2 เคล็ดลับการเปลี่ยน “งาน” ให้เป็น “ทรัพย์สิน”

2 เคล็ดลับการเปลี่ยน “งาน” ให้เป็น “ทรัพย์สิน”

2 เคล็ดลับการเปลี่ยน “งาน” ให้เป็น “ทรัพย์สิน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Money Coach

อิสรภาพทางความคิดยังมีไม่ได้ อย่าตะเกียกตะกายหาอิสรภาพทางการเงิน

“คนทำงานฟรีแลนซ์หรืองานรับจ้าง ก็สามารถเปลี่ยน “งาน” ของเรา ให้กลายเป็น “ทรัพย์สิน” ได้ หากเข้าใจหลักคิดของ Passive Income” ……… The Money Coach



ครั้งหนึ่งเคยมีแชททางไลน์สอบถามผมว่า ถ้าตัวเขาไม่สนใจการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหุ้นเลย และถ้าจะให้ทำธุรกิจอะไรใหญ่โต มีลูกน้องเยอะๆ ก็คงลำบาก แบบนี้จะพอมี PASSIVE INCOME เหมือนอย่างคนอื่นเขาได้หรือเปล่า

คุณผู้อ่านคิดว่าได้มั้ยครับ …

จากโจทย์ที่ให้มา หลังสอบถามพูดคุยกันสักพัก ก็ได้ความว่า น้องท่านนี้แกอายุราว 35 ปี เป็นพนักงานประจำ ทำงานด้านบัญชี มีรายได้จากการทำงานพอสมควร และยังมีงานอดิเรกคือรับจ้างถ่ายภาพ


“ผมชอบงานมงคล ประเภทรับปริญญา หรืองานแต่งงาน ผมชอบเห็นผู้คนยิ้มแย้ม ทำแล้วมีความสุขดี” น้องท่านนั้นตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

สำหรับคนที่ทำงานรับจ้างอิสระ หรือที่เรียกกันหรูๆ ว่า “ฟรีแลนซ์” (ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักมันนีโค้ช ฮิ้วววว) สิ่งที่ทุกท่านมีกันก็คือ ความสามารถพิเศษบางอย่างซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด (มีคนพร้อมจ่ายเงินให้) แต่ก็อย่างท่ีรู้กันดีว่า งานประเภทนี้ส่วนใหญ่สร้างรายได้ที่เรียกว่า Active Income หรือรายได้จากการทำงาน ซึ่งหากได้ทำงาน ก็จะได้เงิน แต่ถ้าหากไม่ได้ทำงาน ก็จะได้ไม่ได้เงิน

อย่างไรก็ดี เราสามารถปรับโน่นนิด นี่หน่อย เพื่อให้ “งาน” ที่สร้าง Active Income เปลี่ยนไปเป็น “ทรัพย์สิน” ที่สร้าง Passive Income ได้ ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังต่อไปนี้

1) ทำงานครั้งเดียวให้ใช้ซ้ำได้มากกว่า 1 ครั้ง

อย่างในกรณีของน้องคนที่แชทมาคุยกับผม แทนที่เขาจะรับงานถ่ายภาพรับปริญญาเพียงอย่างเดียว เขาก็อาจฝึกถ่ายภาพแบบอื่นๆ เก็บสะสมไว้เป็นสต๊อก แล้วปล่อยขายในเว็บไซต์ขายภาพชื่อดังต่างๆได้ อาทิ shutterstock.com เป็นต้น

คิดง่ายๆว่า ภาพรับปริญญาของบัณฑิตสักหนึ่งท่าน เราเอาไปขายใครต่อไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยากได้นอกจากน้องบัณฑิตท่านนั้น แต่สำหรับภาพวิว ทิวทัศน์ อาคารบ้านเรือน ภาพชิกๆ เก๋ๆ ผู้คนสามารถหยิบจับภาพเราไปทำอาร์ตเวิร์ค หรือทำประโยชน์อ่ื่นๆได้อีกมากมาย

ในกรณีนี้ ภาพสวยๆที่เราถ่ายเก็บเอาไว้ ก็กลายเป็น “ทรัพย์สิน” (แทนที่จะเป็นแค่งานหรืองานอดิเรก) และเงินที่คนจ่ายซื้อภาพของเราเพื่อไปใช้งาน ก็คือ กระแสเงินสด ในรูปของ “ค่าลิขสิทธิ์” นั่นเอง

จะว่าไปแล้วยุคนี้ ไม่ต้องถึงกับมีกล้องไฮโซราคาแพง เลนส์ยาวเท่าท่อประปา ถึงจะถ่ายภาพขายได้ แค่กล้องสมาร์ทโฟน ก็เห็นมีหลายคนสร้างรายได้ที่เป็น Passive Income กันได้ตั้งมากมาย ระบบการขายผ่านเว็บก็ไม่ยุ่งยาก ใช้งานง่าย อัพโหลดสะดวกสบาย ระบบตะกร้าซื้อขาย แบ่งปันผลประโยชน์กันตามตกลง

หรือยิ่งถ้าเป็นพวกเก่งงานกราฟฟิค ทำกราฟฟิคให้บริษัทที่ทำงานให้กันอยู่แล้ว เย็นๆ ค่ำหลังเลิกงาน ก็อาจเอาเวลาดูละคร มาทำภาพกราฟฟิคขายออนไลน์ ก็จัดได้ว่าเข้าท่าไม่เลว

หรือ พี่ๆติวเตอร์ที่สอนพิเศษกันเก่งๆ แทนที่จะสอนรอบละ 20-30 คน ก็อาจปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วนมาทำเป็นคอร์สออนไลน์ ให้คนซื้อเรียน ดาวน์โหลดเรียนกัน ก็สามารถทำได้ (ทรัพย์สินของเราก็คือวิดีโอ) หรือถ้าอารมณ์ดีจัด สอนลง Youtube ให้ดูกันฟรี แล้วหารายได้จากค่าโฆษณา แบบนี้ก็ถือเป็นโมเดลการสร้าง Passive Income ได้อีกทางหนึ่ง

หรือ … (พอแล้วววววววว เห็นภาพแล้ว)

สรุปว่างานอะไรก็ได้ครับ ถ้าทำหนึ่งครั้งแล้ว ใช้ได้มากกว่า 1 ครั้ง ทำเงินได้มากกว่า 1 ครั้ง ถือเป็นทรัพย์สินที่สร้าง Passive Income ได้ทั้งหมด

ปัญหาสำคัญของการสร้าง Passive Income แบบนี้ก็คือ ในช่วงแรกมันมักเป็นงานที่ยังไม่ทำเงินให้กับเราในทันที เพราะกว่าจะถ่ายภาพดีๆ ได้จำนวนมากพอ กว่าจะอัพโหลดขึ้นหน้าร้าน กว่าจะขายได้แต่ละภาพ มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งส้ิน ผิดกับรับจ้างถ่ายรูปรับปริญญา ที่ทำงานเสร็จก็ได้เงินทันที

แต่ถ้าคุณมองข้ามปัญหาการทำงานที่ยังไม่ได้เงิน (ในช่วงแรก) ไปได้ คุณก็มีโอกาสสร้างทรัพย์สินที่จะทำเงินให้คุณในระยะยาวได้ครับ



2) แบ่งงานให้คนอื่นทำแทนบ้าง

ลูกศิษย์ผมคนหนึ่งทำงานฝีมือเก่งมาก เธอแบ่งเวลาจากงานประจำไปเรียนหลักสูตรงานฝีมือมากมาย อาทิ วาดภาพ เย็บปักถักร้อย และงานไม้ ฯลฯ เธอทำได้หมด (สังเกตคำว่า ‘เธอ’)

ด้วยความมั่นใจในฝีมือตัวเอง เธอจึงเริ่มเปิดกิจการรับจ้างทำของชำร่วยทำมือ สำหรับแจกในงานแต่งงาน ผ่านทางเฟสบุ๊คและเว็บไซต์ แรกๆงานยังไม่เยอะ เลยยังพอทำไหว หลังๆเริ่มมีปัญหา เพราะลูกค้าติดต่อมาเยอะมากและเริ่มทำงานไม่ทัน

ครั้งหนึ่งเธอเคยรับทำตุ๊กตาผ้าสำหรับแขวนหน้ารถ เป็นของชำร่วยงานแต่งงานรวมกันกว่า 500 ชิ้น ด้วยตัวเธอเพียงคนเดียว ได้เรื่องเลยครับ ถึงขั้นลางานมาเย็บตุ๊กตากันเลยทีเดียว

หลังจากเคสนั้น เธอแก้ปัญหาด้วยการแบ่งงานบางส่วนให้กับเพื่อนๆที่เคยเรียนในคลาสงานฝีมือด้วยกัน เลือกเฉพาะคนที่มีฝีมือดี และมีความรับผิดชอบ ช่วยให้เพื่อนๆ มีรายได้เสริม และเธอก็ได้ส่วนแบ่งจากค่าการตลาด

แบบนี้ในหลักการเขาเรียกว่า Other People’s Resources หรือ ใช้ทรัพยากรของคนอื่น นั่นก็คือ เวลา และเครือข่ายของยอดฝีมือที่ทำงานเย็บปักถักร้อยให้เรา ก็กลายเป็น “ทรัพย์สิน” ของเธอไป

หลักการสำคัญของการแบ่งงานให้คนอื่นทำบ้างก็คือ การสร้างระบบการทำงานที่ทำให้เราสามารถควบคุมงานที่เรา Outsource ไป ให้แล้วเสร็จทันเวลา และมีคุณภาพตามต้องการ

อันที่จริงแนวทางสร้าง Passive Income แบบนี้ก็มีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่เวลาทำอะไรแล้วอยากได้เงินให้เยอะที่สุด อยากได้คนเดียว ไม่อยากแบ่งเงินกับใคร

ลองนึกภาพเย็บตุ๊กตาคนเดียว 500 ตัว รับทรัพย์เนื้อๆ เทียบกับการแบ่งให้เพื่อน 5 คนๆละ 100 ตัว เราได้ส่วนแบ่งเป็นค่าการตลาด ไม่ใช่เงินทั้งก้อนเหมือนรับทำเองทั้งหมด

ปัญหาคือ เมื่องกมาก สุดท้ายก็ได้ทำเองทั้งหมดคนเดียว ซึ่งตรงจุดนี้ผมอยากให้คิดกลับกันครับ เพราะถ้าหากเทียบจำนวนชั่วโมงที่เราทำงานระหว่างทำเองกับแบ่งงานให้คนอื่นทำ รายได้ต่อชั่วโมงการทำงานบริหารให้งานเป็นทรัพย์สิน ถือได้ว่าได้ผลตอบแทนสูงมากกว่าลงมือทำเองอยู่ไม่น้อย

แถมที่สำคัญหากเราเลือกทำเองทั้งหมด 1 วันของเรามีแค่ 24 ชั่วโมง โหมงานหนักแค่ไหนก็มีเวลาอยู่แค่นั้น ผิดกับการแบ่งงานทั้งหมดหรือบางส่วนให้คนอื่นทำ ที่ช่วยทำให้เวลา 1 วันของเรา มีมากกว่า 24 ชั่วโมงเยอะเลย

ส่วนใครที่ไม่ติดปัญหาเรื่องเงิน แต่ติดว่ายังอยากทำงานที่รักที่ชอบด้วยตัวเองอยู่ ไม่อยากตัดงานให้คนอื่นทำทั้งหมด ก็อาจตัดงานบางส่วนมารับเองทำเองบ้าง เพื่อแก้เบื่อ แก้คัน รับทรัพย์แบบ Active ผสมกับ Passive Income อย่างนี้ก็ไม่ผิดกติกา

ทำงานให้ใช้ซ้ำได้ ขายซ้ำได้ และแบ่งงานบางส่วนหรือทั้งหมดให้คนอื่นทำ คือ วิธีการง่ายๆเบื้องต้นในการเปลี่ยน งาน ให้กลายเป็น ทรัพย์สิน และเปลี่ยนรายได้จากการทำงาน ให้กลายเป็น Passive Income

ยังไงก็ลองเอาไปประยุกต์กับงานตามความสามารถของคุณดูนะครับ

บทความจากwww.aommoney.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook