จีนลดค่าหยวน 2 วันติด! ตลาดหุ้นผวาผลกระทบ คาด ซ้ำเติม "ส่งออก"ไทยทรุดอีก
สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า จีนหั่นอัตราอ้างอิงเงินหยวนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐประจำวันลงติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ส่งผลให้เกิดแรงสะเทือนรอบใหม่ในตลาดการเงินโลก และจุดชนวนให้เกิดการคาดการณ์ว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงต่ออีกหลังจากนี้ แถลงการณ์ของธนาคารประชาชนจีน (พีบีโอซี) ที่โพสต์เผยแพร่บนเว็บไซต์ระบุว่า ได้ปรับลด "ค่ากลาง" ของเงินหยวนลง 1.62% มาอยู่ที่ 6.3306 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ จากวันก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์
การดำเนินการดังกล่าว ทำให้อัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐลดลง 3.5% แล้วในสัปดาห์นี้ นับว่าเป็นการอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบมากกว่า 2 ทศวรรษ หลังจากที่มีการปรับลดลงอย่างน่าประหลาดใจเมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ขณะที่พีบีโอซี ปฏิเสธการคาดการณ์ที่ว่าจะมีการปรับลดอัตราอ้างอิงลงอย่างต่อเนื่อง
การตัดสินใจของจีนครั้งนี้ถูกมองจากวงกว้างว่า เป็นวิธีในการช่วยส่งเสริมการส่งออก โดยทำให้ค่าเงินมีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว แม้พีบีโอซีจะระบุว่า มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบแลกเปลี่ยนเงินตราให้อิงกับตลาดมากยิ่งขึ้น
การปรับลดอัตราอ้างอิงประจำวันของเงินหยวนครั้งนี้เขย่าตลาดหุ้นทั่วโลก โดยแรงสั่นสะเทือนยังคงแพร่ขยายออกไปอีก จากการที่นักลงทุนเป็นกังวลถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับจีน
นักวิเคราะห์มองว่า การเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้อาจทำให้การตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐชะลอออกไป และอาจถึงขั้นก่อให้เกิดสงครามค่าเงินได้ จากการที่ค่าเงินของประเทศอื่นๆ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องปรับลดลงเช่นกัน
ด้านไอเอ็มเอฟแสดงความยินดีกับการตัดสินใจอย่างน่าประหลาดใจครั้งนี้ของจีน โดยระบุว่าเป็นการทำให้กลไกตลาดมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศของจีน และเป็นการทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นย่างก้าวที่จะส่งผลดีในระยะยาว
ขณะที่ นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีจีนปรับลดค่าเงินหยวนว่า ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเงินของจีนที่จะค่อยๆ ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยผลกระทบของค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง แม้จะมีผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้น แต่คงต้องประเมินผลในระยะยาวด้วยว่าค่าเงินหยวนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวนน่าจะมีผลบวกที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการค้าภายในภูมิภาคด้วย
สำหรับช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทยและจีนมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 คือ 14.8% ของมูลค่าการค้ารวม และสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการประมาณเกือบ 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีน ทั้งนี้ ตลาดการเงินโลกอาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่จีนลดค่าเงินหยวนจะสร้างปัญหาให้แก่ภาคการแข่งขันด้านการส่งออกมากขึ้น แม้ไทยจะสามารถซื้อสินค้าจากจีนได้ถูกลงก็ตาม เพราะขณะนี้ถือว่าจีนนำเข้าจากไทยมากที่สุดเช่นกัน หรือคิดเป็นอัตรา 10% จากมูลค่านำเข้าของจีนทั้งหมด การลดค่าเงินหยวนจะทำให้สินค้าของไทยที่ส่งไปขายจีนแพงขึ้น และอาจกระทบต่อยอดสินค้าส่งออกของประเทศไทยได้ เพราะจะมีการแข่งขันกันมากขึ้นของประเทศต่างๆ ในการนำสินค้าเข้าไปขายที่จีน และเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยให้แย่ลงไปอีกอย่างน้อย 1 ปี
"การที่ประเทศจีนลดค่าเงินหยวนจะบอกเศรษฐกิจไม่ดี ก็ไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วเศรษฐกิจประเทศจีนกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว แต่การลดค่าเงินหยวนเป็นเรื่องของจิตวิทยาที่แสดงให้เห็นว่าจีนสามารถควบคุมค่าเงินหยวนได้ไม่จำเป็นต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นการเปิดเกมว่าเขาอยากส่งออกมากขึ้น เพื่อสร้างดุลการค้า" นายพรศิลป์กล่าว