แบงก์รัดเข็มขัด คุมเข้มรับพนักงานใหม่-ชะลอขยายสาขา

แบงก์รัดเข็มขัด คุมเข้มรับพนักงานใหม่-ชะลอขยายสาขา

แบงก์รัดเข็มขัด คุมเข้มรับพนักงานใหม่-ชะลอขยายสาขา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์พาณิชย์รัดเข็มขัดคุมเข้มรับพนักงานใหม่ ชี้เศรษฐกิจไม่เอื้อต้องดูแลค่าใช้จ่าย ชะลอขยายสาขา "กสิกรไทย" เผยรับพนักงานใหม่ลดลงจากปีก่อนกว่า 2,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะฝ่ายปฏิบัติการหลังบ้านถูกแช่แข็ง "ซีไอเอ็มบี ไทย" ชี้หันไปใช้ช่องทางไอทีมากขึ้น "เกียรตินาคิน" สวนกระแสรับเพื่อทดแทนคนลาออกต่อปีสูงลิบ

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง รองกรรมการผู้จัดการ สายงานทรัพยากรบุคคล ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปี 2558 ธนาคารชะลอการรับบุคลากรใหม่จากปี 2557 มีการรับพนักงานใหม่ประมาณ 5,000 กว่าคน แต่ปีนี้น่าจะรับเพิ่ม 3,000 กว่าคนเท่านั้นจากหลายปัจจัยทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวช้า ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) รวมถึงชะลอการขยายสาขาใหม่เพิ่ม สอดคล้องกับการขยายช่องทางดิจิทัลมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ นโยบายในการรับบุคลากรจะพิจารณารับเฉพาะในสายงานที่มีความจำเป็นทั้งในตำแหน่งใหม่หรือตำแหน่งทดแทนบุคลากรเดิม โดยเฉพาะในตำแหน่งที่เกี่ยวเนื่องกับการแนะนำสินค้า และบริการยังรับจำนวนมากเช่นเดิม ขณะที่ตำแหน่งที่เกี่ยวเนื่องกับระบบปฏิบัติการหลังบ้าน หรืองานซ่อมบำรุงในบางจุด อาจไม่ได้รับเพิ่มขึ้น หากลาออกอาจพิจารณาไม่รับเพิ่มได้ และเน้นการพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

"โจทย์ของแบงก์ปีนี้ไม่ได้เร่งรับคนเพิ่มมาก แต่จะเร่งพัฒนาคนให้มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยเพิ่มการอบรมความรู้มากขึ้น แต่ไม่มีนโยบายฟิกซ์เรื่องคน การรับคนใหม่ต้องเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น เดิมเร่งขยายสาขาตอนนี้เปิดน้อยลง และการเติมคนที่ผ่านมาก็เติมตามการขยายสาขา แต่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี การเปิดสาขาต้องชะลอทั้งหันไปเน้นช่องทางดิจิทัลมากขึ้น"

อย่างไรก็ตามปีนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อีกด้านการแย่งบุคลากรที่มีความสามารถก็ยังรุนแรงโดยเฉพาะบุคลากรระดับกลางถึงผู้บริหารระดับบน ปัจจุบันธนาคารมีบุคลากรทั้งสิ้น 22,000 คน มีค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ประมาณ 40% ของค่าใช้จ่ายซึ่งไม่สามารถปรับลดสัดส่วนลงได้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเงินเดือนก็ปรับขึ้นทุกปี

ด้านนางกนกไพ วงศ์สถิตย์พร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า นโยบายการรับพนักงานใหม่ปีนี้ยังรับเพิ่มเดือนละ 30-40 คน แต่มีความระมัดระวังและปรับเปลี่ยนนโยบายให้เข้าสถานการณ์มากขึ้น โดยดูต้นทุนมากขึ้น เพราะการจ้างงานเป็นต้นทุนก้อนใหญ่ขององค์กร อีกด้านก็ต้องปรับกระบวนการทำงาน เพราะปัจจุบันมีธนาคารในมือถือ มีเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้คนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันซีไอเอ็มบี ไทย มีพนักงานประมาณ 4,370 คน อายุ 20-40 ปี 61% ที่เหลืออายุ 41-60 ปีขึ้นไป

ขณะที่นายวิธพล เจาะจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มบุคลากรใหม่มากขึ้น ภายหลังการควบรวมกิจการกับบริษัททุนภัทร โดยเหตุผลในการรับคนใหม่ คือ 1.ตลาดยังมีการซื้อคนเก่ง ทำให้อัตราการลาออกสูงถึง 16-18%

2.การปรับจุดยืนขององค์กรที่หันมาเน้นกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth) จากเน้นลูกค้ารายย่อยอาจทำให้มีพนักงานมีความเห็นไม่ตรงกันบ้างและ 3.ช่วงที่ผ่านมาได้ปิดสาขาในทำเลที่ไม่ค่อยดีไป 24 แห่ง เน้นเปิดสาขาในห้างมากขึ้น จากสิ้นปีที่แล้วมีอยู่ 76 สาขา ตั้งเป้าไว้ที่ 90 สาขา รวมถึงเตรียมขยายศูนย์บริการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารยังต้องรับบุคลากรใหม่เข้ามามากขึ้น

"เรามีผู้บริหารและพนักงาน 3,800-4,000 คน ยังยืนยันว่าต้องรับเพิ่มแม้เศรษฐกิจจะไม่เอื้อ เพราะตั้งแต่ปี 2555 มีการปรับโครงสร้างองค์กร ทำให้ต้องการกำลังคนเข้ามาเติมเต็มให้ครอบคลุมในหลายจุด"

นางสาวอนุตตรา พานโพธิ์ทอง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แผนรับพนักงานใหม่ปีนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายธุรกิจ และเป็นไปตามแผนธุรกิจระยะกลางของธนาคารปี 2558-2560 ที่มุ่งขับเคลื่อนธนาคารและบริษัทในเครือเป็น กลุ่มธุรกิจการเงินชั้นนำในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ด้วยความแข็งแกร่งจากเครือข่ายและความเชี่ยวชาญระดับโลกของมิตซูบิชิยูเอฟเจไฟแนนเชียลกรุ๊ป (MUFG)

กลยุทธ์สำคัญคือการดำเนินธุรกิจและการให้บริการที่ใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะขับเคลื่อนโดยพนักงานที่เป็นทรัพยากรสำคัญ ดังนั้นกระบวนการสรรหาและพัฒนาบุคลากร รวมถึงการเสริมสร้างความผูกพันต่อองค์กร จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจึงเปิดโอกาสให้พนักงานเดิมและพนักงานใหม่เข้ามาพัฒนาความเป็นมืออาชีพในองค์กรที่ก้าวสู่เวทีโลก ด้วยผลตอบแทนที่แข่งขันได้ในอุตสาหกรรม

ขณะที่นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารยังคงมีความต้องการรับพนักงาน และไม่ได้ลดการรับแต่อย่างไร เพียงเพราะสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากพนักงานถือเป็นทรัพยากรที่ตลาดเงินยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแข่งขันจากการเข้ามาเปิดสาขาของแบงก์ต่างชาติในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการดึงพนักงานส่วนนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีความต้องการพนักงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะพนักงานประจำเคาน์เตอร์ และพนักงานประเมินและปล่อยสินเชื่อ เพื่อรองรับการเปิดสาขาใหม่ ๆ ของธนาคาร

"ตอนนี้ไม่ได้หยุดรับ และไม่ถึงกับต้องลดค่าใช้จ่าย เพราะโดยปกติตลาดเงิน พนักงานแบงก์ก็ยังขาดคนอยู่ ตอนนี้ก็รับต่อเนื่อง"

ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด คาดการณ์ผลประกอบการกลุ่มแบงก์ 10 แห่ง ช่วงไตรมาส 2/2558คาดเหลือกำไรสุทธิเพียง 4.7 หมื่นล้านบาท ลดลง 9.4% จากไตรมาสที่ผ่านมา และลดลง 9.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุใหญ่จากการเพิ่มค่าใช้จ่ายสำรองหนี้เพื่อรองรับหนี้เสีย และสินเชื่อที่ถูกกล่าวถึงเป็นพิเศษ (ค้างชำระ 1-3 เดือน) ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อยังเติบโตแบบเบาบาง โดยคาดว่า 6 เดือนแรก สินเชื่อเติบโตเพียง 3.5% หลังจากไตรมาส 2/2558 สินเชื่อขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าเพียง 0.8% โดยส่วนใหญ่เป็นการเติบโตในกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่ เป็นสินเชื่อระยะสั้นประเภทเงินทุนหมุนเวียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook