กกร.เสนอรัฐบาล 8 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

กกร.เสนอรัฐบาล 8 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

กกร.เสนอรัฐบาล 8 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กกร.เชื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ พร้อมเสนอ 8 มาตรการทั้งระยะสั้น-ปานกลาง

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. เชื่อว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นและสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาและช่วยให้เศรษฐกิจสามารถหมุนต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเห็นผลเร็วมาก และช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ดี คาดว่า จะเห็นผลได้ภายใน 3 เดือนหลังการขับเคลื่อนมาตรการ ซี่งกกร.มองผลการขับเคลื่อนว่า ควรนำไปสู่ภาคชุมชนและนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม กกร.เตรียม ข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะสั้น 4 มาตรการ ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพ ให้กับ SME ได้แก่ 1.ปรับลดอัตราภาษีเงินได้ให้ SME เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ SME ของภาครัฐ และเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้ ดำเนินการลดอัตราภาษีเงินได้ สนับสนุนให้มีการใช้Software ทางบัญชีที่ได้มาตรฐาน และการฝึกอบรม SME จัดทำบัญชี

2.การผลักดันการค้าชายแดน โดยกำหนดเป้าหมายการค้าชายแดนที่ 2 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 2ปี (ปี 2560) จากปัจจุบันมูลค่าการค้าชายแดนที่ 1.4 ล้านล้านบาท พร้อมกับขยายบทบาทหน้าที่ของพาณิชย์จังหวัด เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนเข้าสู่ตลาดเป้าหมายและครอบคลุมการค้าข้ามแดนให้ถึงเมืองหลักของประเทศเพื่อนบ้าน และควรจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้า / SME Outlet ในพื้นที่ชายแดนที่มีศักยภาพ

3.การส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเร่งรัดการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาการส่งออก ให้มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม นอกจากนี้กกร.ยังเสนอ ให้ตั้ง “ทีมเศรษฐกิจ” ของจังหวัด โดยมีผู้แทนภาคเอกชน3 สถาบัน(กกร.)เพื่อดูแลเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะ เนื่องจากจุดแข็งของแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน และยังสามารถประสานงานกับส่วนกลางได้อย่างใกล้ชิด

4.การสร้างกำลังซื้อภายในประเทศโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร โดยเร่งรัดการระบาย Stock ข้าว อย่างน้อยร้อยละ 50 เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ

ส่วนข้อเสนอมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะกลาง (6-12 เดือน) เสนอ 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการสนับสนุนเกษตรกร ทั้งด้านการผลิตและการตลาด

2.การปรับวิธีการสรรหาผู้แทนการค้าไทย โดยให้ กกร. ร่วมในการจัดสรรหา เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

3.สนับสนุนโครงการ Product Champion เพื่อยกระดับธุรกิจ SME ให้มีการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐาน และเติบโตเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ได้ และ 4. การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการภาครัฐ โดยการสร้างกลไกในการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเน้นเรื่อง Ease of Doing Business / การเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐ โดย กกร. ยินดีจะเข้าไปร่วมหารือเพื่อการปรับปรุงกระบวนขับเคลื่อนการทำงานที่สำคัญ ต่อเนื่องจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกภาครัฐ ที่ได้ออกมาแล้ว

นายบุญทักษ์ กล่าวเพิมเติมว่า ที่ประชุม ยังสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม พบว่าเศรษฐกิจไทยยังคงมีภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39 เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 ทำให้อัตราเบิกจ่ายสะสมอยู่ที่ร้อยละ 52 ซึ่งใกล้เคียงปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งส่วนของการใช้จ่ายหมวดสินค้าไม่คงทนและสินค้าคงทน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ รวมทั้งภาคส่งออกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นหลัก

นอกจากนี้ กกร.ยังคงเฝ้าติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม โดย ในเบื้องต้นเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนที่เกิดเหตุการณ์จะลดลงราวร้อยละ 25 จากภาวะปกติ และสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 เดือน

อย่างไรก็ดี แพคเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้าสู่การพิจารณาของครม.เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 คาดว่าจะมีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้ชะลอไปมาก รวมทั้งช่วยฟื้นความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางอยู่มาก

กกร. สนับสนุนนโยบายการวางรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ควรเปิดโอกาสให้มีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน หรือ รูปแบบ PPP และมีความโปร่งใสในการดำเนินโครงการทุกขั้นตอน

กกร.กำลังจัดทำข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจ ระยะสั้น เพื่อนำเสนอรัฐบาลเร็วๆนี้ทั้งนี้ กกร. ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐ /Ease of Doing Business เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ กฎระเบียบ ข้อปฏิบัติ และข้อกฎหมาย ในการทำธุรกิจการค้าการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มอุตสาหกรรม การค้าและบริการ หรือคลัสเตอร์เป้าหมาย หากมีการปลอดล๊อกข้ออุปสรรค เหล่านั้นซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที ก็จะเป็นการจูงใจให้เกิดการลงทุน การขยายธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน และของประเทศโดยรวม

ตัวอย่างเช่น กรณีไม้นำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าจะส่งออกไปต้องปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2535 ซึ่งกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นรายๆไปนั้น ควรอนุญาตให้ไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีแหล่งที่มาชัดเจนและมีหลักฐานการนำเข้าที่ถูกต้อง สามารถส่งออกกลับไปได้ (re-export) ทั้งไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ ไม้ต้องเข้าเงื่อนไขเดียวกับไม้ในประเทศ และควรลดพิกัดอัตราพิกัดภาษีศุลกากรขาออกของไม้ ไม้แปรรูป จากเดิมร้อย 40 ให้เหลือร้อยละ 0 เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้-สำนักข่าวไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook