คลังแนะหลังภาษีมรดกและภาษีการให้บังคับใช้ ผ่อนชำระได้ 5 ปี

คลังแนะหลังภาษีมรดกและภาษีการให้บังคับใช้ ผ่อนชำระได้ 5 ปี

คลังแนะหลังภาษีมรดกและภาษีการให้บังคับใช้ ผ่อนชำระได้ 5 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงการคลังแนะภาษีมรดกเกิน 100 ล้านบาท ผ่อนชำระได้ 5 ปี หลีกเลี่ยงไม่ยื่นแบบปรับ 5 แสนบาท หากโอนย้ายทรัพย์สินจำคุกไม่เกิน 2 ปี หากให้ทรัพย์สินในช่วงมีชีวิตอยู่กับบุตรหลาน คู่สมรสไม่เกิน 20 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษีการให้ มีผลบังคับใช้อีก 180 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกให้มีผลบังคับใช้อีก 180 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ววันที่ 5 สิงหาคม 2558 สำหรับผู้มีหน้าที่เสียภาษี เมื่อได้รับมรดกไม่ว่าจะได้รับมาครั้งเดียวหรือหลายครั้ง หากมรดกได้รับจากเจ้าของมรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนเกิน 100 ล้านบาท สำหรับบุคคลอื่น แต่หากผู้ได้รับมรดกเป็นบิดา มารดา หรือลูกหลานผู้สืบสันดานให้เสียภาษีอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี

การคำนวณเสีย ประเมินจากอสังหาริมทรัพย์ โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิหักด้วยภาระค่าธรรมเนียม กรณีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ประเมินราคาหลักทรัพย์เวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันได้รับมรดก โดยต้องยื่นแบบการเสียภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกที่มีมูลค่ารวมเกินกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเสียภาษีสามารถผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี หากขอผ่อนชำระครบถ้วนภายใน 2 ปี ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระครบถ้วนเกิน 2-5 ปี ให้เสียเงินเพิ่มบางส่วน ตามกำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ กฎหมายลูก หากไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีภายใน 10 ปีนับแต่วันสุดท้ายของการยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยต้องจ่ายเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชำระ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียขาดไป เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม

หากไม่ชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่รวมเบี้ยปรับ กรณีที่ได้รับอนุญาตให้เลื่อนกำหนดเวลาการชำระภาษี และได้ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาที่เลื่อนให้นั้น เงินเพิ่มลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน นอกจากนี้ ยังเปิดให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ชำระภาษีทั้งหมด ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาหากมีคำร้องเพิ่ม และหากไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 30 วัน

โดยจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. อสังหาริมทรัพย์ 2. หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ 4. ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน 5.ทรัพย์สินทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา

สำหรับบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษี ได้แก่

1. ผู้ได้รับมรดกจากเจ้าของมรดกเสียชีวิตก่อนวันที่กฎหมายใช้บังคับ

2.คู่สมรสของเจ้าของมรดก

3.บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

4. หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์

5.บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ส่วนกรณีผู้ได้รับมรดกเป็นนิติบุคคล โดยต้องจดทะเบียนในประเทศไทย หรือมีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว

ส่วนบทกำหนดโทษ กรณีไม่ยื่นแบบโดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมิน หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากได้ทำลาย ย้ายทรัพย์สิน ซ่อนเร้น หรือโอนทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดไปให้แก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000 บาท จงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ยังมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 บังคับใช้สำหรับการให้ทรัพย์สินในช่วงมีชีวิตอยู่ เมื่อได้รับเงินจากการอุปการะหรือการให้โดยเสน่หาจากบิดา มารดา บุตรหลาน หรือคู่สมรส วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษีการให้ ส่วนการได้รับเพื่ออุปการะ หรือให้โดยเสน่หา จากบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี โดยทั้ง 2 ประเภทเสียภาษี อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook