นทางเลือกให้กลุ่มที่อยู่ในวัยทำงานและมีภาระต้องดูแลครอบครัว สามารถเลือกชั่วโมงทำงานเป็นพาร์ตไทม์ได้
ขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาล เอกชนรายใหญ่ ยอมรับกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงพยาบาลหลายแห่งจะจูงใจพยาบาลด้วยการเสนอผลตอบแทนที่สูง ทั้งเงินเดือนและสวัสดิการ รวมถึงรายได้อื่น ๆ อาทิ ค่าโอที ค่าภาษา (ต่างประเทศ) และหากมีความเชี่ยวชาญแผนกเฉพาะทางก็จะได้ค่าตำแหน่งเพิ่ม โดยเฉพาะพยาบาลเฉพาะทางที่ขาดแคลนทุกแผนก อาทิ ไอซียู ห้องผ่าตัด โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ เป็นต้น
รวมทั้งการให้ทุนการศึกษาที่เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 แสนบาท/คน โดยมีเงื่อนไขว่าหลังสำเร็จการศึกษาจะต้องทำงานที่โรงพยาบาล และจะมีการเซ็นสัญญาจ้างงาน 3-5 ปี และเมื่อทำงานมีประสบการณ์การทำงาน 2-3 ปี ก็มีสิทธิ์ได้รับทุนศึกษาต่อเฉพาะทาง เมื่อจบหลักสูตรแล้วก็จะได้รับการเพิ่มเงินเดือนขึ้นตั้งแต่ 3,000-6,000 บาท
"เงินเดือนของพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนเริ่มต้นเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ไม่รวมโอที แต่ถ้ามีโอทีก็เพิ่มเป็น 3-3.5 หมื่นบาท พยาบาลของรัฐที่มีโอทีก็มีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่งานจะหนักกว่าเอกชน"
ด้าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง นายกสภาการพยาบาล ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า แต่ละปีสถาบันการศึกษาจะผลิตพยาบาลออกมาป้อนตลาดได้ประมาณ 10,000 คน/ปี ซึ่งในภาพรวมเชื่อว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการได้ในระดับหนึ่ง แต่โจทย์ คือ การรักษาบุคลากรพยาบาลให้อยู่ในระบบยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้พยาบาลที่ทำงานมาสักระยะตัดสินใจลาออก เมื่อมีโอกาสที่ดีกว่า
นอกจากพยาบาลที่ไม่เพียงพอกับความต้องการแล้ว สภาการพยาบาลยังมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตผู้ช่วยพยาบาลให้มากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันผลิตออกมาได้เพียง 3-4 พันคน/ปีเท่านั้น