เนื้อวัวพุ่งกิโลละ320บ.จีน-เวียดนามกว้านซื้อ ตลาดโคขุนบูม"โพนยางคำ-ศรีวิชัย-กำแพงแสน"

เนื้อวัวพุ่งกิโลละ320บ.จีน-เวียดนามกว้านซื้อ ตลาดโคขุนบูม"โพนยางคำ-ศรีวิชัย-กำแพงแสน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โคเนื้อมีชีวิตเริ่มขาดแคลน พ่อค้าเวียดนาม-จีน ตระเวนกว้านซื้อไม่อั้นส่งกลับประเทศ ดันราคาเนื้อชำแหละหน้าเขียงพุ่งทะลุกิโลกรัมละ 250-320 บาท ตลาดนัดโค-กระบือภาคอีสานสุดคึกคัก พ่อค้าต่างถิ่นเปิดศึกแย่งซื้อนำไปขุนต่อ ฟันกำไรอื้อตัวละ 5,000 บาท ขณะที่สหกรณ์โคขุนโพนยางคำเร่งส่งเสริมเลี้ยงโคแม่พันธุ์ ภาคใต้ปั้นแบรนด์โคศรีวิชัยสำเร็จ ด้านโคขุนกำแพงแสนโกยรายได้120 ล้าน


ปัจจุบันสถานการณ์โคมีชีวิตในประเทศไทยเริ่มขาดแคลน เนื่องจาก 2-3 ปีที่ผ่านมา มีพ่อค้าจากประเทศจีน เวียดนาม เข้ามากว้านซื้อโคจากประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อโคในประเทศไทยก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ราคาเนื้อโคชำแหละในปัจจุบันพุ่งสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 250-320 บาท จึงจำเป็นต้องนำเข้าโคจากเมียนมาและอินเดียเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2556 ไทยนำเข้าโคมีชีวิต 1.8 แสนตัว มูลค่า 525 ล้านบาท

หน้าเขียงสารคามพุ่งโลละ 320

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานจากจังหวัดมหาสารคามว่า มหาสารคามมีการเลี้ยงโคเนื้ออยู่อันดับ 10 ของประเทศ ส่วนใหญ่เลี้ยงโคเนื้อพันธุ์พื้นเมือง และบราห์มัน โดยจากเดิมมีจำนวนมากถึง 2 แสนตัว จากโคทั้งหมดในประเทศ 6 ล้านตัว แต่ด้วยการบริโภคที่สูงขึ้น รวมทั้งมีพ่อค้าต่างถิ่นมากว้านซื้อเพื่อส่งตลาดต่างประเทศ ทำให้การเลี้ยงโคลดลงอยู่ประมาณ 1.2 แสนตัว จากเกษตรกร 3 หมื่นครอบครัว ส่งผลให้ราคาโคมีชีวิตสูงขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ราคาเนื้อโคชำแหละปรับสูงขึ้นตาม

จากการออกสำรวจราคาเนื้อโคชำแหละตามเขียงเนื้อในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคามพบว่า ส่วนใหญ่ราคาขายเนื้อโคชำแหละอยู่ที่กิโลกรัมละ 320 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นราคาที่พุ่งสูงขึ้นจากเดิมช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาราคาอยู่ที่ 130-150 บาท ปรับขึ้นเป็น 200 บาท และพุ่งเป็น 300 บาท และ 320 บาทในปัจจุบัน

แหล่งข่าวจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามเปิดเผยว่า จากราคาที่สูงขึ้นจึงมีโครงการจัดโซนนิ่งส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์ดีป้อนตลาดอาเซียนมาตั้งแต่ปี2557โดยเข้าไปปรับปรุงสายพันธุ์โคที่เกษตรกรเลี้ยงอยู่เดิมให้มีคุณภาพดี เป็นการสร้างรายได้เข้าท้องถิ่น โดยตั้งเป้าผลิตลูกโคปีละ 1 หมื่นตัว มูลค่าไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท เป็นการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วทุกอำเภอ 108 ตำบล


พ่อค้าตระเวนกว้านซื้อโคทั่วอีสาน

นอกจากนั้น ตลาดนัดโค-กระบือ บ้านหันต.เขวา อ.เมือง ซึ่งเปิดซื้อขายทุกวันพุธ พบว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาโคสูงขึ้น มีการซื้อขายโค-กระบือครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 ตัว เงินสะพัดกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป นอกจากพ่อค้าเขียงเนื้อที่มาหาซื้อแล้ว ยังมีกลุ่มพ่อค้าจากจังหวัดพิษณุโลก สุพรรณบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น นำรถพ่วงขนาดใหญ่ 10-20 คัน มาตระเวนรับซื้อโคตามตลาดนัดหลายแห่งในภาคอีสาน เช่น ตลาดนัด อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ตลาดนัดศรีธาตุ จ.อุดรธานี ตลาดนัดชนบท จ.ขอนแก่น ตลาดนัดบ้านบาก จ.ยโสธร เป็นต้น โดยบรรทุกโคได้คันละ 50 ตัวขึ้นไป

นายสำเภา ฉายแสงโฉม พ่อค้าจาก อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า มาตระเวนซื้อโคตามตลาดนัดภาคอีสานเที่ยวละเกือบสิบคันรถ เพื่อนำโคไปขุนต่อ ซึ่งปีนี้ราคาโคตามตลาดนัดภาคอีสานพุ่งสูงขึ้นตัวละ 2,000-3,000 บาท โดยเฉพาะขนาดที่ต้องการจากเดิมปีที่แล้วอยู่ที่ตัวละ 2.5 หมื่นบาท แต่ปีนี้ราคา 2.7-2.8 หมื่นบาท ส่วนโคขนาดใหญ่ราคาอยู่ที่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป แม้ว่าราคาโคจะแพงขึ้น แต่ก็ยังพอมีกำไร เพราะไม่ได้นำไปเชือดขายทันที แต่นำไปเลี้ยงต่ออีก 4 เดือน เพื่อให้ได้น้ำหนักถึง 400 กิโลกรัม จากนั้นจะมีพ่อค้าชาวจีน และเวียดนามมารับซื้อโดยตรง ในราคากิโลกรัมละ 95-100 บาท มีกำไรตัวละ 4,000-5,000 บาท

กระทบแบรนด์ "โพนยางคำ"

ดาบตำรวจปัญญา ประชาชิต ประธานสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด จังหวัดสกลนคร เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สหกรณ์ซื้อโคมีชีวิตภายในประเทศเท่านั้น เพื่อนำมาขุนต่อรวมระยะเวลา 10 เดือน โดยสัดส่วน 80% เป็นโคจากภาคอีสาน อาทิ บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร และอีก 20% ซื้อมาจากนอกพื้นที่ เช่น อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ได้ประสานกับผู้เลี้ยงโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร แต่ไม่สามารถสู้ราคาพ่อค้าจากเวียดนามที่เข้ามากว้านซื้อโคเพื่อไปจำหน่ายต่างประเทศได้ โดยเสนอราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 120-125 บาท ขณะที่สหกรณ์สามารถซื้อในราคา 105 บาทเท่านั้น

"สหกรณ์ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีโคในระบบปีละ 9 พันกว่าตัว แต่ตอนนี้มีเพียง 7 พันกว่าตัว จึงต้องลดการชำแหละลงจากเดือนละ 600-700 ตัว เหลือ 500-600 ตัว ทำให้ลูกค้าบางรายต้องหันไปซื้อเนื้อวัวจากสหกรณ์อื่น ๆ เช่น สหกรณ์โคขุนหนองสูง จำกัด จังหวัดมุกดาหาร เป็นต้น ในเบื้องต้นได้แก้ปัญหาโดยการส่งเสริมให้สมาชิกของสหกรณ์ที่มีอยู่ราว 4,700 คน หันมาเลี้ยงโคแม่พันธุ์ เป็นโครงการเลี้ยงโคต้นน้ำ โดยสหกรณ์จะผสมเทียมให้ ตอนนี้มีโคแม่พันธุ์กว่า 3,000 ตัวแล้ว"

ดาบตำรวจปัญญากล่าวอีกว่า ความสำเร็จของแบรนด์โพนยางคำ มาจากการผลิตเนื้อที่มีคุณภาพ เริ่มจากผู้ก่อตั้งชาวฝรั่งเศสได้นำโคสายพันธุ์ยุโรปมาผสมกับโคพันธุ์ไทยทำให้เกิดลูกผสม ให้เนื้อที่มีคุณภาพดีมากขึ้น มีไขมันแทรกสูงกว่าเนื้อวัวทั่วไป โดยเน้นตลาดบนเป็นหลัก เช่น โรงแรม และวิลล่ามาร์เก็ต ซึ่งปี 2557 มีกำไรสุทธิ 52 ล้านบาท ปันผลให้กับสมาชิก 50% ของกำไรสุทธิ ส่วนปีนี้ขนาดโคค่อนข้างเล็ก ตั้งเป้ากำไรไว้ประมาณ 30 ล้านบาท

"วันนี้ชื่อโพนยางคำติดตลาด ใครก็ใช้ชื่อนี้โฆษณาได้ เพราะเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ เราจึงกำลังจะเปลี่ยนโลโก้ และจดสิทธิบัตรคาดว่าจะดำเนินการเรียบร้อยก่อนเดือนตุลาคมนี้ โลโก้ใหม่จะมีคำว่า Thai-French เนื้อไทย-ฝรั่งเศส พร้อมโลโก้วัว 2 หัว และปิดท้ายด้วยสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด" ดาบตำรวจปัญญากล่าว

4 จว.ใต้ปั้นแบรนด์โคขุนศรีวิชัย

นายฤชัย วงศ์สุวัตย์ ประธานกรรมการ สหกรณ์โคเนื้อพัทลุง จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี พัทลุง ชุมพร นครศรีธรรมราช) ได้ร่วมมือกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี พัฒนาคุณภาพการแปรรูปเนื้อโคภายใต้แบรนด์ "โคขุนศรีวิชัย" โดยเริ่มส่งผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคตอบรับดีเกินคาด

ในส่วนของสหกรณ์โคเนื้อพัทลุง จำกัด มีการแปรรูปเนื้อแบรนด์โคขุนศรีวิชัยเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก เนื้อแดดเดียว บีทโลฟ ซอสเนื้อ เป็นต้น ราคาตั้งแต่ 70-110 บาท อย่างไรก็ตามยังต้องพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานฮาลาล และ อย. เพื่อเข้าสู่ตลาดเออีซีต่อไป

โคกำแพงแสนบุกซูเปอร์มาร์เก็ต

รศ.ดร.ชัยณรงค์ คันธพนิต ประธานสหกรณ์โคเนื้อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จำกัด เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบันตลาดโคเนื้อขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าเนื้อหมู และเนื้อไก่หลายเท่าตัวแต่การบริโภคในประเทศยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดบนยังมีกำลังซื้อ ลูกค้าเป้าหมายคือ ร้านอาหาร ร้านสเต๊ก ซูเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยตลาดมีความต้องการเนื้อโคขุนพันธุ์กำแพงแสน เฉลี่ย 1,500 ตัวต่อปี มีรายได้รวมประมาณ 120 ล้านบาท

สำหรับจุดเด่นของโคขุนพันธุ์กำแพงแสน คือโตเร็ว ปริมาณเนื้อเยอะ คุณภาพดี น้ำหนักตัวละ 600-700 กิโลกรัม อายุประมาณ 1-2 ปี ราคาเนื้อสันนอกและสันในอยู่ที่ 600-700 บาท/กก. เนื้อแดงราคา 200-300 บาท/กก. สูงกว่าราคาเนื้อโคธรรมดาประมาณ 30% แนวโน้มจะส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์เลี้ยงมากขึ้น จากปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 200 ราย เพื่อรองรับการบริโภคที่จะสูงขึ้นในอนาคต และช่วยลดการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอเมริกา

แกะรอยเส้นทาง..."โค-กระบือ" นำเข้า-ส่งออกพันล้าน จากแม่สอดสู่จีนใต้

ไม่ใช่เฉพาะการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตต่อเนื่องทุกปีโดยเฉพาะการค้าชายแดนกับเมียนมาซึ่งด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงถึง 1 แสนล้านบาทต่อปี ขึ้นแท่นเบอร์ 1 การค้าชายแดนทุกด่านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ การนำเข้าสินค้าหลายประเภทก็พุ่งขึ้นเช่นกัน อาทิ การนำเข้าโค-กระบือมีชีวิต ผ่านด่านศุลกากรแม่สอด ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะเติบโตแบบก้าวกระโดด

ทีมข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจแกะรอยเส้นทางการนำเข้าโค-กระบือมีชีวิตพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย และบังกลาเทศผ่านมายังเมียนมา เพื่อให้พ่อค้าคนกลางมาเปิดตลาดซื้อ-ขายในอำเภอแม่ระมาด และท่าสองยาง จังหวัดตาก

ระบบการซื้อขายโค-กระบือจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ จากนั้นจะส่งออกไปยังจีนตอนใต้ ผ่านด่านศุลกากรเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทั้งในรูปแบบโค-กระบือมีชีวิต และเนื้อชำแหละแช่แข็ง มูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี


"กิตติ สุทธิสัมพันธ์" นายด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สถานการณ์การนำเข้าโค-กระบือมีชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยต้นทางการนำเข้าจะมาจากประเทศอินเดีย และบังกลาเทศ ลำเลียงส่งผ่านมายังประเทศเมียนมา และมายังประเทศไทยผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ 1.ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก 2.ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย 3.ด่านศุลกากรแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ 4.ด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน โดยแต่ละจังหวัดจะมีตลาดกลางซื้อขาย จากนั้นจะทำการส่งออกต่อไปยังประเทศจีน (จีนตอนใต้) ผ่านด่านศุลกากรในจังหวัดเชียงราย

ทั้งนี้ ตลาดกลางซื้อขายโค-กระบือในจังหวัดตากบรรยากาศคึกคักมาก ส่งผลดีต่อธุรกิจในพื้นที่ได้รับอานิสงส์เป็นเงาตามตัว เช่น ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ตลาดสด อีกทั้งยังส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าด้วย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสามารถจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าโค-กระบือมีชีวิต ดังนี้ ปี 2554 จำนวน 56,360 ตัว มูลค่า 11,272,000 บาท ปี 2555 จำนวน 81,250 ตัว มูลค่า 16,250,000 บาท ปี 2556 จำนวน 138,050 ตัวมูลค่า 27,610,000 บาท ปี 2557 จำนวน 120,900 ตัว มูลค่า 24,180,000 บาท และปี 2558 (1 มกราคม-25 สิงหาคม) จำนวน 65,543 ตัว มูลค่า 13,108,600 บาท

"โค-กระบือนำเข้าจัดเก็บภาษีในอัตรา 200 บาท/ตัว แนวโน้มจะสามารถจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าได้เพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยบวกการบริโภคในจีนแผ่นดินใหญ่ยังมีสูงต่อเนื่อง จากประชากรที่มีจำนวนมาก และกระแสการบริโภคเนื้อโค-กระบือ แทนเนื้อสัตว์ชนิดอื่นก็สูงขึ้น แม้ว่าจะมีราคาที่สูงกว่าก็ตาม"

นายด่านศุลกากรแม่สอดยังบอกอีกว่า การนำเข้าโค-กระบือที่มาจากอินเดีย บังกลาเทศ จะต้องมีการตรวจสอบโรคระบาดให้ดี เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในไทย เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด หากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปลายปี 2558

ขณะที่ "วันนา ชาญเชี่ยว" ผู้ดำเนินธุรกิจชิปปิ้งโค-กระบือในจังหวัดตากให้ข้อมูลว่า ปริมาณการนำเข้าโค-กระบือมีชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนใหญ่จะมาซื้อขายกันในตลาดกลาง 4-5 แห่ง ในอำเภอท่าสองยาง และแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งจะเปิดช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ มีพ่อค้าแม่ค้าจากทั้งในจังหวัดตาก และต่างถิ่นเข้ามาซื้อขายกันอย่างคึกคัก ส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม ที่พัก สถานบันเทิง ร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี มีเงินสะพัดในชุมชนไม่ต่ำกว่า 200-400 ล้านบาท/ปี

นี่คือเส้นทางการนำเข้าโค-กระบือมีชีวิตจากอินเดีย บังกลาเทศ ผ่านเมียนมา และแวะพักที่ชายแดนไทย ก่อนที่จะลำเลียงส่งออกไปยังจีนตอนใต้ที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook