4 ขั้นตอนวางแผนการเงิน ที่คนธรรมดาอย่างเราต้องรู้
น้องมั่งคั่ง : พี่มั่นคงคะ…พี่ว่าทำไมคนเราถึงมีปัญหาด้านการเงินล่ะคะ?
พี่มั่นคง : เท่าที่พบมา ส่วนใหญ่เป็นเพราะไม่ได้มีการวางแผนการเงินเอาไว้ไงครับน้องมั่งคั่ง
มีหลายคนหลังไมค์มาคุยกับมั่นคงมากมายเลยครับ ตั้งแต่น้องๆ นักศึกษาที่อยากจะเก็บเงิน ไปจนถึงคนทำงานวัย 40 ที่เริ่มกังวลกับอนาคตตัวเองหลังเกษียณที่ไม่ได้มีรายได้แล้ว
รู้ไหมครับ ว่าสาเหตุของปัญหาด้านการเงินส่วนใหญ่นั้น มาจากการขาดความรู้และความเข้าใจในเรื่องการวางแผนการเงินนี่แหละครับ เหมือนคนเดินทางที่ไม่มีแผนที่ ไปไกลแค่ไหนก็ไม่ถึงจุดหมาย
เมื่อพูดถึงคำว่า การวางแผนการเงิน หลายๆคนคงทำหน้าตามู่ทู่พร้อมกับเกาหัวจนผมฟูแล้วบอกว่า โอ้ยย มันเป็นเรื่องยากแสนยาก ยิ่งสมัยนี้ก็มีแต่คำว่า อิสระภาพทางการเงิน ที่ได้ยินกันบ่อยๆ ซึ่งก็ฟังดูดีนะ… แต่เอาจริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยจะเข้าใจสักเท่าไร
แต่เดี๋ยวก่อน!! อย่าเพิ่งคิดว่าเรื่องการวางแผนการเงินเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกๆคน #เราเองก็เช่นกัน เพราะทุกเป้าหมายชีวิตที่เราวางไว้…หากขาดกำลังทรัพย์ที่เพียงพอและมั่นคง ก็คงจะไปไม่ถึง
วันนี้เรามีเทคนิคง่ายๆ มาฝาก
อยากจะให้ทุกคนลืมคำว่า “เงิน” ไปก่อน แล้วเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับคำถามที่ว่า “เป้าหมาย” ที่เราต้องการนั้นมันคืออะไร?
เมื่อได้เป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว เราค่อยมาพิจารณาในเรื่องของ “เงิน” กันต่อไป ว่าเป้าหมายที่เราต้องการนั้น ต้องใช้เงินเท่าไร แล้วคำตอบนั้นจะบอกเราได้ทันทีว่าต้องเริ่ม “วางแผน” อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ
ถ้าเป้าหมายของเราคือ อยากจะมีเงินไว้ใช้จ่ายและท่องเที่ยวเมื่อยามเกษียณจำนวน 10 ล้านบาท เราต้องเริ่มคิดว่าจะหาเงิน 10 ล้านบาทมาด้วยวิธีไหน (เก็บสะสมรายได้จากการทำงาน, หาอาชีพเสริม หรือ เพิ่มรายได้ด้วยการลงทุน) แล้วจะเพิ่มมูลค่าเงินก้อนนั้นอย่างไร (เพิ่มประสบการณ์จากการทำงาน ให้ตัวเองมีมูลค่ามากขึ้น, เวลา หรือ ผลตอบแทน)
ดังนั้น การวางแผนการเงิน คือ จุดเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมด้านการเงินให้กับทุกเป้าหมายของชีวิต โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้านสำคัญ ดังนี้
สร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) เริ่มต้นการสร้างความมั่งคั่งง่ายๆ จากการวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ไปจนถึงการจัดการหนี้สิน
ปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) เตรียมการรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เพื่อรักษาความมั่งคั่งให้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต อย่างเช่น การทำประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยง และการวางแผนเกษียณ
สะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) เพิ่มความมั่งคั่งโดยการวางแผนลงทุนเพื่อเพิ่มผลตอบแทน และการวางแผนภาษี เพื่อให้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น
ส่งต่อความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการส่งมอบความมั่งคั่งให้กับทายาทหรือครอบครัวของเราด้วยวิธีการวางแผนมรดก
เราจะเห็นว่า 4 ด้านของการวางแผนการเงินนั้นจะสอดคล้องกับ “เป้าหมาย” ในการใช้ชีวิตของเราทุกๆคน ซึ่งจะต้อง “วางแผน” ที่ตอบโจทย์ เหมาะสมกับปัจจัยและความต้องการของแต่ละคน ในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกันไป
ดังนั้น การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นง่ายๆ จากการวางแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ด้วยการเริ่มจดบันทึก ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง รวมถึงการบริหารจัดการภาระหนี้สินที่มีให้ครบถ้วน และการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อต่อยอดสะสมความมั่งคั่ง เรื่องเหล่านี้ เรามักจะได้ยินผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมากมายพูดกันเป็นประจำ แต่เชื่อไหมว่า ข้อผิดพลาดในการวางแผนการเงินที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกันไปนั้น คือการปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) โดยคิดว่าไม่ใช่เรื่องความสำคัญ หรือยังไม่จำเป็นต่อชีวิต
ลองสังเกตดูง่ายๆ ว่าหลายๆ คนที่อยู่ในช่วงชีวิตการทำงาน มุ่งมั่นหาเงิน เพื่อให้มีรายได้จำนวนมากมาดูแลครอบครัว แต่กลับลืมไปว่า…ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ที่ทำให้ร่างกายไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงดูใครได้อีก…แล้วตัวเราเองและคนที่พึ่งพาเราอยู่จะทำอย่างไร หรือแม้แต่เรื่องที่ใกล้ตัวอย่างโรคภัยและความเจ็บป่วย หากไม่มีการวางแผนเพื่อ “ป้องกันความเสี่ยง” และ “ปกป้องรายได้” ไว้ นอกจากจะกระทบกับเป้าหมายในชีวิตที่วางไว้แล้ว ยังอาจสูญเสียเงินทองที่เก็บออมมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย
น้องมั่งคั่ง : พี่มั่นคงค่ะ แสดงว่าการสร้างความมั่งคั่งที่ถูกต้อง ไม่ได้เกิดจากการที่สามารถหารายได้จำนวนมาก หรือแม้แต่การบริหารจัดการเงิน หรือความชาญฉลาดในการลงทุนเพียงด้านเดียวใช่มั๊ยค่ะ
พี่มั่นคง : ใช่แล้ว การสร้างความมั่งคั่งอย่างมั่นคง เราต้องวางแผนการเงินให้รอบด้าน…รู้จักหาแล้ว ยังต้องรู้จักปกป้อง และโอนถ่ายความเสี่ยงอีกด้วย เพราะถ้าด้านใดด้านหนึ่งขาดหายไป ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิต และเป้าหมายที่วางไว้ด้วยเช่นกันครับ