อาชีพฟรีแลนซ์ในมุมของ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
วันที่ 3 กันยายน ที่จะถึงนี้ คอหนังไทย แฟน GTH คงจะไม่พลาดกับการเข้าชม ภาพยนตร์เรื่อง “ฟรีแลนซ์ห้ามป่วย.. ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ” ฝีมือผู้กำกับหนุ่ม “เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์” ที่สร้างผลงานการเขียนบทภาพยนตร์ อาทิ รถไฟฟ้า..มาหานะเธอ (2552) TOP SECRET วัยรุ่นพันล้าน (2554) และ รัก 7 ปี ดี 7 หน (2555) มาแล้ว แต่ครั้งนี้ หนุ่มเต๋อ ได้นั่งกำกับเต็มตัว
อยากทราบที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องฟรีแลนซ์ “ห้ามป่วย..ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ”
มาจากตัวเองที่ทำงานฟรีแลนซ์ บวกกับเรื่องราวของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่ง เมื่อเข้าไปดูบรรยากาศ น่าจะเป็นหนังรักได้ ห้องตรวจเล็ก ๆ คนไข้ต้องรอเจอหมอเดือนละครั้ง ผมมีความรู้สึกว่า คนทำฟรีแลนซ์ หรือคนทำงานหนัก ประมาณอายุ 30 มันก็ต้องเจอ เป็นโรคกันสักนิด สักหน่อย เรื่องปัญหาสุขภาพ มันเกี่ยวพันกัน ก็เลยคิดเอาเรื่องฟรีแลนซ์ เรื่องโรงพยาบาลรัฐ และเรื่องหมอ มารวมกัน
ภาพรวมของภาพยนตร์เรื่องนี้
ก็ประมาณว่า พระเอกเรื่องนี้ คือ ยุ่น ทำงานฟรีแลนซ์ วันหนึ่งเมื่อไม่สบายก็ไปหาหมอ ตารางการทำงานเขาแน่นมาก เมื่อต้องไปหาหมอ คือการสละชีวิตไปหา ซึ่งหมอที่เขาเจอ เขารู้สึกชอบ ก็เริ่มจะขัดแย้งกันแล้วว่า ถ้าไปหาหมอก็จะเสียเวลาทำงาน ถ้าทำงาน ก็จะไม่มีโอกาสมาเจอหมอ
“ห้ามป่วย.. ห้ามพัก.. ห้ามรักหมอ” จะสื่อว่าอะไร
จริง ๆ ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ มันก็คือ ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามตาย เอาคำนี้มาเล่น อะไรทำนองนี้ เป็นกฎของฟรีแลนซ์ ที่ต้องทำให้เสร็จให้ได้ในเวลาที่กำหนด ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แต่ในหนัง มันก็จะมี Story ของความรักหมอ ในหนังก็เลยเอาปรัชญาของฟรีแลนซ์ มาบิดอีกทีหนึ่ง
ผู้ชมได้อะไรจากเรื่องนี้
ผมคิดว่า ยุคนี้ คนรู้จักฟรีแลนซ์มากขึ้น เป็นยุคของ SME เราออกมาทำร้านกันเอง แต่ยังไม่เห็นโลกจริง ๆ ของฟรีแลนซ์ มากเท่าไหร่ หมายถึงว่า หลายคนก็มองว่า เราลาออกจากงานมาเปิดร้านกัน โดยไม่ได้มองว่า เป็นเรื่องยากอะไร ซึ่งในหนังก็ระบุอาชีพไปว่า เป็น Retoucher ไม่ได้ครอบคลุม แต่ผมเชื่อว่า คนที่เป็นฟรีแลนซ์ ก็จะเจอปัญหาคล้าย ๆ กัน
สำหรับผม การทำงานฟรีแลนซ์ กับ งานประจำ มันยากกันคนละแบบ มันมี Conditions ของมัน แต่ว่า ถ้าเป็นฟรีแลนซ์ คุณจะต้องควบคุมตนเอง ผมคิดว่า ไม่ว่าใครจะทำอาชีพอะไร จะต้องมี Mind Set ของการบริหาร Management ได้นิดนึง ต้องรู้จักวิธีการจัดการธุรกิจด้วย เพราะมันก็คือ ธุรกิจ นั่นแหละ เราต้องคิดหน้า คิดหลัง
ถ้าคุณทำการค้า ทุกอย่างจะเป็นออโต้อยู่แล้ว คือ ซื้อของจากไหน อย่างไร เปิดร้านตรงไหน แต่ว่าพวกแบบผม หรือสายทำหนัง ทำเพลง ศิลปะ บางทีอาจจะลืมว่า อาจจะต้องวางแผน ไม่ใช่ว่าช่วงนี้ไม่มีอารมณ์ทำ ไม่ทำดีกกว่า ไม่รับงานดีกว่า นัดงานแล้วก็ต้องส่ง ไม่มีการเลื่อน ถ้าอยากจะทำเป็นอาชีพนะครับ แต่บางคนที่คิดว่า ที่ทำงานศิลปะ ทำเป็นงานอดิเรก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากคุณคิดว่า มันเป็นอาชีพ คุณต้องบริหารให้ได้ คุณเป็น Boss ของตนเอง ต้องบังคับตนเองให้ได้
ความคาดหวังจากภาพยนตร์เรื่องนี้
ผมไม่ได้ตั้ง ผมไม่รู้ว่า พี่ ๆ เขาตั้งหรือเปล่า ผมหวังแค่ว่า แค่เท่าทุนก็พอ ใช้เวลาถ่ายทำประมาณ 4-5 เดือน แต่ก็มีการเขียนบทก่อนหน้านั้น ประมาณปีนึง
ก็หวังว่า ผู้ชมทั่วไปจะสนุกกับหนังเรื่องนี้ คนที่ไม่ได้เป็นฟรีแลนซ์ ก็สามารถที่จะดูได้ ในหนังดูเป็นหนังรักได้ ดราม่าก็ได้ แล้วแต่คนชอบ มันมีอะไรหลายอย่างอยู่ในนั้น
มุมมองคุณเต๋อ กับงานฟรีแลนซ์
มันเป็นไปตามธรรมชาติ อย่างตอนที่ผมเรียนจบ ผมเพียงแค่คิดว่า อยากทำงานเกี่ยวกับสายหนัง เลยเริ่มทำจากฟรีแลนซ์ เรื่องการถ่ายวิดีโอ ตัดต่อ เขียนสคริปต์บ้าง สำหรับผม มันก็เลยเป็นไปแบบธรรมชาติ ปีแรก ๆ ของการเป็นฟรีแลนซ์จะหนักมาก ทำงานตรงนี้ คนก็ไม่รู้จักเรา เราก็เลยต้องทำ ๆ ไปก่อน ต้องพยายามบริหารจัดการงานที่เรารัก สามารถเลี้ยงดูเราไปได้ด้วย บ้านผมเป็นบ้านกลาง ๆ แต่ว่า การที่เราเติบโตในครอบครัวแบบนี้ ทำให้เราคิดบริหารไปด้วย ไม่ใช่ว่า เราจะทำตามความฝันขนาดนั้น เราแค่คิดว่า เราจะทำความฝันและสามารถเป็นอาชีพจริง ๆ ได้ด้วย ผมเริ่มทำฟรีแลนซ์ มาประมาณ 10 ปีได้แล้ว หลังจากเรียนจบ
ผมคิดว่า ผมมาถึงในจุดที่ผมหวังแล้ว มันสบายกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วเยอะมาก ยังได้มีโอกาสทำในสิ่งที่ชอบอยู่ มีให้ทำเยอะขึ้นด้วยซ้ำ อยากจะบอกน้องเพิ่มเติม ว่าจะต้องอดทน ไม่มีฟรีแลนซ์ไหนที่สบายหรอก กว่าที่มันจะลงตัว มันต้องทน สองปีแรกอาจจะไม่ได้อะไรเลยก็ได้ แต่มันก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น