ซีพีเอฟดันชาวนาปลูกกล้วยหอม "อดิเรก" ชี้ดีมานด์ทั่วโลกพุ่ง "อีโตชู" ญี่ปุ่นรับซื้อไม่อั้น
"อีโตชู" หารือซีพีเอฟลุยส่งเสริมเกษตรกรปลูกกล้วยหอมในอาเซียน เผยผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการทั่วโลก ชี้ไทยควรลดพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกกล้วยหอมเพิ่มมูลค่าแทน รวมทั้งทุเรียนปลูกเพิ่มอีก 10 เท่าก็ไม่ล้นตลาด "อดิเรก ศรีประทักษ์" ระบุลดค่าเงินหยวน 3% ยังไม่น่าวิตก
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางบริษัท อีโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ITOCHU ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ซีพีเอฟเข้าไปถือหุ้นและบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของบริษัท โดล เอเซียได้มาหารือกับทางซีพีเอฟและแจ้งความประสงค์ว่า ปัจจุบันทางบริษัทมีความต้องการผลผลิตกล้วยหอมจำนวนมาก เพื่อส่งออกไปขายยังหลายประเทศทั่วโลก แต่ไม่สามารถหาปริมาณผลผลิตได้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น
โดยทางอีโตชูได้ขอให้ทางกลุ่มซีพีช่วยสนับสนุนการปลูกกล้วยหอมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งผลผลิตป้อนให้กับทางอีโตชู ซึ่งขณะนี้ทางซีพีกำลังพิจารณาว่าจะสนับสนุนการปลูกกล้วยหอมในพื้นที่ประเทศไทย เมียนมา หรือในกัมพูชา
"ตอนนี้เรากำลังดูว่าจะปลูกในเมืองไทย ปลูกในเมียนมา หรือปลูกในกัมพูชาดี โดยทางอีโตชูมาแนะนำเราว่า พื้นที่ที่ทำนาของเมืองไทยเยอะมาก น่าจะให้ลดพื้นที่ทำนามาปลูกกล้วยหอมให้ผมดีกว่า ผมเห็นว่าคนไทยเราต้องกล้าเปลี่ยน หรืออย่างทุเรียนที่หลายประเทศเพื่อนบ้านยังปลูกไม่ได้ หรือปลูกได้ไม่ดี เราควรจะหันมาส่งเสริมการปลูกเช่นกัน จะเห็นได้ว่าทุเรียนปีนี้มีราคาแพงมาก เชื่อเถอะว่า หากประเทศไทยปลูกทุเรียนเพิ่มอีก 10 เท่าของผลผลิตปัจจุบัน ยังผลิตได้ไม่พอให้คนจีนกิน จะปลูกอย่างไร
นายอดิเรกกล่าวต่อไปว่า ต่อไปการขายสินค้าเกษตรกรต้องพยายามทำสิ่งที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน สินค้าของซีพีเอฟจะพยายามสร้างมูลค่าเพิ่ม คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาแปรรูป ยกตัวอย่าง การขายเนื้อไก่ เนื้อสุกร ซีพีเอฟต้องปรับตัว จะไม่ขายเนื้อไก่ธรรมดา ต้องแปรรูปปรุงรสสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น แทนที่จะขายเนื้อหมูคูโรบูตะหมักซอสแช่แข็ง
ต่อไปต้องพัฒนาเมนูต่าง ๆ ขึ้นไป อาจจะมีการนำเนื้อไก่ยัดไส้หมูคูโรบุตะทำสำเร็จรูปและขายแพ็กเกจเล็ก ๆ พร้อมน้ำซอส สมมุติไปเสิร์ฟในร้านอาหารฝรั่งเศส ปกติราคาขาย 700 บาท แต่เมื่อซีพีเอฟนำมาผลิตเป็นอุตสาหกรรมราคาขายส่งจะเหลือเพียง 200 บาท เป็นต้น
"ในอดีตประเทศไทยส่งออกสินค้าไปขายทั่วโลก โดยอาศัยค่าแรงงานถูก ๆ แต่วันนี้หมดยุคนั้นไปแล้ว เพราะประเทศเกิดใหม่แรงงานถูกกว่าไทย ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ดังนั้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากจึงมีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศเหล่านั้น หากอุตสาหกรรมไทยไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ อุตสาหกรรมไทยต้องปรับตัวไปขายฝีมือ ขายสินค้าที่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสร้างความแตกต่าง หรือสร้างคุณภาพที่แตกต่างออกไป จะไปผลิตสินค้าพื้น ๆ แบบเดิมไม่ได้แล้ว ฉะนั้นเรื่องนวัตกรรมการคิดค้นสินค้าใหม่ ๆ ที่ตรงกับความต้องการของตลาด ที่ผู้ผลิตเพื่อนบ้านยังไม่ได้ทำ ถึงจะเติบโตได้
นายอดิเรกกล่าวถึงกรณีการลดค่าเงินหยวนของจีนว่า ทางซีพีเอฟได้มีการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้กับผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกตรงกันว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ เพียงแต่ข่าวลงสร้างกระแสให้ตื่นตกใจจนเกินเหตุ หากมองย้อนหลังไป 5 ปี เงินหยวนกับเงินดอลลาร์จะเห็นได้ว่า ค่าเงินหยวนแข็งกว่าเงินดอลลาร์ 10% และรอบนี้จีนลดค่าเงินหยวนไป 3% จริง ๆ แล้วเกือบจะเรียกว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ขณะที่เงินสกุลอื่น ๆ ในโลกนี้มีการปรับลดอ่อนค่าไปก่อนหน้านี้มากแล้ว ขณะที่ค่าเงินบาทที่ผ่านมาอ่อนค่าไป 5-6% เท่ากับไทยยังได้เปรียบจีนถึง 3%
"หากจีนจะรักษาค่าเงินระดับตรงนี้ หรือจะลดลงอีกเล็กน้อย ผมว่า ก็ยังไม่ได้ซีเรียสอะไร" นายอดิเรกกล่าว