มาวางแผนการเงินง่ายๆ ก่อนเริ่มต้นธุรกิจกันเถอะ

มาวางแผนการเงินง่ายๆ ก่อนเริ่มต้นธุรกิจกันเถอะ

มาวางแผนการเงินง่ายๆ ก่อนเริ่มต้นธุรกิจกันเถอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณอาจจะกำลังนั่งฝันถึงไอเดียธุรกิจเงินล้านอยู่ แต่ไม่ว่าคุณจะมีเงินทุนอยู่ในมือแล้วหรือกำลังคิดว่าจะต้องใช้เงินเท่าไร ในการเริ่มต้น การคำนวณค่าใช้จ่ายเริ่มต้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้คุณเดาสถานะทางการเงินในช่วงห้าหกเดือนแรกได้ จริงอยู่ว่าธุรกิจแต่ละประเภทมีค่าใช้จ่ายต่างกัน หากแต่ว่าขั้นตอนต่อไปนี้จะช่วยให้คุณเริ่มต้นจัดการตัวเลขได้อย่างเป็นระบบ


1.กำหนดโครงสร้างค่าใช้จ่าย จำไว้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีต่างประเภทกันจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นต่างกัน ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ อาจต้องการคนขายหน้าร้านและลูกจ้างยกสินค้า ในขณะที่ร้านผลิตของเล่นอาจต้องการเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิต รวมถึงโกดังเก็บของและพนักงานที่ต้องได้รับการอบรมเพื่อจัดการกับเครื่องจักร แต่หากคุณขายของผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ที่บ้าน คุณก็ไม่ต้องการพนักงานหรืออุปกรณ์อื่นใดเพิ่มเลย

ต้นทุนการเริ่มธุรกิจอาจแบ่งออกได้เป็นหกหมวดใหญ่ๆ คือ

•ต้นทุนของสินค้า ได้แก่ ค่าวัตถุดิบ ค่าเครื่องจักร ค่าขนส่ง ค่าหีบห่อ ค่าประกันการขนส่ง ค่าเช่าโกดัง ค่าสินค้า

•ค่าวิชาชีพ ได้แก่ ค่าสิทธิบัตร ค่าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ค่าร่างสัญญา ค่าจดทะเบียนบริษัท ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี ค่าปรึกษานักกฎหมาย ฯลฯ

•ค่าเทคโนโลยี ได้แก่ ค่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ค่าซอฟต์แวร์ ค่าเครื่องพิมพ์ ค่ามือถือ ค่าทำเว็บไซต์และค่าดูแล ค่าอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ค่าเซิร์ฟเวอร์อีเมล์ ค่ารักษาความปลอดภัยของข้อมูล ค่าที่ปรึกษาไอที ฯลฯ

•ค่างานสำนักงาน ได้แก่ ค่าประกันต่างๆ ค่าเครื่องเขียน วัสดุ ครุภัณฑ์ ค่าลิขสิทธิ์ ค่าขนส่งและค่าไปรษณีย์ ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าจอดรถ ค่าเช่าอาคาร สถานที่ ค่าโทรศัพท์ ค่าถ่ายเอกสาร ค่าโทรสาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ต่างๆ ที่คุณต้องใช้ประจำวันในการดำเนินธุรกิจ


•ค่าโฆษณา การตลาด ได้แก่ ค่าพิมพ์เครื่องเขียนต่างๆ ค่าเอกสารการตลาด ค่าโฆษณา ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าเข้าร่วมงานแสดงการค้าต่างๆ ค่าสปอนเซอร์สินค้า ค่าประชุมลูกค้า ฯลฯ

•ค่าจ้างและสวัสดิการ ได้แก่ เงินเดือนพนักงาน ค่าภาษี ค่าสวัสดิการ ค่าตอบแทนลูกจ้าง ฯลฯ

สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้คุณประเมินค่าใช้จ่ายเริ่มต้นได้ก็คือ ระยะเวลาที่คุณมีก่อนเปิดตัวธุรกิจในฝัน เพราะมันมีความแตกต่างกันมากระหว่างการเปิดร้านอาหารกับการขายของบนเฟซบุ๊ก แต่ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไร คุณต้องคิดถึงทุกเรื่องที่คุณจะต้องจ่ายเงินนับตั้งแต่วินาทีที่คุณก้าวเข้าสู่วงจรการเริ่มต้นธุรกิจ ไปจนกระทั่งถึงเวลาที่คุณพร้อมจะเปิดตัวสินค้าและบริการของคุณ หากคุณมีเวลาสามเดือนนับจากเวลาเซ็นสัญญาเช่าสถานที่ไปจนกระทั่งแขวนป้าย “เปิดบริการ” คุณต้องเริ่มคำนวณแล้วว่าจะใช้เงินไปกับค่าเงินเดือน ค่าไฟ ค่าเช่า ฯลฯ ในช่วงสามเดือนนั้นเท่าไหร่


2.คิดให้ดีว่าจะให้น้ำหนักค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดอย่างไร อย่างที่ให้ตัวอย่างไปข้างต้นว่า การเปิดบริษัทซอฟต์แวร์อาจจะต้องลงทุนหนักไปที่เทคโนโลยี ในขณะที่การเปิดร้านขายสัตว์เลี้ยงคงต้องมีพนักงานหลายกะ นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายจะหนักไปที่ค่าจ้างพนักงาน

3.หาร้านเปรียบเทียบ ลองดูผู้นำในอุตสาหกรรมที่คุณสนใจ หากคุณจะเปิดร้านกาแฟลองหาตัวอย่างรายงานผลประกอบการที่ตีเปิดเผยให้สาธารณชนทราบ ตัวเลขรายรับของคุณคงแตกต่างจากร้านดังพวกนั้น แต่รายละเอียดค่าใช้จ่ายทางด้านการขายและค่าดำเนินการคงไม่ต่างกัน หรือใช้วิธีการพูดคุยกับผู้รู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจ เพื่อให้เข้าใจในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของธุรกิจ

4.ศึกษาผลประโยชน์ทางภาษี กรมสรรพากรได้ส่งเสริมและสนับสนุนการให้ประโยชน์ทางธุรกิจ SMEs ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิเช่น การยกเว้นภาษี เพื่อบรรเทาภาระหรือสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจต่างๆ การลดอัตราภาษี เพื่อใช้จัดเก็บภาษีแต่ละประเภทไว้ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมในอัตราเร่งฯ ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ซื้อทรัพย์สินมาใช้งาน หากทรัพย์สินนั้นใช้งานเกิน 1 รอบระยะเวลาบัญชี กฎหมายกำหนดให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดยกำหนดประเภททรัพย์สินและอัตราที่ให้หักค่าสึกหรอ ไว้ในพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 145) รวมถึงรายจ่ายบางประเภทที่อนุญาตให้หักได้มากกว่า 1 เท่า เป็นต้น


ดังนั้น การวางแผนการเงินก่อนการเริ่มต้นธุรกิจจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยให้คุณสามารถมองเห็นตัวเลขรายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถที่จะรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้อย่างคล่องตัวง่ายขึ้น และการที่คุณสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้ดี เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น และต้องการขยายกิจการ คุณก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินได้ไม่ยากเช่นกัน


เรื่อง : คัมภีร์เงิน
Create by smethailandclub.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook