20 ส.ค. รับสมัครสมาชิกกองทุนออมแห่งชาติอย่างเป็นทางการ

20 ส.ค. รับสมัครสมาชิกกองทุนออมแห่งชาติอย่างเป็นทางการ

20 ส.ค. รับสมัครสมาชิกกองทุนออมแห่งชาติอย่างเป็นทางการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงการคลังและกองทุนการออมแห่งชาติ ประกาศพร้อมรับสมัครสมาชิก โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในพิธีรับสมัครสมาชิกคนแรกอย่างเป็นทางการ 20 สิงหาคมนี้

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้ข้อสรุปร่วมกับคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ถึงการเตรียมความพร้อมดำเนินการรับสมัครสมาชิก โดย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จะมารับสมัครสมาชิกคนแรกที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ มี 3 ธนาคารเปิดบริการประชาชนสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับระบบของ กอช.ไว้ ได้แก่ ธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.), ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย

ด้าน นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการ กอช. เปิดเผยว่า ผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกเปิดให้ประชาชนที่มีอาชีพอิสระและไม่มีสวัสดิการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการรับเงินกรณีชราภาพ มีสัญชาติไทยอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี แต่ปีแรกที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับ ได้อนุญาตให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิออมกับกองทุนได้ 10 ปี นับจากวันที่เป็นสมาชิก ทำให้ในช่วงปีแรกผู้สนใจที่มีอายุเกิน 60 ปี สามารถสมัครสมาชิกได้ และใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนเท่านั้น กำหนดให้สมาชิกส่งเงินสะสมขั้นต่ำ 50 บาทแต่ไม่เกินปีละ 13,200 บาท โดยไม่จำเป็นต้องส่งเงินสะสมทุกเดือน

ส่วนรัฐบาลจะให้เงินสมทบตามสัดส่วนเงินสมทบและตามช่วงอายุของสมาชิก โดย

ช่วงอายุ 15-30 ปี รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้ร้อยละ 50 ของเงินสมทบแต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี,

อายุมากกว่า 30 ปีแต่ไม่เกิน 50 ปี รัฐจ่ายสมทบร้อยละ 80 แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี

และมากกว่า 50 ปีขึ้นไปรัฐจ่ายสมทบเต็มร้อยเปอร์เซนต์ แต่ไม่เกินปีละ1,200 บาท

ดังนั้น ผู้ที่ออมเร็วและออมในอัตราสูง จะได้รับเงินบำนาญมากขึ้นตามสัดส่วน เช่น ออมเดือนละ1,000 บาท หากเริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่อเกษียณจะได้รับเงินบำนาญพร้อมเบี้ยยังชีพรวม 7,000 บาทต่อเดือน แต่หากเริ่มอายุ 30 ปี จะได้เงินบำนาญ 4,000 บาท

ส่วนผู้ที่มีเวลา หรือ จำนวนเงินออมน้อย เช่น อายุ 50 ปี ออมเดือนละ 500 บาท เมื่ออายุ 60 ปีจะได้เพียง 421 บาท ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพ โดย กอช.จะใช้จ่ายเป็นเงินดำรงชีพแทนในอัตราเดือนละ 600 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยยังชีพของรัฐบาลเดือนละ 600 บาท รวมรับเดือนละ1,200 บาท ซึ่งน่าจะช่วยแบ่งเบาภาระการดำรงชีพในวัยชราได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีนี้ ตั้งเป้าว่า จะมีสมาชิกอยู่ที่ 100,000 คน และสิ้นปี 2559 เพิ่มเป็น 1,500,000 คน และถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ 3,000,000 คน ในปี 2561 ส่วนจำนวนแรงงานทั้งหมด 39.3 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 24.6 ล้านคน ที่ยังเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook