ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย

ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย

ทำภาษีให้เป็นเรื่องง่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำไมภาษีจะต้องเป็นเรื่องยาก? คิดว่าคงมีหลายๆ ท่านที่ต่างก็ปวดหัวกับเรื่องการคำนวณภาษี และการคิด จ่ายภาษีเป็นประจำ รู้สึกว่าภาษีนี่จะเป็นอะไรที่เข้าใจยากเหลือเกิน คิดกี่ทีก็ยังไม่เข้าใจ กว่าจะคิดได้แต่ละที มันจะลดหย่อนกันยังไง ในที่สุดก็ไม่เห็นมันจะหย่อนได้เยอะอย่างคนอื่นเขาพูดกันเลย จริงไหมครับ

สมการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

รายได้ หรือ เงินได้ ตามกฎหมายภาษี มีความหมายรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน ประโยชน์ส่วนเพิ่ม ภาษีที่ออกให้ และเครดิตเงินปันผลนั่นเองครับ

โดยวิธีการคำนวณภาษีไม่ยากครับ เพียงใช้สมการด้านบน คือ นำรายได้ทั้งหมดของเรา มาหักด้วยค่าใช้จ่าย (ที่กฎหมายกำหนด) หักด้วยรายการค่าลดหย่อนภาษีทั้งหมดที่เรามี แล้วนำตัวเลขนี้ไปคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 5-35% โดยสามารถดูอัตราภาษีที่คุณจะต้องใช้จากรายการข้างล่างครับ

1. ผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ได้รับการลดหย่อน ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้รายปี
2. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 150,000 - 300,000 บาท/ปี เสียภาษี 5%
3. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 300,001 - 500,000 บาท/ปี เสียภาษี 10%
4. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 500,001 - 750,000 บาท/ปี เสียภาษี 15%
5. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 750,000 - 1,000,000 บาท/ปี เสียภาษี 20%
6. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 1,000,001 - 2,000,000 บาท/ปี เสียภาษี 25%
7. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 2,000,001 - 4,000,000 บาท/ปี เสียภาษี 30%
8. ผู้ที่มีรายได้สุทธิระหว่าง 4,000,001 บาทขึ้นไป/ปี เสียภาษี 35%

เงินได้บางอย่างสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นะครับ เช่น เงินที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูก ถือเป็นเงินได้ตามกฎหมาย แต่หากเป็นการให้ตามหน้าที่อุปการะ ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ครับ

เงินได้จากในประเทศ VS เงินได้จากต่างประเทศ

เงินได้มีสองประเภทครับ เงินได้จากในประเทศไทย และเงินได้จากต่างประเทศ แล้วสองอย่างนี้มันแตกต่างกันยังไง?

เงินได้ในประเทศไทย หมายถึง เงินได้จากหน้าที่ กิจการ กิจการของนายจ้าง ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย


เงินได้จากต่างประเทศ เราต้องดูก่อนว่าเป็นเงินได้จากไหน จากหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สินที่ทำในต่างประเทศหรือเปล่า ถ้าเราทำงานให้บริษัทที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ถือว่าเป็นกิจการของนายจ้างในต่างประเทศนั่นเองครับ โดยเราเองไม่ได้จะต้องย้ายถิ่นที่อยู่ไปทำงานในต่างประเทศ แต่เราอาจจะทำงานฟรีแลนซ์อยู่ที่บ้าน ก็สามารถทำงานนอกประเทศได้เช่นกันครับ เงินได้ในประเทศ หากเราถูกส่งไปทำงานที่ญี่ปุ่น แต่ว่านายจ้างบริษัทตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นเงินได้ประเทศไทย และต้องเสียภาษีในประเทศไทยนะครับ

หากเป็นเงินได้จากประเทศไทย ก็ทำการเสียภาษีตามปกตินะครับ หากเป็นเงินได้จากต่างประเทศ แล้วอยู่ในเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. เงินได้ที่เกิดขึ้นในปีนั้น เข้ามาในประเทศไทยในปีเดียวกัน
2. เราอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันในปีนั้น

ส่วนนี้เราก็จะต้องนำเงินได้ส่วนนี้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีนะครับ หากไม่เข้าเงื่อนไขสองข้อข้างต้น ก็ไม่ต้องนำมาคิดเสียภาษีครับ

การลดหย่อนภาษี

เราสามารถเอาอะไรไปลดหย่อนภาษีได้บ้าง มาดูกันครับ

1. ผู้ที่มีรายได้: หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท


2. คู่สมรส: หักค่าลดหย่อนได้ 30,000 บาท สำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ (ทำงานคนเดียว) ส่วนคู่สมรสที่มีรายได้ทั้งสองคนให้แยกคำนวณภาษีจะดีกว่าครับ


3. บุตร: หักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน คนละ 15,000 บาท (รวมแล้วต้องไม่เกิน 45,000 บาท หากศึกษาอยู่ในประเทศไทย หักเพิ่มได้อีกคนละ 2,000 บาท รวมแล้วเป็นคนละ 17,000 บาท


4. บิดามารดา: หักค่าลดหย่อนกรณีดูแลบุพการีที่มีอายุเกิน 60 ปีได้คนละ 30,000 บาท กรณีบุตรหลายคน ต่างคนต่างช่วยกันดูแลบุพการี ในทางกฎหมายภาษีแล้วมีเพียงบุตรคนเดียวที่สามารถหักค่าลดหย่อนค่าดูแลบุพการีได้ ก็ต้องไปตกลงกันเองในหมู่พี่ๆ น้องๆ นะครับ


5. เบี้ยประกัน: เบี้ยประกันชีวิตสามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท ต้องเป็นการทำประกันที่มีความคุ้มครองเกิน 10 ปี หากเป็นการซื้อประกันสุขภาพให้บิดามารดา หักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกินคนละ 15,000 บาท


6. เงินสะสม: หักลดหย่อนจากการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่สามารถหักได้ตามจริง โดยจะต้องไม่เกิน 15% ของรายได้รวม ยอดรวมจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท ส่วนยอดหักลดหย่อนการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ก็คล้ายกัน คือ 15% ของรายได้รวม ยอดทั้งหมดเมื่อรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) และ กบข. ต้องไม่เกิน 500,000 บาท


7. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม: สามารถหักลดหย่อนได้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย โดยมูลค่าจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท (สถาบันการเงินเป็นผู้สรุปยอดเงินที่จ่ายจริง)

8. ประกันสังคม: หักลดหย่อนได้ตามจำนวนเงินที่นายจ้างหักไว้เพื่อเข้ากองทุนฯ นายจ้างจะเป็นผู้ทำเรื่องสรุปรายปีว่าได้ส่งเงินสมทบกองทุนเท่าไหร่


9. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา: หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันการศึกษาที่จะบริจาค ว่าอยู่ในบัญชีรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดหรือไม่ ได้ที่นี่


10. เงินบริจาค: หักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนแล้ว


11. ค่าลดหย่อนสำหรับการท่องเที่ยวภายในประเทศ: ครม. ได้อนุมัติค่าลดหย่อนภาษีการท่องเที่ยวให้บุคคลธรรมดา วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท โดยมีผลบังคับถึงปลายปี พ.ศ. 2558 โดยใช้เอกสารการชำระเงินเป็นเอกสารยืนยันจากโรงแรมที่พัก ที่มีชื่อ วัน เดือน ปีที่ใช้บริการ และยอดเงินที่จ่าย โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถหักค่าลดหย่อนได้ ที่นี่

หวังว่ารายละเอียดส่วนนี้จะสามารถช่วยไขข้อข้องใจให้หลายๆ ท่านได้บ้างนะครับ หากท่านต้องการข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับการออมเงิน ภาษี การประหยัดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ฯลฯ MoneyGuru.co.th ช่วยคุณได้ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook