"หมูย่างตรัง" ยอดขายดิ่งกำลังซื้อวูบ ชาวสวนกรีดยาง7ไร่ซื้อได้กิโลเดียว

"หมูย่างตรัง" ยอดขายดิ่งกำลังซื้อวูบ ชาวสวนกรีดยาง7ไร่ซื้อได้กิโลเดียว

"หมูย่างตรัง" ยอดขายดิ่งกำลังซื้อวูบ ชาวสวนกรีดยาง7ไร่ซื้อได้กิโลเดียว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธุรกิจหมูย่างเมืองตรังวูบตามกระแสเศรษฐกิจ ยอดขายดิ่ง 20% ผู้ประกอบการเลิกกิจการกันเป็นแถว เหตุทนภาวะขาดทุนไม่ไหว ขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นผู้ประกอบการยังกัดฟันไม่ขยับราคาเผยยังสร้างเม็ดเงินเข้าจังหวัดปีละกว่า 300 ล้านบาท พร้อมจดลิขสิทธิ์เป็นสินค้าจีไอแล้ว 4 ราย


นายทวีศักดิ์ ไทรงาม ผู้จัดการหมูย่างโกแก่ และประธานชมรมผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมการจำหน่ายหมูย่างในปี 2558 นี้ ถือว่าเงียบเหงาลงไปพอสมควร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมายอดขายตกลงไปกว่า 20% สาเหตุเนื่องมาจากกำลังซื้อจากประชาชนและนักท่องเที่ยวลดลง โดยมีปัจจัยมาจากราคายางพาราที่ตกต่ำ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทั้งนี้ ปกติเกษตรกรกรีดยางพารา พอกรีดเสร็จก็จะมาแวะซื้อหมูย่างไปรับประทานกัน แต่ตอนนี้แทบจะไม่มีเลยเพราะตอนนี้กรีดยาง 7 ไร่จะซื้อหมูย่างได้เพียง 1 กิโลกรัมเท่านั้น ขณะที่เมื่อช่วงที่ราคายางพาราดีสามารถซื้อหมูย่างได้ 3-4 กิโลกรัม

ในช่วงนี้มีผู้ประกอบการหมูย่างทั้งหมดประมาณ 60 ราย มียอดขายเฉลี่ยรายละ2 ตัวต่อวัน รวมทั้งจังหวัดประมาณ 100 ตัวมีรายได้ตัวละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่หักต้นทุน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเครื่องปรุงและค่าหมูเป็นหน้าฟาร์ม เดือนก่อนกิโลกรัมละประมาณ66 บาท แต่มาเดือนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 73-75 บาท/กก.

"แม้ราคาวัตถุดิบในการทำหมูย่างจะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการหมูย่างก็ยังคงขายราคาเดิมที่กิโลกรัมละ 400-420 บาท เพราะหากขึ้นราคาก็ขายไม่ได้ เนื่องจากประชาชนมีรายได้น้อย อำนาจการซื้อ

ก็น้อยลงตามไปด้วย ในช่วงที่ผ่านมาจึงมีผู้ประกอบการรายย่อยประสบภาวะขาดทุน แบกรับภาระหนี้สิน ดอกเบี้ยไม่ไหว ก็พากันเลิกกิจการไปแล้วหลายราย ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่จะเป็นรายเก่าแก่ ทำกันมานานก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดกันต่อไป" นายทวีศักดิ์กล่าวและว่า

กลุ่มลูกค้ายังคงเป็นชาวตรัง นักท่องเที่ยว ในประเทศและต่างชาติ ส่วนใหญ่จะนิยมเดินทางเข้ามาเที่ยวจังหวัดตรัง แล้วก็ถือโอกาสมากินหมูย่างเมืองตรัง ซึ่งจะให้รสชาติที่อร่อยกว่าการซื้อไปเป็นของฝาก หากซื้อไปต่างจังหวัดหลายชั่วโมงรสชาติจะไม่อร่อย ความกรอบ นุ่มจะไม่เท่ามารับประทานที่ตรัง ทั้งนี้รายได้จากธุรกิจหมูย่างเมืองตรังในปีนี้ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

ในส่วนของการจดลิขสิทธิ์นั้น ได้มีการดำเนินการแล้วโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางประวัติศาสตร์ (GI) 4 ราย คือ หมูย่างโกแก่ หมูย่างบ้านน้ำพรายหมูย่างโกด้วง และหมูย่างเจ๊มาลี

นายพิชัย มะนะสุทธิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลหมูย่างและขนมเค้กจังหวัดตรัง ในวัน 4-6 ก.ย. 2558 จะมีการออกบูธจำหน่ายกว่า 40 รายในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด หมูย่าง400 บาท/กก. ขนมเค้กจากราคามาตรฐานกล่องละ 80 บาท จำหน่ายราคา 60 บาท รวมทั้งการจำหน่ายสินค้าโอท็อปและกิจกรรมอื่นมากมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook