ลุ้นบาททะลุ40ต่อดอลล์ ปลายปี′59 เหตุสงครามค่าเงินรีเทิร์น
แบงก์ซีไอเอ็มบี ชี้การฟื้นฟูเศรษฐกิจติดปัญหารายได้ต่ำ ขาดสภาพคล่อง ต้องฟื้นเชื่้อมั่น และเข้ายุคสังคมสูงวัย ทำให้เศรษฐกิจปี 58-59 โตแผ่ว หั่นจีพีดีเหลือ 2.5% ปีหน้าขยับแค่ 3.3% วิเคราะห์ธปทหันใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแทนการเงิน เพื่อพยุงส่งออกและรับมือสงครามค่าเงินอ่อนปะทุรอบใหม่ โอกาสบาทอ่อนต่อเนื่องอาจถึง 40 บาท แนะนักลงทุนเตรียมพร้อมรับมือ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ 4 กับดักสำคัญ ที่ฉุดรั้งการฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วย 1.กับดักรายได้ปานกลาง 2.กับดักทางการเงินและสภาพคล่อง ซึ่งสินเชื่อเพื่อการลงทุนและการบริโภคไม่ได้เติบโต 3.กับดักความเชื่อมั่น จากความเชื่อมั่นยังไม่กลับมา และ4.กับดักด้านประชากร คือปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงาน ที่จะมีผลทำให้จีดีพีโตต่ำลงจากปัจจุบันได้อีก
โดยวิธีที่จะสามารถหลุดพ้นจากกับดักดังกล่าวได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจำเป็นต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แทนนโยบายการเงินที่ทำได้เพียงรักษาเสถียรภาพ แต่ไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้นักลงทุนต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือ
นายอมรเทพกล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาท มีโอกาสอ่อนแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปีนี้และอาจถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปี 2559 ถ้า ธปท.ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวนำการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งออก แทนนโยบายอัตราดอกเบี้ย ที่คาดทั้งปีนี้คงดอกเบี้ย 1.50% และมีโอกาสปรับขึ้นเป็น 1.75% ในปลายปีหน้า โดยคาดว่าส่งออกปีนี้ติดลบ 4%
และหากสงครามค่าเงินปะทุอีกครั้ง หลังจากจีนลดค่าเงินหยวน เวียดนามลดค่าเงินดอง ประเทศที่กำลังพัฒนาลดค่าเงินลงอีก จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าถึงระดับ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปี 2559 ซึ่งต้องระวังปัจจัยเสี่ยงเดือนกันยายน ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลื่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลระยะสั้นให้เงินลงทุนไหลกลับเข้ามาในตลาดทุนอีกครั้ง ทำให้เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้
ดังนั้น ผู้ส่งออกต้องป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน การปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทยและทั่วโลก ตอนนี้ เกิดจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่เชื่อว่าเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง เชื่อว่าไทยยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อการผลิต
"การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ สำนักวิจัยฯ คาดว่าจะโต 2.5% ต่ำกว่าเดิมคาดไว้ 3.3% และปีหน้าโต 3.3% โดยในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ เศรษฐกิจจะโตได้เพียง 2.1% จากช่วงครึ่งปีแรกโต 2.9% หากเปรียบเทียบการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาสเศรษฐกิจไทยใกล้เคียงภาวะชะงักงันและอาจจะแผ่วลง ส่วนนโยบายคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ คงต้องรอดูนโยบายจากภาครัฐให้ออกมาเรียบร้อยก่อน
แต่มองว่ารัฐบาลควรสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพ เช่น นำเข้าเครื่องจักร สร้างความเชื่อมั่นการลงทุน เสริมสร้างการจ้างงาน และดึงแรงงานจากภาคเกษตรกลับสู่ภาคอุตสาหกรรมและการบริการ" นายอมรเทพกล่าว