ไม้ต่อธุรกิจทองคำ ฐิภา นววัฒนทรัพย์
สัมภาษณ์
ไม่แปลกหรอกที่จะบอกว่า "ฐิภา นววัฒนทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เป็นไม้ต่อธุรกิจทองคำ ทั้งนั้นเพราะครอบครัวของเธอ ทั้งคุณพ่อ-คุณแม่-น้องชาย "ธณัณพงษ์-พวรรณ์-ธีระพงษ์ นววัฒนทรัพย์" ต่างเป็นครอบครัวที่เติบโตมาจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับที่ทำจากทองคำและเพชรพลอย
ในชื่อบริษัทยูหลิมโกลด์แฟคตอรี่จำกัด
กระทั่งต่อมาในปี2546 จึงแตกหน่อออกมาเป็น บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ด้วยการทำธุรกิจนำเข้าและซื้อขายทองคำแท่งบริสุทธิ์ 99.99% ตามมาตรฐาน LBMA (London Bullion Market Asso-ciation)
โดยมี "น้องชาย" เป็นกรรมการผู้จัดการ
ถัดจากนั้นอีก 6 ปี ในปี 2552 บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้น ด้วยการดำเนินธุรกิจซื้อขายและลงทุนในทองคำอย่างครบวงจร ทั้งยังเป็น 1 ใน 5 บริษัทค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตเป็นตัวแทน (โบรกเกอร์) เพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีการซื้อขายอยู่ในตลาดตราสารอนุพันธ์ ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องการเป็นผู้นำอันดับ 1 ในทวีปเอเชีย
โดยมี "ฐิภา" เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ฉะนั้น ในบทบาทของ "ฐิภา" จึงไม่เพียงเป็นไม้ต่อธุรกิจทองคำที่มีความน่าสนใจในตัวของเธอเอง ทั้ง ๆ ที่เธออายุเพียง 34 ปีเท่านั้น หากบทบาทของเธอในวันนี้ เธอกลับไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจ YLG เท่านั้น เพราะเธอกำลังขยายควาามเชื่อในธุรกิจที่บอกว่า "ทีม" เป็นเรื่องสำคัญ จึงทำให้เธอเพิ่งจะเปิด YLG Precious เมื่อไม่นานผ่านมา
แต่จะเป็นอย่างไรนั้น
ต้องไปฟังเธอบอกเล่าถึงรากของประสบการณ์ผ่านมา
- เริ่มเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวตั้งแต่เมื่อไหร่
จริงๆเข้ามาตั้งแต่เด็ก ๆ เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่รู้อะไรมาก เพราะครอบครัวเราเป็นครอบครัวคนจีนมีคุณพ่อ-คุณแม่และน้องชายอีกคน ทางบ้านเขากลัวว่าถ้าเรียนจบและไปทำงานที่อื่น อาจไม่มาช่วยเหลือธุรกิจครอบครัว
เขาเลยให้มาช่วยงานตั้งแต่เด็ก ๆ ถ่ายเอกสารบ้าง ทำอะไรบ้าง เหมือนเป็นเบ๊ของพี่ ๆ ในออฟฟิศ พอเริ่มโตขึ้นมาก็เข้าไปในแต่ละแผนกไปช่วยนับของบ้าง อะไรบ้าง ก็ค่อย ๆ เรียนรู้มาเรื่อย ๆ
พอปิดเทอม ถ้าอยากได้เงินค่าขนมก็มาช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำงานรายวัน วันไหนมาก็ได้ค่าขนม วันไหนไม่มาก็อด (หัวเราะ) ทั้งนั้นก็แล้วแต่พี่ ๆ เขาจะใช้ให้ทำอะไร ตอนนั้นออฟฟิศอยู่แถวไปรษณีย์กลาง บางรัก เป็นธุรกิจกงสี แต่พอตอนหลังทางบ้านแยกออกมาก็เลยเป็นบริษัท ยูหลิมโกลด์ แฟคตอรี่ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับที่ทำจากทองคำและเพชรพลอย เมื่อประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว
- ไม่ทราบจบทางด้านไหนมา
จบปริญญาตรีคณะ BBA ภาคภาษาอังกฤษ เอกการเงิน (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท University of Kent at Canterbury ประเทศอังกฤษ สาขา MBA และตอนนี้กำลังเรียนปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- แสดงว่าเตรียมตัวที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจ
คุณพ่อ-คุณแม่ปลูกฝังเรากับน้องมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่จะต้องเข้ามาสานต่อธุรกิจ อีกอย่างอาจเป็นเพราะเห็นเขาเหนื่อยด้วย และเราก็รู้ว่าที่เรียนหนังสือทุกวันนี้มาจากรายได้ตรงนี้ เหมือนกับเขาสร้างธุรกิจมาจนถึง 1-5 แล้ว แต่ต่อจากนี้คงเป็นหน้าที่ของพวกเราแล้ว ถามว่า เคยคิดจะไปเริ่มธุรกิจเองไหม ก็เคย แต่ธุรกิจตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ เราจะให้เขาเหนื่อยไปเรื่อย ๆ จนแก่คงไม่ไหว ที่สุดจึงต้องเข้ามาช่วย
- ทำไมถึงหันมาเปิด YLG
ตอนกลับจากอังกฤษ ครอบครัวยังทำจิวเวลรี่ส่งออกอยู่ และเราเองก็มีพี่น้อง 2 คน ถ้ามีอีกธุรกิจหนึ่งคงจะดี เพราะเวลาทุกคนเติบโต ต่างคนต่างแต่งงาน จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องธุรกิจ กอปรกับคุณแม่เองก็อยากเปิดบริษัททองคำแท่งอยู่แล้ว ก็มีการจ้างพนักงานมาทีมหนึ่ง เขาทำรีเสิร์ชในการเตรียมงาน จนกระทั่งเรากลับมา คุณแม่ก็ให้เลือกว่าจะเอาอย่างไร เพราะตอนนั้นกำลังจะเปิดอีกบริษัทหนึ่งพอดี เราจึงขอเลือกว่าจะกลับมาทำธุรกิจใหม่ เพื่อจะได้ทดลองว่าที่เราเรียนมาเป็นอย่างไร ในที่สุดจึงได้มาเริ่มตอนที่บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ก็เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน ตอนนั้นมีพนักงาน 4-5 คน เราก็เลยรับทุกตำแหน่ง (หัวเราะ) ส่วนอีกบริษัทคือบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มีน้องชายเป็นคนดูแล
- แรก ๆ ปรึกษาคุณพ่อคุณแม่ตลอดไหม
ปรึกษาตลอด และก็พี่ ๆ ที่ทำงานด้วยกัน เพราะตอนที่เข้ามาอายุ 20 ปีต้น ๆ เอง ส่วนพี่ ๆ ที่ทำงานด้วยก็อายุประมาณ 30-40 ปี ส่วนใหญ่เขามีประสบการณ์ในแต่ละด้านแตกต่างกัน ดิฉันมองว่าทุกคนเหมือนเป็นอาจารย์เราหมด เขาจะคอยสอนแบบนั้น แบบนี้ เรายอมรับว่าเราเป็นเด็กใหม่ที่เข้ามาทำงาน ความคิดยังไม่ลึก มุมมองเราอาจยังไม่กว้างเหมือนกับคนที่เขาทำงานมาก่อน
- ทำมาสักกี่ปีสิ่งที่ลงทุนลงแรงเริ่มสัมฤทธิผล
สัก 3-4 ปีก็เริ่มเห็นผลแล้วว่าเราเริ่มเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 พอปีแรกเริ่มโตมาก ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็เข้ามาช่วยดู ตอนแรกเขากะว่าเป็นธุรกิจธรรมดา ๆ ให้เรามาช่วยทำ ได้แค่ค่าขนมอะไรประมาณนี้ เขาไม่ได้ expect ว่าธุรกิจจะดี แต่ทำไปทำมาดีกว่าที่คาดไว้ ระบบที่เตรียมไว้ก็รองรับไม่ทัน เราจึงต้องเขียนระบบเพิ่ม ทำอะไรเพิ่ม เพราะธุรกิจเริ่มเติบโตขึ้นมาก
ดิฉันคิดว่าเหตุที่ธุรกิจประสบความสำเร็จเพราะสมัยนั้นการทำธุรกิจทองคำไม่มีคำว่าบริการพูดง่ายๆว่าการบริการนั้นหาไม่ค่อยได้ตอนนั้นเราไม่ได้ขายรีเทล เราขายโฮลเซล คือเริ่มจากว่าเวลาเราซื้อทองคำ เวลาเราจะโทรไปร้านค้าส่งที่เขาขายทองคำแท่ง เขาจะไม่มีบอกว่ารับอะไรดีค่ะ แต่เขาจะบอกว่าวันนี้ราคาทองคำเท่านี้ จะเอาไหม ไม่เอาวางโทรศัพท์กระแทกหู และทั้งอุตสาหกรรมจะเป็นแบบนี้ จนทำให้คิดว่าเราซื้อของราคาเป็นล้าน ทำไมเขาพูดแบบนี้ แตกต่างกับเวลาขายจิวเวลรี่ เราแทบกราบลูกค้า ทั้งกาแฟ ชา ขนม มีพร้อม
แต่พอเรามาซื้อทองคำแพงขนาดนี้ แต่ไม่มีบริการเลย จนกระทั่งเรามาเริ่มทำและทีมของเราก็มาจากจิวเวลรี่ด้วย จึงคิดว่าเราขอบริการให้ลูกค้านะ อันนี้คือความต่างประการแรก
ประการที่สอง เรามีบทวิเคราะห์ออกมาให้ลูกค้าดู ด้วยการแปลข่าวจากต่างประเทศ เพื่อดูว่าแนวโน้มราคาทองคำเป็นอย่างไร ซึ่งลูกค้าที่ซื้อทองคำกับเรา เขาซื้อไปเพื่อผลิต ที่ผ่านมาเขาไม่เคยรู้ข่าวสารอะไรเกี่ยวกับทองเลย รู้แต่เพียงว่าต้นทุนเท่าไหร่ เขาก็ซื้อเท่านี้ ได้กำไรก็จบ
แต่พอเรามีบทวิเคราะห์ให้เขาคิดว่าจังหวะนี้ควรซื้อ ไม่ซื้อ จนเขาได้ต้นทุนที่ถูกลง ได้กำไรมากขึ้น ตรงนี้จึงทำให้ลูกค้าบอกปากต่อปากกันเอง ดังนั้นช่วง 3-4 ปีแรกเราไม่ได้ทำการตลาด ไม่โฆษณาอะไรเลย เนื่องจากการซื้อทองคำต้องซื้อกับบริษัทที่มั่นคง และไว้ใจได้เท่านั้น และเมื่อลูกค้ารู้ว่า YLG คือยูหลิมเก่า ซึ่งเขารู้จักอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและไว้ใจมากขึ้น
- ทราบมาว่าทางร้านซื้อทองจากประเทศที่มาตรฐานด้วย
ใช่ค่ะ ทองคำที่เราเอามาขาย บางทีลูกค้าบางรายไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทองดีกับทองไม่ดีเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าทองต้องมี 9 สี่ตัว แต่ทอง 9 สี่ตัวนี่กลายเป็นว่าเป็นทองที่ใช้ในประเทศซะส่วนใหญ่ แต่ทองคำนำเข้ากลับไม่ค่อยใช้ แต่เมื่อเราบอกว่า ถ้าซื้อกับเราจะขายทองคำนำเข้านะ เป็นการนำเข้าจากสมาพันธ์ทองคำแห่งลอนดอน (LBMA-London Bullian Market Association) ซึ่งทั่วโลกจะมีแค่เพียง 30 โรงงานเท่านั้นที่ได้มาตรฐาน เขาก็แฮปปี้ ตรงนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของเราเติบโตเร็วมาก จนกลายเป็นที่ยอมรับในตลาดอย่างรวดเร็ว
- ทองคำส่วนใหญ่มาจากอังกฤษ
ไม่ค่ะ ที่อังกฤษจะมีสมาพันธ์ทองคำโลกใหญ่ที่สุด เป็นเหมือนเซ็นเตอร์ แต่ว่าทองคำจะมาจากหลากหลายที่ ออสเตรเลีย, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี, สหรัฐอเมริกา แล้วแต่เหมือง และแต่ละโรงงาน
สำหรับเมืองไทยยังไม่มีโรงงานไหนได้มาตรฐาน LBMA และการได้มาตรฐาน LBMA ค่อนข้างยากเพราะเกี่ยวข้องกับ capital ว่าจะต้องมีเท่าไหร่ การผลิตว่าเดือนหนึ่งจะต้องผลิตให้ได้ minimum เท่าไหร่ และเขาจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ได้ทองคำ 99.99%
- ทำไมถึงเปิด YLG Precious
เราเป็นคนทำอะไรสักพัก ก็อยากทำอะไรใหม่ ๆ อีกอย่างตอนนี้บริษัท วายแอลจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่น้องชายดูแลเขาขยายไปต่างประเทศรอบ ๆ บ้านเราแล้ว ขณะที่ฟิวเจอร์สยังไม่มีโปรดักต์อะไรเพิ่ม บวกกับตลาดเองก็นิ่ง ๆ ด้วย เราก็เลยหันมาเปิด YLG Precious ที่เซ็นทรัลพระราม 9 ตอนแรกกะเปิดเป็นห้องรับทองส่งทอง เพราะทุกวันนี้เวลาลูกค้ารับทองส่งทองต้องไปธนาคาร
เราเลยคิดว่าต่อไปน่าจะมารับที่ห้างสรรพสินค้าดีกว่าเพราะถ้าไปเปิดห้องแถวข้างนอกไม่อยากเสี่ยงเรื่องโจรขโมยในห้างยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตำรวจ ที่จะดูแลได้ในระดับหนึ่ง ก็เลยมาเปิด บวกกับเราเองก็มีจิวเวลรี่ ทองเราก็มีอยู่แล้ว ก็เลยเอาไปตั้งโชว์ ซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็ไม่เป็นไร
เพราะจุดประสงค์ของเราต้องการเป็นสถานที่รับทองส่งทองอยู่แล้ว ช่วงนี้เลยมาที่นี่บ่อย ได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ชีวิตเลยสนุกขึ้น
แต่ก็มีโจทย์ให้เป็นการบ้านว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้จัก YLG Precious มากขึ้น เพราะผ่านมาเราทำแต่ธุรกิจโฮลเซล แต่พอมาทำรีเทลคนยังไม่รู้จักแบรนด์เรา ลูกค้าจึงไม่กล้าซื้อ แต่หลังจากนี้คงต้องสร้างแบรนด์ YLG Precious เพื่อให้ติดตลาดมากขึ้น
- บทบาทของไม้ต่อธุรกิจตอนนี้ดูแลอะไรบ้าง
ก็ดูฟิวเจอร์สโกลด์ กับพรีเชียสเต็มตัว โดยทีมที่ดูแลฟิวเจอร์สโกลด์มีอยู่ประมาณ 40 คน ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนพรีเชียสมีไม่ถึง 10 คน
- แสดงว่าไม่ค่อยมี GAP เท่าไหร่เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น
ไม่ค่อยมีค่ะ แต่เราก็มีที่ปรึกษามีอายุ 60 กว่า ๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย อย่างทีมฟิวเจอร์สจะมี back office กับ front office ซึ่ง front office จะรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่ถ้าเป็น back office จะอายุมากกว่า พูดตรง ๆ ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือบาลานซ์ เพราะข้างหน้าจะคิดแบบหนึ่ง แต่หลังบ้านเขาคอยระวังให้ ก็จะมองอีกแบบหนึ่ง เพราะเขามีประสบการณ์มากกว่า ถามว่า มีปัญหาบ้างไหม ก็มีบ้าง แต่ยังดีกว่าทำอะไรแล้วไม่มีอะไรเลย ตรงนี้เรียกว่ามีปัญหา ดิฉันจึงเชื่อว่ามีปัญหาดีกว่า เราจะได้มานั่งแก้ปัญหา เพื่อให้เห็นข้อดีและข้อเสีย
- ในฐานะที่เป็น Gen 2 เวลาสั่งลูกน้องเขาฟังไหม
ก็ฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง เพราะเราเองก็สั่งถูก ๆ ผิด ๆ (หัวเราะ) บางทีสั่งเสร็จ พี่เขาก็จะเดินมาบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยเพราะอะไร และเขาก็จะแนะนำว่า แบบนี้น่าจะดีกว่านะคะ ถ้าเราเห็นด้วยก็โอเคตามพี่ หรือบางทีลูกน้องเด็กกว่าก็มาบอกว่า พี่ ๆ แบบนี้ไม่เหมาะนะ แบบนี้น่าจะดีกว่า พอเราพบว่าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เราก็ขอบใจเขา เพราะการทำงานไม่ใช่พอสั่งลงไปปุ๊บแล้วจบ แต่จะมี feedback กลับมาว่าแบบนี้ไม่คุ้มนะ แบบนี้เสี่ยงไปนะ แบบนี้อันตราย แบบนี้ได้ผลตอบแทนดีกว่า ส่วนมากจะเป็นลักษณะแบบนี้มากกว่า
- บนโต๊ะทานข้าวที่บ้านคุณพ่อคุณแม่คุยเรื่องงานบ้างไหม
โห...คุยตลอดเลยค่ะ ที่ออฟฟิศนี่เราคุยอยู่แล้ว เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นคนชอบทำงาน เขาจะทำงานตลอด และที่บ้านทุกวันจะต้องทานข้าวด้วยกันอย่างน้อยมื้อหนึ่ง จะเป็นตอนเช้า หรือตอนกลางวันก็ตาม ทุกครั้งต้องคุยเรื่องงานอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นอย่างไร อันนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นข้อดี พอมีปัญหาเราก็ปรึกษาได้ทันที
หรือบางทีวันนี้เจอปัญหามาแบบนึง เราก็ถามท่านว่า จะทำอย่างไร เหมือนอย่างตอนนี้ที่เพิ่งเปิด YLG Precious เราก็ปรึกษาว่าเราจะวางระบบอย่างไรดี คุณพ่อคุณแม่ก็ให้คำปรึกษาตลอด
- แสดงว่าชอบการทำงานเป็นทีม
ใช่ค่ะ และเราชอบคนทำงานสม่ำเสมอ และทำงานร่วมกับคนอื่นได้ บางคนเก่งมาก ๆ แต่ไม่สามารถร่วมงานกับคนอื่นได้ก็ลำบาก เราเชื่อว่าการทำงานร่วมกันเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญ คนหนึ่งคนจะเข้ามาทำงานกับเรา เขาก็ต้องฟิตกับวัฒนธรรมองค์กร อย่างตอนนี้ทั้งกรุ๊ปเรามีพนักงานประมาณ 100 กว่าคน ซึ่งก็เหมาะกับธุรกิจขณะนี้ แต่ถ้าเราขยายธุรกิจเพิ่ม เราก็ต้องรีครูตคนเพิ่มขึ้น
- ธุรกิจแบบนี้หาคนยากไหม
ยาก...เพราะคนเดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เราดูจากใบสมัคงาน แต่ละคนอยู่แต่ละที่ไม่ถึงปี อาจเป็นเพราะเขาต้องการเงินเดือนเพิ่ม หรือบางคนยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ยังรู้สึกว่าเมื่อเข้าไปในองค์กรนี้ยังไม่เหมาะกับตัวเอง พอเป็นแบบนี้ เรารู้สึกไม่อยากได้เขามาร่วมงาน เพราะไม่รู้ว่าเขาจะอยู่กับเรานานหรือเปล่า เพราะการที่ใครมาทำงานกับเรา ก็เหมือนเขาฝากชีวิตไว้กับเรา ขณะเดียวกัน เราเองก็ฝากชีวิตไว้กับเขา ไม่ใช่ว่าเราเลือกใครมาทำงานแล้วเราเป็นคนเลือกเขา แต่เขาเองก็เลือกเราด้วยเหมือนกัน
เพราะการทำงานร่วมกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทุกคนต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกตำแหน่ง ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ทุกคนมีความสำคัญเหมือนกันหมด โดยส่วนตัวเราเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้กันได้ คุณอาจทำงานยังไม่เป็น แต่ถ้าคุณตั้งใจ เราสอนคุณได้ เราไม่เคยเชื่อว่าคนนี้เกรดดีกว่าคนนี้ แล้วคนเกรดดีจะทำงานดีกว่าคนเกรดไม่ดี เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับความใส่ใจในการทำงานมากกว่า
บางครั้งคุณเรียนเก่งก็จริง แต่พอคุณมาทำงานแล้วไม่ใส่ใจ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เราเชื่อเรื่องความขยันกับความสม่ำเสมอ ถึงจะทำให้ผลงานออกมาดี
เราเชื่อเช่นนั้นจริง ๆ