ธุรกิจอับแสง"อิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอ"ทยอยเลิกจ้าง

ธุรกิจอับแสง"อิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอ"ทยอยเลิกจ้าง

ธุรกิจอับแสง"อิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอ"ทยอยเลิกจ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครึ่ง ปีหลังยังไม่มีข่าวดี ซัมซุง-โรงงานทยอยเลิกจ้าง เผยอิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอไทยโดนต้อนเข้ามุม จีน-อินเดียฉกออร์เดอร์ส่งออก เอสเอ็มอีโคม่า แบงก์ไม่ปล่อยกู้ เล็งปลดคนเพิ่ม โคราชเผยสถิติ 7 เดือนแรกโรงงานเลิกมากกว่าตั้งใหม่ สภาอุตฯ ชี้ตลาดยังไปได้แต่ภาพลักษณ์ตกต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องปรับตัวด้วยการเลิกจ้างพนักงานต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้บริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ นครราชสีมา จำกัด ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 1,000 ตำแหน่ง เมื่อกลางเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมเลิกจ้างเพิ่มอีก 800 คนภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้

จากการ สำรวจภาพรวมพบว่า มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตเลนส์กล้อง-ฮาร์ดดิสก์ ที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เลือกใช้วิธีการปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานชั่วคราว โดยดำเนินการตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้พนักงานหยุดงาน แต่ยังคงจ่ายค่าจ้างในอัตรา 75% ของเงินเดือน และมีกำหนดระยะเวลาการหยุดงานจนกว่าจะมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา จึงให้พนักงานกลับมาทำงานตามปกติ

ซัมซุงทยอยปิดโรงงาน

ทั้งนี้ สถานการณ์ล่าสุด โรงงานซัมซุงที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีนโยบายเลิกจ้างเช่นเดียวกัน แหล่งข่าวจากบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ปลดพนักงานประมาณ 300 คน โดยมีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพื่อลดต้นทุนดำเนินงานเนื่องจากสินค้าหลัก ๆ ที่ผลิต อาทิ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หรือจูนเนอร์สำหรับทีวีมี กำไรน้อยมาก

ที่ผ่านมาซัมซุงได้ย้ายโรงงานประกอบทีวีจากศรีราชาไป ประเทศเวียดนามแล้ว เนื่องจากชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์รับส่งสัญญาณ บลูทูท ไวไฟสำหรับโทรศัพท์มือถือ ซัมซุงมีโรงงานอยู่ในเวียดนามอยู่แล้ว การย้ายฐานการผลิตจากไทยไปรวมกันที่เวียดนามเป็นการบริหารจัดการซัพพลายเชน โดยตรง ประเด็นสำคัญยังรวมถึงค่าจ้างแรงงานในเวียดนามก็ถูกกว่าไทย

"ตอนนี้ที่โรงงานยังเหลือพนักงาน 500 คน อยู่ระหว่างเตรียมการ และท้ายที่สุดก็คงจะปิดโรงงานในไทยย้ายไปเวียดนามทั้งหมด" แหล่งข่าวกล่าว

จีน-อินเดียฉกลูกค้าส่งออก

นาย โชดรี อัมจั๊ด ไอดีส กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์ ซินเธติค ยานส์ จำกัด ผู้ผลิตพรมและเฟอร์นิเจอร์ส่งออกในนิคมอุตสาหกรรมสุรนารี กล่าวว่า ปัจจุบันลูกค้ายกเลิกออร์เดอร์เกือบ 50% โดยหันไปสั่งสินค้าจากอินเดียและจีนแทน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า ทำให้บริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียน ต้องหยุดเดินเครื่องจักรในการผลิตลงไปครึ่งหนึ่ง ปรับลดการทำงานจากเดิมวันละ 24 ชั่วโมง เหลือวันละ 8 ชั่วโมง ไม่มีโอทีหรือค่าล่วงเวลา

"เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเราถูกลูกค้ารายใหญ่ จากสวีเดนยกเลิกออร์เดอร์ทันที 50% คิดเป็นเงินลดลงเดือนละ 16 ล้านบาท จึงปรับตัวไม่ทัน ต้องลดการผลิตลงครึ่งหนึ่ง ทำให้พนักงานฝ่ายผลิตมีรายได้ลดลง และทยอยลาออกไปแล้ว 120 คน จาก 250 คน"

นายโชดรีกล่าวยอมรับว่า บริษัทกำลังประสบปัญหาเพราะขอสินเชื่อเพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนใน กิจการ แต่สถาบันการเงินปฏิเสธ ขณะเดียวกันก็พยายามหาลูกค้ารายใหม่แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ หากเป็นเช่นนี้อีก 3 เดือนคงต้องเลิกจ้างพนักงานอีกครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เหลืออยู่

จับตาอิเล็กทรอนิกส์-สิ่งทอ

นาย อารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้างของบริษัทซัมซุงว่า ขณะนี้ยังเป็นเพียงการปลดพนักงานบางส่วนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อบ่งชี้ที่น่ากังวล กระทรวงแรงงานจะติดตามและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ

"กรณี การผลิตฮาร์ดดิสก์และอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอุตฯที่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ หลาย ๆ ฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ที่

โรงงานเลิกจ้างพนักงานอาจสืบเนื่องจากการ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เศรษฐกิจถดถอย การเมืองภายใน ตามมุมมองของผมคิดว่าไม่ใช่ ปัจจัยหลักน่าจะมาจากการปรับตัวของอุตฯแต่ละประเภท จะทำอย่างไรให้สินค้าขายได้อย่างต่อเนื่องมากกว่า"

โคราชขอเลิกมากกว่าตั้งใหม่

นาย ประชา มีธรรม อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถิติ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2558) มีโรงงานอุตฯตั้งใหม่ 40 ราย เลิกกิจการ 60 ราย แบ่งเป็นเดือน ก.ค. 58 มีบริษัทขนาดเล็กเลิกกิจการ 5 ราย เงินลงทุน 24.95 ล้านบาท กับมีโรงงานขออนุญาตตั้งใหม่ 10 ราย เงินลงทุน 712.57 ล้านบาท จ้างแรงงาน 330 คน อาทิ บจก.โตโยต้าเป็นหนึ่ง ประกอบกิจการซ่อมและเคาะพ่นสีรถยนต์ เงินลงทุน 330 ล้านบาท, บจก.เจวีซี ออพติคัล คอมโพเน้นท์ส (ประเทศไทย) ประกอบกิจการผลิตและประกอบกล้องบันทึกภาพและเสียง พร้อมชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุน 198.36 ล้านบาท, บจก.อีทีซี ไบโอพาวเวอร์ ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า เงินลงทุน 80 ล้านบาท เป็นต้น

กรณี ของบริษัทผลิตพรมใยสังเคราะห์นั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้เข้าไปช่วยเหลือแล้ว มี 3 มาตรการ คือ 1.ช่วยหาแหล่งเงินทุนโดยการจดทะเบียนเครื่องจักรใหม่ ขณะนี้กำลังรวบรวมเอกสารเพื่อยื่นขอเพิ่มหลักทรัพย์ให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น ในลักษณะการจดกรรมสิทธิ์และจดจำนอง 2.ประสานกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในการทำรีไฟแนนซ์ ซึ่งจะทำเป็นคู่ขนานกับการขอเพิ่มสินเชื่อ 3.เชิญชวนให้บริษัทไปจำหน่ายสินค้าในงานเอ็กซ์โปที่จะจัดขึ้นระหว่าง 22-27 ก.ย.นี้ที่เมืองทองธานี ทางผู้บริหารมีความยินดีและพอใจกับทั้ง 3 มาตรการที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ

ด้านนายวิษณุ ลิ่มวิบูลย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอิเล็กทรอนิกส์เท่าไร นัก เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ซัมซุงผลิตให้ไทยเป็นสัดส่วนที่น้อย สามารถหาจากบริษัทผู้ผลิตรายอื่นมาทดแทนได้ แต่ต้องยอมรับว่า 2 แบรนด์หลักของเกาหลีทั้งซัมซุงและแอลจีที่ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ไทยตกอันดับการส่งออกมาอยู่ที่ 13 จากอันดับที่ 12 ขณะที่เวียดนามขึ้นมาอยู่อันดับ 12 จาก 13

"เราอยากเห็นการส่งออก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นปัจจัยที่จะมาหนุน จากที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตติดลบมากว่า 4 ปีแล้ว ทางกลุ่มได้แต่หวังว่าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ตกลงไปมากกว่านี้ แม้ซัมซุงจะย้ายฐานผลิตทีวี แต่สินค้าหลัก ๆ คือ ตู้เย็นยังคงผลิตที่ไทย และเราก็ยังมีสินค้าตัวอื่นมาทดแทน เช่น จอ LED Lighting ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าทีวี ดังนั้นการเติบโตจะเริ่มดีขึ้นอีก 1 ปีนับจากนี้"

ล่าสุด มีรายงานว่า โรงงานซัมซุงที่ฉะเชิงเทราไม่ได้มีการปลดพนักงาน แต่ใช้วิธีให้พนักงานสมัครใจลาออก โดยให้เหตุผลว่าจะมีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิต และบริษัทซัมซุงจะคงฐานการผลิตที่ฉะเชิงเทราต่อไป ไม่ได้ย้ายไปไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook