การลงทุนของจอร์จ โซรอส-วอร์เรน บัฟเฟตต์ และเศรษฐีแห่งบาบิโลน
คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย ไสว บุญมา sboonma@msn.com
คอลัมน์นี้มีบทความเกี่ยวกับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หลายบท เนื่องจากข้อคิดของมหาเศรษฐีผู้นี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้สนใจในด้านการลงทุน ก่อนเขียนต่อไป ขอนำข้อคิดจากบทความสามบทมาปัน ผู้อ่านที่สนใจในรายละเอียดของบทความเหล่านั้น อาจเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ มูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)
บทแรกมีข้อคิดหลัก 4 ข้อด้วยกัน นั่นคือ
(1) กระจายการลงทุนและที่มาของรายได้ออกไปให้เกินหนึ่งแห่ง
(2) หาทางออกไว้ล่วงหน้าสำหรับปัญหาที่คาดว่าอาจจะเกิดขึ้น
(3) เก็บออมรายได้ไว้ส่วนหนึ่งแล้วจึงใช้จ่ายจากรายได้ส่วนที่เหลือ และ
(4) ใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
ข้อคิดหลักในบทที่สอง กลั่นกรองจากการซื้อไร่และศูนย์การค้า อันเป็นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของเขา ได้แก่
(1) ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านที่จะลงทุน แต่ต้องรู้ข้อจำกัดของตนเองและไม่โลภมาก
(2) มองผลิตผลในอนาคตของสิ่งที่คิดจะซื้อ หากไม่สามารถประเมินค่าตอบแทนแบบง่าย ๆ ได้ ต้องไม่ซื้อ
(3) ไม่เก็งกำไรเพราะมันไม่ยั่งยืน
(4) สนใจในผลิตผล แต่อย่าสนใจในราคาที่เปลี่ยนไปรายวันของสิ่งที่จะซื้อ และ
(5) อย่าใส่ใจในการคาดเดาของผู้อื่น
ข้อคิดหลักในบทที่สาม คือ
(1) ซื้อเฉพาะบริษัท หรือหุ้นของบริษัทที่แข็งแกร่งและมีผู้บริหารชั้นเยี่ยมเท่านั้น
(2) ในการบริหาร มองข้ามผลประกอบการระยะสั้น ยึดยุทธการระยะยาวเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงกระบวนการทำงานและขั้นตอนแบบสลับซับซ้อน ซึ่งจะทำให้องค์กรอุ้ยอ้ายจนตัดสินใจได้ช้า
เนื่องจาก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้รับการยกย่องว่า เป็น "เซียนของเซียน" ในการลงทุน ฉะนั้นเมื่อเขาพูดอะไรในด้านนั้นออกมา เนื้อหาจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เมื่อไม่นานมานี้ มีรายงานการตอบคำถามที่ว่า จะลงทุนในอะไรจึงจะให้ผลตอบแทนสูงสุด คำตอบของวอร์เรน บัฟเฟตต์ สั้นและง่าย แต่มีความหมายกว้างและลึกมาก นั่นคือ ลงทุนในตัวเอง คำตอบนี้อาจตีความหมายได้ว่าเป็นการลงทุนในร่างกายของเขาเอง ซึ่งตอนนี้อายุ 84 ปี สุขภาพยังดีมากและทำงานได้ทุกวัน
การลงทุนในร่างกาย ได้แก่ การดูแลสุขภาพอย่างดี ดำรงชีวิตแบบเรียบง่ายและไม่เบียดเบียนตัวเอง เขายังอาศัยอยู่ในบ้านหลังแรกที่เขาซื้อตั้งแต่ครั้งยังไม่ร่ำรวยในเมืองเล็ก ๆ โดยไม่คิดย้ายไปอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความแออัดสูง หรือซื้อบ้านจำพวกใหญ่โตหรูหรา ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นเพื่อดูแลรักษาและอยู่ห่างจากที่ทำงาน ทำให้เสียเวลาเดินทางทุกวัน เขายังขับรถไปไหนมาไหนด้วยตัวเอง รวมทั้งขับไปสำนักงานซึ่งห่างจากบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้นด้วย
อีกหนึ่งด้าน เป็นการลงทุนในมันสมอง โดยการแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการศึกษาและวิเคราะห์ในสิ่งที่จะซื้อ หรือลงทุนอย่างทะลุปรุโปร่งด้วย แม้แต่ในด้านงานอดิเรก วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เลือกสิ่งที่เป็นการลับสมองของตนอยู่ตลอดเวลา เช่น การเล่นบริดจ์ ซึ่งในปัจจุบันสามารถเล่นออนไลน์กันได้ทั่วโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ กับ บิลล์ เกตส์ ร่วมวงกันบ่อย สองคนนี้เป็นอภิมหาเศรษฐี ซึ่งเรียกได้ว่าซี้กันมากและมีแนวคิดคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะในด้านการจะบริจาคทรัพย์สินเกือบทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
การลงทุนในด้านมันสมองอาจมองได้จากมุมของการแสวงหาข่าวสารข้อมูลคงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าผู้มีข่าวสารข้อมูลมากมักได้เปรียบผู้ที่มีน้อยในการลงทุน ยิ่งมีข้อมูลที่ถูกต้องอย่างครบถ้วนมากเท่าไร โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ตระหนักและใช้หลักการนี้มาตลอดชีวิตการลงทุนของเขา ฉะนั้นเขาจึงติดตามข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลามาตั้งแต่วันเริ่มเป็นนักลงทุน
เรื่องการลงทุนในด้านมันสมองนี้วอร์เรนบัฟเฟตต์และจอร์จ โซรอส ซึ่งอายุต่างกันเพียง 18 วัน คิดตรงกัน แม้วิธีการลงทุนจะต่างกันแบบอยู่คนละขั้วก็ตาม จอร์จ โซรอส เป็นนักเก็งกำไรซึ่งหวังผลในระยะสั้น ในขณะที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยึดการลงทุนเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว อาจเป็นที่ทราบกันแล้วว่า จอร์จ โซรอส ศึกษาวิชาปรัชญามาก่อน และตอนนี้ก็ยังสนใจในด้านนั้นอยู่ โดยใช้เวลาศึกษาและเขียนหนังสือออกมากว่า 10 เล่ม รวมทั้งการนำหลักปรัชญามาประยุกต์ใช้ในด้านการเก็งกำไรด้วย
ในบรรดาหนังสือกว่า 10 เล่มของเขา มูลนิธินักอ่านบ้านนา ได้นำบทคัดย่อภาษาไทยของ 2 เล่ม มาใส่ไว้ให้ดาวน์โหลดกันได้ คือ เรื่อง The Age of Fallibity และเรื่อง The New Paradigm for Financial Markets คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 20 กันยายน 2555 นำเรื่องราวในด้านการกว้านซื้อที่ดินของเขามาเล่าไว้ ซึ่งตอนนี้อาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน นอกจากนั้น ผู้สนใจในแนวคิดของจอร์จ โซรอส อาจอ่านหนังสือเรื่อง "เสือ สิงห์ กระทิง แรด" ซึ่งดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว
การลงทุนในตัวเองของ จอร์จ โซรอส มีหลายอย่าง บทความนี้ขอชี้ให้เห็นเพียงอย่างเดียว คือเรื่องเกี่ยวกับการแสวงหาข้อมูลแบบทุ่มเทของเขา ในสมัยที่จอร์จ โซรอส เริ่มตั้งกองทุนเพื่อเก็งกำไร ระบบอินเทอร์เน็ตยังไม่มี ฉะนั้นทุกวัน เขาจะทุ่มเทเวลาเพื่ออ่านรายงานจำนวนมากจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะรายงานที่บริษัทห้างร้านพิมพ์ออกมา ทั้งนี้เพื่อศึกษาข้อมูลสำหรับใช้ในการลงทุน หรือการเก็งกำไร
การลงทุนให้ตัวเองรอบรู้ด้วยความทุ่มเทเวลา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
แนวคิดในด้านการลงทุนในตัวเอง ผ่านการแสวงหาและศึกษาข้อมูลดังที่อ้างถึงนั้น อันที่จริงมีมานานแล้ว แต่มักถูกมองข้าม หลักฐานที่บ่งชี้ว่าแนวคิดมีมานาน ได้แก่ หนังสือเรื่อง The Richest Man in Babylon ของ จอร์จ เคลสัน ซึ่งเป็นหนังสืออ่านประกอบสำหรับผู้ศึกษาวิชาการลงทุนและการบริหารจัดการเงิน มาเป็นเวลา 89 ปีแล้ว (เรื่องนี้มีบทคัดย่ออยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน) หนังสือเก่าแก่เล่มนี้เสนอเรื่องราวในแนวเล่านิทานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงบาบิโลนยังรุ่งเรืองแก่นของหนังสืออยู่ที่การลงทุนในตัวเองโดยการเก็บออมรายได้ไว้10% ทันที ก่อนที่จะใช้จ่ายจากส่วนที่เหลือ และโดยการแสวงหาข้อมูลและความรู้อยู่ตลอดเวลา
รายได้ที่ออมไว้ 10% นั้นต้องนำไปลงทุนในสิ่งที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนแบบมั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างดีในยามที่สังขารร่วงโรย เนื่องจากในสมัยนั้นไม่มีข่าวสารข้อมูลแพร่หลายเช่นในสมัยนี้ หนังสือจึงแนะนำให้ไปแสวงหาและปรึกษาผู้ที่มีความรู้สูง
คำแนะนำเรื่องการลงทุนในตัวเองของหนังสือเล่มนี้ เป็นหลักการที่วอร์เรน บัฟเฟตต์ และจอร์จ โสรอส ใช้มาเป็นเวลานาน