ประกันสังคม ร้องทวงเงินอุดหนุนตาม ม.40 จากรัฐอีก 700 ล้านบาท!
สำนักงานประกันสังคม(สปส.) จัดแถลงข่าวชี้แจงขั้นตอนการโอนเงินสมทบและผลประโยชน์ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ของสปส. กรณีบำนาญชราภาพ ไปกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) โดย พ.ต.ต.หญิงรมยง สุรกิจบรรหาร โฆษกสปส. แถลงว่า การโอนย้ายผู้ประกันตนมาตรา 40 ไปกอช.นั้น ต้องรอให้ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลศึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 (ฉบับที่..) พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้จากนั้นภายใน 180 วัน
ให้ผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3,4และ5 ไปยื่นเรื่องต่อสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งว่าจะย้ายหรือไม่ย้ายไปกอช. โดยสปส.จะส่งจดหมายเพื่อแจ้งสิทธิที่มีอยู่และจำนวนเงินสะสมไปให้ผู้ประกันตนแต่ละคนรับทราบ ซึ่งสปส.ได้ประชุมหัวหน้าสำนักงานประกันสังคมทุกแห่งเพื่อให้มีแนวทางการชี้แจงต่อผู้ประกันตนให้ตรงกัน
พ.ต.ต.หญิงรมยง กล่าวอีกว่า กรณีที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ต้องการโอนไปกอช.สามารถมากรอกเอกสารแสดงความจำนงและนำสำเนาสมุดบัญชีออมทรัพย์มายื่นที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งเพื่อเจ้าหน้าที่จะได้โอนเงินสมทบกรณีลำนาญชราภาพคืนให้ผู้ประกันตนภายหลัง
ด้าน นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า ส่วนกรณีเงินอุดหนุนบำนาญชราภาพจากรัฐนั้น เป็นเงินอุดหนุนที่สปส.ต้องทำเรื่องเพื่อขอรับเป็นรายปีงบประมาณ โดยจะต้องโอนทั้งผู้ประกันตน เงินสมทบส่วนของผู้ประกันตนและเงินอุดหนุนของรัฐไปยังกอช.ให้ครบถ้วน ทั้งนี้สปส.อยู่ระหว่างขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลซึ่งขาดอีกประมาณ 600-700 ล้านบาท จากยอดเงินอุดหนุนของรัฐจำนวน 1,500 ล้านบาท และส่วนที่เป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนในกรณีบำนาญชราภาพมีอยู่ 1,500 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ประกันตนมาตรา40 ที่อยู่ระหว่างรับเงินบำนาญจากสปส. และหน่วยงานอื่นๆ จะมีสิทธิโอนย้ายไปกอช.ด้วยหรือไม่ เนื่องจากพ.ร.บ.กอช. กำหนดไม่ให้ผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุน/ระบบบำนาญอื่น เป็นสมาชิกกอช. นายโกวิท ตอบว่า สามารถโอนย้ายได้ เนื่องจากการรับบำนาญถือว่าไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนแล้ว กอช.ห้ามเพียงผู้ที่ยังเป็นสมาชิกส่งเงินสมทบเข้ากองทุนต่างๆ เท่านั้น
ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกันตนที่มีสิทธิบำนาญชราภาพนั้นจะต้องแจ้งต่อประกันสังคมเขตพื้นที่ว่าจะย้ายไปกอช.หรือไม่หากโอนก็จะโอนไปทั้งชื่อและเงินที่ส่งสมทบไว้
สำหรับทางเลือกที่ 3 นั้น ถ้าโอนไปกอช.แล้วอายุไม่เกิน 60 ปี ก็สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา40 ทางเลือกที่ 1 ได้ หากไม่โอนไปกอช.ก็จะถือว่าลาออกจากมาตรา40 และหากอายุไม่เกิน 60 ปี สามารถสมัครได้ทั้งทางเลือกที่ 1 และ 2
สำหรับทางเลือกที่ 4 นั้น หากเลือกโอนไปกอช.สิทธิเงินบำนาญก็จะอยู่ที่กอช.และจะเหลือสิทธิการเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 อยู่ หากไม่โอนก็รับเงินบำนาญส่วนที่สมทบและส่วนที่รัฐสมทบคืน ส่วนเงินที่เหลือต้องอายุครบ 60 ปี จึงสามารถคืนได้
สำหรับทางเลือกที่ 5 นั้น หากเลือกโอนไปกอช.สิทธิเงินบำนาญก็จะอยู่ที่กอช.และถูกโอนไปเป็นผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 หากไม่โอนไปกอช.ก็จะไปอยู่ในทางเลือกที่ 2 ตามสิทธิที่มีอยู่
นอกจากนี้ จากข้อมูลของสปส.ในเดือนมิถุนายน สปส.มีสมาชิกมาตรา 40 กรณีบำนาญชราภาพจำนวน 1,081,219 คน แบ่งเป็นทางเลือกที่ 3 มีสิทธิเฉพาะกรณีชราภาพ จำนวน 350,536 คน ทางเลือกที่ 4 (ทางเลือกที่1+3)มีสิทธิกรณีเงินทดแทนขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย จำนวน 670 คนและทางเลือกที่ 5(ทางเลือกที่2+3) มีสิทธิกรณีเงินทดแทนขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและบำเหน็จชราภาพ จำนวน 730,013 คน