เงินกู้ไม่มีดอก กองทุนหมู่บ้าน ได้เงินสดทันใจ กลางเดือนกันยานี้

เงินกู้ไม่มีดอก กองทุนหมู่บ้าน ได้เงินสดทันใจ กลางเดือนกันยานี้

เงินกู้ไม่มีดอก กองทุนหมู่บ้าน ได้เงินสดทันใจ กลางเดือนกันยานี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวานนี้ (2 ก.ย.58) นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กองทุนหมู่บ้านฯ ที่อยู่ในเกรดเอและบี ประมาณ 59,850 แห่ง มีความพร้อมที่จะกู้เงินจากธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท เพื่อไปปล่อยกู้ต่อให้กับสมาชิกกองทุนฯ แบบไร้ดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย.58 เป็นต้นไป

โดยล่าสุด สทบ.เตรียมนัดตัวแทนกองทุนฯจาก 20 จังหวัด มาหารือถึงรูปแบบการดำเนินงาน จากนั้นในสัปดาห์หน้าจะประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับธนาคารทั้ง 2 แห่ง เพื่อกำหนดเงื่อนไขการกู้เงินให้ชัดเจน ก่อนให้กองทุนที่มีความพร้อมเริ่มกู้เงินจากธนาคาร และปล่อยกู้ให้กับสมาชิกทันที

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการขยายวงเงินเพิ่มให้มากกว่า 1 ล้านบาท เพราะบางกองทุนมีขนาดใหญ่ และมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นกรอบวงเงินเดิมที่กำหนดไว้อาจไม่เพียงพอ โดย สทบ.จะไปหารือกับธนาคารทั้ง 2 แห่ง ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ เตรียมมอบนโยบายการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวให้กองทุนฯ ได้เริ่มกู้เงินโดยเร็วที่สุด เพราะรัฐบาลต้องการให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันการกู้เงินครั้งนี้ จะมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า การดำเนินมาตรการดังกล่าวเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเป็นพิเศษ

"วิธีการกู้เงินคงต้องดูกลไกว่าเป็นอย่างไร เงินที่จะลงไปถึงมือสมาชิกเป็นอย่างไร และจะติดตามว่า เงินที่ลงไปแล้วทำอะไรไปบ้าง ซึ่งธนาคารเองก็คงจะลงไปดูเองด้วย ว่าเงินที่ปล่อยลงไปนั้นกองทุนนั้น ใช้ทำอะไร ขณะที่เงื่อนไขการใช้เงินที่ห้ามให้ไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิมนั้น หากเป็นกรณีที่ชาวบ้านเป็นหนี้นอกระบบแล้วนำเงินไปใช้หนี้ ก็คงทำได้ เพราะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวให้กับประชาชน ส่วนกรณีของโครงการเดิมที่ทั้ง 2 ธนาคารจะปล่อยกู้ให้กองทุนวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 5% นั้น ล่าสุดมีหมู่บ้านทำเรื่องขอกู้แล้วมีวงเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า ทั้งหมดจะเปลี่ยนใจมาใช้การกู้เงินตามมาตรการใหม่ที่ออกมา"

นายสุวพันธุ์กล่าวว่า นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าว สทบ.ยังมีโครงการเพิ่มทุนให้กับกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาท ระยะที่ 3 ซึ่งถือเป็นโครงการเดิมที่หยุดชะงักไปเมื่อปี 57 และยังมีวงเงินค้างอยู่ ล่าสุดมีหมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับการโอนเงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 18,000 แห่ง โดย สทบ.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา หากกองทุนใดมีความพร้อมจะโอนเงินไปให้ทันที ส่วนหมู่บ้านที่ยังไม่พร้อม เพราะส่วนใหญ่อยู่ในระดับซีและดี ล่าสุดคณะกรรมการกองทุนฯ ได้สั่งให้ทำแผนฟื้นฟูกองทุนฯ บางส่วนก็ทำเสร็จแล้ว และจะเสนอให้กับ สทบ.พิจารณา หากพบว่า กองทุนฯใดแก้ไขปัญหาได้เสร็จสิ้น สทบ.ก็พร้อมโอนเงินเพิ่มทุนให้ทันที

พ.อ.อ.สมมาตร์ บุญโยประการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนหมู่บ้านฯ และประธานกองทุนหมู่บ้านฯ จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา สทบ.ได้เชิญกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน และประธานกองทุนหมู่บ้าน 4 ภาค มาหารือทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว โดยขณะนี้กองทุนฯในระดับเอและบี มีความพร้อมกู้เงินแล้ว ขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ก็ตื่นเต้น และอยากเข้ามาขอกู้เงินเพื่อนำไปใช้จ่าย แต่ก็ต้องรอพิจารณาเงื่อนไขให้ชัดเจนจากธนาคารก่อน โดยรูปแบบการปล่อยกู้ให้สมาชิกนั้น ในเงื่อนไขเบื้องต้นได้กำหนดให้ปล่อยก็รายละไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งบางกองทุนอาจต้องปรับลดลงเหลือรายละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อจะได้กระจายเงินให้ถึงมือสมาชิกได้ครบทุกคน

สำหรับมาตรการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก ครม.แล้ว โดยให้ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้แห่งละ 30,000 ล้านบาท รวม 60,000 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้านในระดับเอและบี แห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขไม่ให้กองทุนฯ ไปรีไฟแนนซ์หนี้เดิม มีระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่ลงนามในสัญญา และต้องทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 58 ซึ่งการคิดอัตราดอกเบี้ยนั้น ในช่วง 2 ปีแรกจะปลอดดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3 - 7 คิดดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงินบวกส่วนเพิ่ม 1% แต่ไม่เกิน 4% ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปชดเชยดอกเบี้ยให้วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook