"กล้วยหอมทอง"บูมสุดขีดราคาพุ่ง100% "หนองเสือ"เมืองปทุมอันดับ1ป้อนโมเดิร์นเทรด-เซเว่นฯ
ตลาดกล้วยหอมทองโตก้าวกระโดด ดีมานด์ตลาดในประเทศ-ส่งออกรับซื้อไม่อั้นดันราคาพุ่งกระฉูด 100% ผลิตไม่พอขายพื้นที่อำเภอ "หนองเสือ" ปทุมธานี แหล่งปลูกใหญ่สุดป้อนผลผลิตเข้าโมเดิร์นเทรด-เซเว่นฯ รายได้สะพัด 1,000 ล้านบาท เกษตรกรอู้ฟู่รับทรัพย์ กล้วยหอมเครือละ200 บาท ระบุช่วงเทศกาลสารทจีนปลายเดือนสิงหาฯ ราคาสูงเท่าตัว
กระแสการบริโภคกล้วยหอมทองเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากมีการนำมาแบ่งหวีขายในแพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม โดยการวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และในห้างโมเดิร์นเทรด ไม่ว่าจะเป็นแม็คโคร บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนม เบเกอรี่ เค้ก ไอศกรีม น้ำปั่น รวมทั้งกระแสรักสุขภาพมาแรง ทำให้ความนิยมบริโภคกล้วยหอมขยายตัวอย่างกว้างขวางในเวลานี้
ปัจจุบันแหล่งปลูกกล้วยหอมทองขนาดใหญ่ที่ป้อนเข้าสู่โมเดิร์นเทรดได้แก่อำเภอหนองเสือจังหวัดปทุมธานีอำเภอวังน้อยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
กล้วยหนองเสือส่งแม็คโคร-โลตัส
นายชัชวาล ทินประยงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8ตำบลบึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เกษตรกรในอำเภอหนองเสือปลูกกล้วยหอมกันมานาน 10-20 ปีแล้ว คาดว่ามีพื้นที่รวมประมาณ 1 หมื่นไร่ โดยเฉพาะบริเวณคลอง 13 มีชื่อเสียงโด่งดัง แม้แต่เกษตรกรจากอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ก็มาเอาพันธุ์จากที่นี่ไปปลูก โดยในปีนี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของกล้วยหอม ราคาขายตอนนี้อยู่ที่เครือละ 130-200 บาท (เครือละ 5-6 หวี) ขึ้นอยู่กับขนาดของกล้วยหอม หากเป็นช่วงตรุษจีนหรือสารทจีน ราคาจะพุ่งขึ้นไปถึงเครือละ 250 บาท
ปัจจุบันช่องทางการจัดจำหน่ายมี 2 รูปแบบคือ พ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับซื้อแล้วส่งกล้วยเข้าตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง และส่งขายให้กับโมเดิร์นเทรด ซึ่งโมเดิร์นเทรดจะต้องการลูกขนาดกลาง ๆ ไม่ใหญ่มาก หวีละประมาณ 2.2 กิโลกรัม ส่วนตลาดสี่มุมเมืองจะเป็นกล้วยขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาสูงกว่า โดยจะขายในราคาเข่งละ 500-600 บาท (เข่งละ 7 หวี) ส่วนกล้วยขนาดเล็กนิยมนำไปทำเค้กกล้วยหอม ซึ่งตลาดยังมีความต้องการอีกมาก ปัจจุบันเกษตรกรผลิตไม่พอขาย
ปัจจุบันเทสโก้ โลตัสและบิ๊กซีเข้ามาติดต่อขอซื้อเป็นจำนวนมาก หรือบริษัทใหญ่ ๆมาทำเองก็มี โดยจะเช่าที่ปลูกประมาณ 2 พันไร่ แต่ปีนี้มีปัญหาที่ไม่คาดคิดคือภัยแล้ง ทำให้ลูกเล็ก ซึ่งปกติอำเภอหนองเสือเป็นโซนที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ทั้งจากชลประทาน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย
"การปลูกกล้วยหอมส่วนใหญ่จะใช้วิธีเซ้ง พ่อค้าจะให้ทุนเกษตรกรมาก่อน เพราะกล้วยหอมใช้ทุนสูง เช่น ปลูก 10 ไร่จำนวน 3,000 ต้น ต้องลงทุนประมาณ 1.2 แสนบาท หักต้นทุนและค่าปุ๋ยแล้ว จะได้กำไรประมาณ 3 แสนบาท หากชาวนาจะเปลี่ยนมาปลูกกล้วยก็ทำได้ แต่ปัญหาใหญ่คือลงทุนสูง ต้องมีความรู้ในการดูแล และที่สำคัญมีความเสี่ยงสูง
จากปัญหาลมแรง" นายชัชวาลกล่าว
ราคากล้วยหอมทองพุ่ง 100%
ด้านนายสุริยา ธรรมธารา สมาชิก อบต.บึงกาสาม อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเจ้าของสวนและผู้ค้ากล้วยหอมรายใหญ่ในจังหวัดปทุมธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันในหนองเสือจะมีพ่อค้ากล้วยหอมรายใหญ่ประมาณ 5-6 ราย ซึ่งตอนนี้ตนมีลูกสวนป้อนผลผลิตให้ไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ จึงมีผลผลิตหมุนเวียนส่งเข้าตลาดทุกวันประมาณวันละ 1 หมื่นหวี โดยส่งวัตถุดิบกล้วยหวีขนาดกลางให้กับแม็คโคร และบริษัท เอ-เบสท์ จำกัด ส่วนตลาดสี่มุมเมือง จะต้องการทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
ทั้งนี้ มีโมเดิร์นเทรดหลายรายมาติดต่อให้ส่งกล้วยหอมไปจำหน่าย ล่าสุดได้เริ่มส่งให้กับบริษัท เอ-เบสท์ จำกัด ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายหนึ่งที่ส่งเข้าจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น ส่วนการส่งออกนั้นค่อนข้างยาก โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น รัสเซียมีมาตรฐานสูง ต้องปลอดสารเคมี และมีเงื่อนไขรายละเอียดมาก อย่างไรก็ตาม เฉพาะตลาดในประเทศก็ยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ
"อำเภอหนองเสือตอนนี้ กล้วยหอมคือสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้มากที่สุด มูลค่าตลาดรวมแล้วน่าจะแตะระดับพันล้านบาท ส่วนหนึ่งเพราะมีการขายเข้าโมเดิร์นเทรด ทั้งแม็คโคร บิ๊กซี เทสโก้ โลตัส มีสาขาทั่วประเทศ ทำให้คนเข้าถึงกล้วยหอมมากขึ้น ยิ่งตอนหลังในเซเว่นอีเลฟเว่นมีขายเป็นลูก ๆทำให้ช่องทางขายยิ่งมากขึ้น ที่สำคัญรายได้นี้ทำให้ชาวสวนอยู่ได้ กล้วยหอมถึงได้บูมมาก"
อย่างไรก็ตาม การปลูกกล้วยก็มีความเสี่ยงคือ ลมแรงพัดมาจะเสียหายหมด และล่าสุดเป็นครั้งแรกที่เจอภัยแล้ง หลายสวนแทบไม่รอด ทำให้ผลผลิตหายไป 30% หน่อกล้วยก็ขาดแคลน ช่วงนี้หากใครมีหน่อกล้วย 1-2 แสนหน่อ สามารถขายได้ในราคา 1-3 บาท
นายมานะ บุญสร้าง หัวหน้าฝ่ายการตลาด สหกรณ์การเกษตรท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้ราคากล้วยหอมทองปรับตัวสูงขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปี 2557 เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยจากปัญหาภัยแล้ง และดีมานด์ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
กล้วยหอมทองเป็นผลไม้ที่สามารถปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ของไทย ใช้เวลาราว 9 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ส่วนใหญ่จะปลูกมากในพื้นที่ภาคกลาง โดยข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2556 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทั้งประเทศ 86,270 ไร่ มีผลผลิตรวม 234,220 ตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 232,689 ตัน ส่งออกต่างประเทศ 1,531 ตัน มูลค่าการส่งออกกว่า 46.07 ล้านบาท
แหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคกลาง โดย 5 จังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมมากที่สุด 5 อันดับแรกในปี 2556 คือ จังหวัดปทุมธานี 14,170.5 ไร่ จังหวัดเพชรบุรี 8,956 ไร่ จังหวัดชุมพร 8,507 ไร่จังหวัดสระบุรี 3,997 ไร่ และจังหวัดหนองคาย 3,254 ไร่
ทั้งนี้ จังหวัด "ปทุมธานี" ถือเป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยในปี 2556 มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอม 14,170.5 ไร่โดยมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ที่ดินเป็นดินเหนียว มีระบบชลประทานทั่วถึง ทำให้เหมาะกับการปลูกกล้วยหอม หรือพืชชนิดอื่น ๆ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับตลาดค้าส่งผักผลไม้ขนาดใหญ่ทั้งตลาดไท ตลาดสี่มุมเมืองการขนส่งจึงสะดวกสบาย ผลผลิตเสียหายน้อย
ขณะเดียวกัน การปลูกกล้วยในปทุมธานีก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยตั้งแต่ปี 2553-2556 เป็นต้นมา พื้นที่เพาะปลูกกล้วยหอมในปทุมธานีเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 95 รวมทั้งจำนวนเกษตรกรที่หันมาปลูกกล้วยหอมเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 โดยปลูกมากที่สุดในอำเภอ "หนองเสือ" จำนวน 14,170.5 ไร่ ในปี 2556 และมีเกษตรกรจำนวน 701 ราย
ผลผลิตกล้วยหอมทองจากจังหวัดปทุมธานีจะป้อนเข้าสู่ตลาดในประเทศทั้งตลาค้าส่ง โมเดิร์นเทรด ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีความต้องการจำนวนมากทั้งยังส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาจับจอง ขอซื้อกันถึงในสวนจนผลิตไม่ทัน
"เฉลิมชัย เณรเถื่อน" เจ้าของฟาร์มกล้วยหอม วัน บานาน่า และผู้จัดจำหน่ายกล้วยหอมในเทสโก้ โลตัส บอกกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พื้นที่ปลูกกล้วยหอมของวัน บานาน่า ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี บริเวณคลอง 9 คลอง 10 และที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งหมดประมาณ 1,700 ไร่ มีผลผลิตราว 150 ตันต่อเดือน ซึ่งผลผลิตทั้งหมดจะส่งเข้าศูนย์กระจายสินค้าเพื่อวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด โดยปัจจุบันความนิยมบริโภคกล้วยหอมเพิ่มขึ้นมาก จนผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ
"พยายามปลูกให้ได้เดือนละ 100 ไร่เพื่อให้มีผลผลิตตลอดทั้งปี และมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้ามาเป็นคู่สัญญาส่งผลผลิตให้มากขึ้น และเมื่อใกล้ช่วงสารทจีนจะเพิ่มพื้นที่ปลูกเป็น 300-400 ไร่ เพราะความต้องการในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นหลายเท่า และอนาคตตลาดกล้วยหอมทองจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะราคามีแนวโน้มที่ดีอีกทั้งขณะนี้ผู้คนยังนิยมรับประทานกล้วยมากขึ้นจากเทรนด์สุขภาพที่มาแรง"
"เฉลิมชัย" ยังบอกอีกว่า ขณะนี้ตลาดต่างประเทศก็ยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสวนกล้วยหอมของวัน บานาน่า ที่ปทุมธานี มีบริษัทญี่ปุ่น 3 รายที่เข้ามาติดต่อให้ส่งผลผลิตให้ แต่เนื่องจากยังติดเงื่อนไขที่จะต้องปลูกแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมี ซึ่งปลูกค่อนข้างลำบาก จึงอยู่ระหว่างการพิจารณา
ขณะที่จังหวัดลพบุรีที่แม้จะมีพื้นที่ปลูกไม่มากนัก แต่กล้วยหอมจากที่นี่มีรสชาติดีเนื้อแน่น เหนียวอร่อยเป็นพิเศษ ทำให้มีความต้องการสูง มีวางขายในตลาดไทเพียงแห่งเดียวเท่านั้น โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอม 2,795 ไร่ อยู่ในบริเวณอำเภอเมือง 695 ไร่ และอำเภอบ้านหมี่ 2,100 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 22,500 กก. และยังไม่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ
ตลาดกล้วยหอมจึงไม่ใช่ตลาดเล็ก ๆ กล้วย ๆ เพราะแม้จะปลูกได้ทุกที่ทั่วไทย แต่ก็ยังไม่พอขาย