ชาวนาถอดใจราคาข้าววูบหันปลูกมะลิแทน ปากน้ำโพ-นครปฐม-กำแพงเพชรเงินสะพัด5พันล.

ชาวนาถอดใจราคาข้าววูบหันปลูกมะลิแทน ปากน้ำโพ-นครปฐม-กำแพงเพชรเงินสะพัด5พันล.

ชาวนาถอดใจราคาข้าววูบหันปลูกมะลิแทน ปากน้ำโพ-นครปฐม-กำแพงเพชรเงินสะพัด5พันล.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวสวนมะลิเฮ ราคามะลิขาขึ้นเกรด A ทะลุ 300 บาทต่อลิตร เกษตรกรรายเดิมสบช่องควักกระเป๋าลงทุนเพิ่มรับตลาดโต"นครสวรรค์" แชมป์ปลูกมากที่สุดเฉียด 5 พันไร่ ด้านชาวนาเมืองสิงห์บุรีถอดใจราคาข้าวร่วงหนัก พลิกผืนนาปลูกมะลิป้อนตลาดชามะลิมาแรง ด้านกำแพงเพชรขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว นครปฐมออร์เดอร์เพิ่ม 50% ขณะที่ตลาดส่งออกพวงมาลัยมะลิสด-กล้าพันธุ์ไปได้สวย กรมวิชาการเกษตรระบุมูลค่าตลาดปีละ5,000 ล้าน

นายธนภัคร ภคสกุลวงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จังหวัดนครสวรรค์เป็นแหล่งปลูกมะลิเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 4,390 ไร่ แบ่งเป็นอำเภอเมือง 2,141 ไร่ เก้าเลี้ยว 1,064 ไร่ บรรพตพิสัย 1,040 ไร่ ชุมแสง 131 ไร่ ลาดยาว 9 ไร่ แนวโน้มจะมีเกษตรกรทั้งรายใหม่และรายเดิมลงทุนทำสวนมะลิเพิ่ม เพราะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความต้องการสูง

ทั้งนี้จะเร่งอบรมให้ความรู้เทคนิคการปลูก การกำจัดศัตรูพืช ช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรรายใหม่ ผลักดันนครสวรรค์เป็นแหล่งปลูกมะลิคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันตลาดหลักส่งไปจำหน่ายยังปากคลองตลาด ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไทซึ่งปีนี้ราคาจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย

"ปีนี้แล้งจัด แล้วมาเจอฝนตกชุกในช่วงนี้ทำให้ต้นมะลิให้ผลผลิตมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกมะลิ ประกอบกับความต้องการในตลาดมีสูง ราคาก็ดี นับว่าเป็นปีทองของเกษตรกรสวนมะลิ ปีหน้าคาดว่าจะมีเกษตกรหันมาปลูกมากขึ้น"

นายธนภัคร กล่าวว่า ปัจจุบันการตลาดมะลิมี 3 ช่องทาง คือ 1.จำหน่ายดอกสด ซึ่งจะกระจายไปทั่วประเทศ 2.พวงมาลัยสดจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออก ซึ่งกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด จุดเด่นพวงมาลัยมะลิไทย คือ สวยงาม ประณีต คุณภาพสูงและ 3. จำหน่ายกล้าพันธุ์ เจาะลูกค้ากลุ่มจัดสวน ตกแต่งบ้าน

นางยุรฉัตร กุลเสือ เกษตรกรสวนมะลิ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่าปีนี้มะลิออกดอกดีรับช่วงวันแม่แห่งชาติ ขณะนี้มีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมากเพิ่มขึ้น20-30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงต้องจ้างแรงงานเก็บดอกมะลิเพิ่ม เพื่อให้ทันกับออร์เดอร์ที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาพรวมตลาดทั้งปีนี้คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง

ด้านนางปิยาภรณ์ คงอยู่ เกษตรกรผู้ปลูกมะลิ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี กล่าวว่า หลังจากราคาข้าวตกต่ำและผันผวนมาตลอด ตนได้หันมาปรับปรุงที่นาโดยยกร่องให้สูงปลูกมะลิบนเนื้อที่ 17 ไร่ และยังเตรียมลงทุนปลูกเพิ่มอีก 10 ไร่ เพราะมะลิเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคต นอกจากนั้นก็ยังมีชาวนาในอำเภอบางระจันประมาณ 10 รายนำที่นามาปลูกมะลิ เนื่องจากราคาข้าวผันผวน และภัยแล้งคุกคาม

"การทำตลาดจะมุ่งเจาะกลุ่มผู้ผลิตพวงมาลัย และชามะลิที่มีความต้องการมะลิออร์แกนิก เพราะกระแสผู้บริโภคชามะลิกำลังได้รับความนิยมทั้งตลาดในและต่างประเทศ ซึ่งสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากที่สุด คือ มะลิพันธุ์ราษฎร์บูรณะ ส่วนปัญหาในการทำสวนมะลิ คือ หนอนเจาะดอก"

นางพยูร อินเทียน เกษตรกรผู้ปลูกมะลิ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ภาพรวมราคาดอกมะลิ 6 เดือนแรก(มกราคม-มิถุนายน) ปี 2558 อยู่ในเกณฑ์ดีราคามะลิเกรด B เฉลี่ย 50-120 บาท/ลิตรเกรด A ราคา 200-300 บาท/ลิตร ในช่วงวันแม่แห่งชาติราคาจะขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งสถานการณ์ผลผลิตปีนี้มะลิออกดอกดี แต่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บดอกมะลิ จึงต้องเพิ่มค่าจ้างให้สูงขึ้นอีก 50 บาท/กิโลกรัม จากเดิมอยู่ที่ 30-35 บาท/กก.

ขณะเดียวกันได้เตรียมลงทุนปลูกมะลิเพิ่มอีก 10 ไร่ จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 18 ไร่ และเจ้าของสวนมะลิรายเดิมก็ลงทุนขยายพื้นที่ปลูกเช่นกัน ส่วนเกษตรกรรายใหม่จะต้องศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้ดี เช่น การเตรียมดิน ศัตรูพืช เพราะจะต้องใช้เวลาปลูก 2-3 ปีจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้

ด้านนางนภา ประทีปพงศ์ เกษตรกรผู้ปลูกมะลิ อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ออร์เดอร์ดอกมะลิสดสูงขึ้น 40-50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นับว่าเป็นการขยายตัวดีที่สุดในรอบ 5 ปี ส่งผลดีต่อเกษตรกรมีเม็ดเงินไหลเข้าสู่จังหวัด กระตุ้นการจับจ่ายเพราะที่ผ่านมากำลังซื้อหดตัว การซื้อขายในตลาดนัด ตลาดสด ไม่คึกคัก

นางสาวณิชชฎา ทัศนัย เจ้าของกิจการร้านภานุมา ผู้จำหน่ายพวงมาลัยรายใหญ่ที่ตลาดสี่มุมเมือง กล่าวว่า ราคามะลิสดปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดพวงมาลัยปีนี้เติบโตดีจากปัจจัยบวกธุรกิจออร์แกไนซ์ เวดดิ้ง และงานบุญยังเติบโต ส่วนตลาดส่งออกยังคงสดใส เช่น ยุโรป อินเดีย

ทั้งนี้ตลาดพวงมาลัยมะลิสด หัวเมืองท่องเที่ยว เช่น จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ อยู่ในช่วงขาขึ้น พฤติกรรมคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และนักท่องเที่ยวยังชื่นชอบการทำบุญ ประกอบกับธุรกิจเวดดิ้ง หรืองานแต่งงานในต่างจังหวัดยังมีมาก แม้ว่าบางรายจะปรับแผนการจัดงานแต่งงานจากโรงแรมมาจัดในบ้านแทน แต่ธุรกิจจำหน่ายพวงมาลัยก็ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้ในการจัดงาน ปัจจุบันส่งไปจำหน่ายทั่วประเทศผ่านรถทัวร์โดยสาร และสายการบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า ไทยส่งออกพวงมาลัยมะลิสดไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อเมริกา เดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ส่วนต้นมะลิ ส่งออกไปญี่ปุ่น ดูไบ กาตาร์ คูเวต สำหรับดอกมะลิสดส่งออกไปจีน มาเลเซีย เดนมาร์ก มูลค่าตลาดรวมทั้งหมด 5,000 ล้านบาท/ปี จังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากสุด 4 ลำดับแรก ได้แก่ 1.นครสวรรค์ 4,390 ไร่ 2.นครปฐม 2,516 ไร่ 3.กำแพงเพชร 2,486 ไร่ และ 4.พิษณุโลก จำนวน 1,842 ไร่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook