"อิเกีย"ดึงตปท.ปั้นเมืองใหม่"รังสิต" สร้างอาณาจักร900ไร่/โละขายทิ้งที่ดินบางใหญ่
อิเกีย-สยามฟิวเจอร์ฯ เดินหน้าปั้นอาณาจักร "รังสิต" 900 ไร่ ดึงพาร์ตเนอร์ต่างประเทศปั้นเมืองใหม่กรุงเทพฯตอนเหนือ เตรียมขายที่ดินบางใหญ่ 50 ไร่ พับแผนลงทุนบางใหญ่ทิ้ง ต่อสัญญา-ขยายพื้นที่คอมมิวนิตี้เพิ่ม ด้าน "เมกาบางนา" เติมร้านค้าแม่เหล็กใหม่ ๆ ดูดทราฟฟิก
หลังจากเมื่อ 2 ปีก่อน สยามฟิวเจอร์ฯ และอิคาโน่ กลุ่มอิเกีย ซุ่มเทเงิน 700 ล้านบาท ซื้อที่ดินแปลงยักษ์ 250 ไร่ บริเวณถนนรังสิต-นครนายก ปักธงทำเลรังสิต ตามยุทธศาสตร์การลงทุนปิดล้อมกรุงเทพฯ
ความเคลื่อนไหวล่าสุด ของกลุ่มอิเกียในขณะนี้ นอกจากจะเป็นหัวหอกในการพัฒนาทำเลอนาคตผืนนี้ ไม่เพียงการขยับกว้านที่ดินจาก 250 ไร่ เป็น 900 ไร่ ในปัจจุบัน แต่ยังดึงพาร์ตเนอร์ทั้งในเมืองไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมสร้างเมืองแห่งใหม่นี้รองรับความต้องการและกำลังซื้อมหาศาลในอนาคต
ดึงต่างชาติร่วมปลุกรังสิต
นายกิตตินันท์ สำรวจรวมผล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สยามฟิวเจอร์ฯและกลุ่มอิเกียได้มีการซื้อที่ดินเพิ่มบริเวณรังสิต คลอง 5 (รังสิต-นครนายก) จาก 250 ไร่ ที่ได้ขยับเพิ่มเป็น 900 ไร่ บนพื้นที่แปลงเดียวกันทั้งหมด โดยสยามฟิวเจอร์ฯถือหุ้นในบริษัทร่วมค้ากับอิเกีย จำนวน 250 ไร่ ซึ่งจะนำไปพัฒนาเป็นโครงการเมการังสิต ขณะที่อีก 650 ไร่ใหม่นั้น กลุ่มอิเกียร่วมกับพาร์ตเนอร์อีก 4-5 รายได้ร่วมกัน
ทั้งนี้ ที่ดินแปลงใหญ่ 900 ไร่นี้จะพัฒนาเป็นโครงการที่หลากหลายรูปแบบ ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างเมืองขึ้นมาใหม่และไม่จำเป็นว่าต้องขึ้นเป็นศูนย์การค้าก่อน โดยจะดูความพร้อมของหลาย ๆ อย่างไปด้วยกัน
"ช่วงกลางเดือนกันยายนนี้จะเริ่มประชุมกันว่า 900 ไร่ รังสิต มีอะไรบ้าง ควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง คือเราต้องการสร้างเมืองขึ้นมาบนทำเลนี้ ซึ่งจะมีพาร์ตเนอร์ในหลาย ๆ ส่วนที่จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วยกัน เอสเอฟถือหุ้นร่วมกับอิเกียใน 250 ไร่ และอีก 650 ไร่ที่เหลือ ก็เป็นการลงทุนของอิเกียและพาร์ตเนอร์รายอื่น ๆ 4-5 รายร่วมกัน โดยอิเกียจะเป็นตัวยืน"
"ถามว่ารังสิตรออะไร รอทุกอย่าง รอจังหวะ อย่างบางนาตอนนั้นพัฒนาไปมากกว่ารังสิตตอนนี้อีก ก็ยังขายลำบาก แต่อนาคตตรงนี้ได้ในวงกว้าง กินตลาดได้กว้าง แต่คู่แข่งเยอะและใหญ่"
จากขนาดของพื้นที่ดินจำนวนดังกล่าวทำให้ทำเลรังสิตตรงนี้ต้องถูกพัฒนาด้วยระดับอินเตอร์ ต้องเป็นพาร์ตเนอร์ต่างประเทศ ซึ่งมีการพูดคุยกันแล้ว ไม่ใช่ระดับโลคอล ซึ่งเมืองไทยมีต่างชาติอยากจะเข้ามาอีกจำนวนมาก
"อะไรจะเริ่มก่อน เริ่มหลัง เราจะต้องดูพื้นที่และดูความพร้อม ศูนย์การค้าไม่จำเป็นต้องเริ่มก่อนก็ได้ อาจจะเป็นแม็กเนตอื่น ๆ ที่เหมาะสมก่อน ทุกคนมีจุดหมายเหมือนกันคือต้องการปั้นตรงนี้เป็นเมือง"
บางใหญ่...ถ้าไม่เวิร์กอย่าฝืน
ผู้บริหารสยามฟิวเจอร์ฯขยายความถึงที่ดินแปลงบางใหญ่ที่ติดกับโครงการ "เซ็นทรัล เวสต์เกต" ว่า 50 ไร่ในบางใหญ่ที่ซื้อไว้กำลังจะขายออกไป เนื่องจากราคาที่ดินปรับตัวขึ้นมาแล้วราว 30% และการที่เซ็นทรัลไปเปิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่และครบแล้วนั้น คงไม่จำเป็นที่จะต้องไปแข่งกัน ตอนนี้มีคนสนใจซื้อหลายราย เป็นกลุ่มลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการเปิดเซ็นทรัล เวสต์เกต และรถไฟฟ้าที่จะเปิดในปีหน้า ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวขึ้น
"50 ไร่แปลงนี้ควรขายแบบยกแปลง ด้วยข้อจำกัดทางเข้าออก คาดว่าปีหน้าจะสามารถปิดการขายได้ และการไม่มีบางใหญ่อาจส่งผลกระทบต่อแผนการเติบโตของเอสเอฟที่วางไว้...แต่ถ้ามันไม่เวิร์ก ดึงดันไปมันก็ไม่ไหว เรารู้เวสต์เกตจะขึ้นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่มาก และมานั่งคุยกัน พื้นที่บางใหญ่ยังไม่พร้อมถ้าขึ้น 2 ศูนย์การค้า"
นอกจากนี้ ที่ดินเปล่า 50 ไร่ ติดกับศูนย์การค้าเมกาบางนา อยู่ระหว่างทำ Master Plan ว่าจะให้เช่าหรือขายขาด เพื่อนำไปพัฒนาต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นอาคารสำนักงาน, โรงแรม, Convention Hall, ที่อยู่อาศัย หรือ Water Park เป็นต้น รวมถึงได้เพิ่มร้านค้าใหม่ ๆ เข้าไปเสริมทัพดึงลูกค้า อาทิ อาฟเตอร์ยู, เกรย์ฮาวด์, เซโฟร่า, มูจิ, เอช แอนด์ เอ็ม เป็นต้น หลังร้านค้าครบสัญญาเช่า 3 ปี
ต่อสัญญาที่ดิน-เพิ่ม พท.ขาย
ผู้บริหารสยามฟิวเจอร์ฯกล่าวว่า บริษัทได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินและขยายพื้นที่ใน 3 โครงการ คือ ปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่เช่าโครงการในศูนย์การค้า ฉะเชิงเทรา พาวเวอร์ เซ็นเตอร์ จาก 2,100 ตร.ม. เป็น 10,500 ตร.ม. โดยจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2559, ศูนย์การค้ามาร์เก็ตเพลส ทุ่งมหาเมฆ ได้ต่อสัญญาและเช่าที่ดินเพิ่มอีก 9,000 ตร.ม. เป็น 12,000 ตร.ม. พร้อมเปิดให้บริการในไตรมาส 4 ปี 2560 และศูนย์การค้ามาร์เก็ตเพลส ทองหล่อ ซอย 4 ได้ต่อสัญญาเช่าที่ดินไปอีก 20 ปี
ส่วนการเปิดโครงการใหม่ คือ LPN รังสิต คลอง 1 เลื่อนจากเดือน ต.ค.ปีนี้ เป็นไตรมาส 1 ปีหน้า ด้วยพื้นที่เช่า 5,925 ตร.ม. ทั้งนี้ ปัจจุบันสยามฟิวเจอร์ฯมีพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด 412,369 ตร.ม.
"ในปีนี้ศูนย์การค้าของเราทั้งหมดยังมีอัตราการเช่าพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 95% ซึ่งเราไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำมากนัก เพราะกำลังซื้อหลักระดับ B, B+ และ A ยังถือว่าดีอยู่ และต้นปีที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มค่าเช่าขึ้นเฉลี่ย 5%"