ศาลสูงยุโรปตัดสิน บริษัทต้องจ่ายเงินพนักงาน นับชั่วโมงขณะเดินทางไปทำงานรวมด้วย
ซีเอ็นเอ็นมันนี่ รายงานว่า ศาลสูงยุโรปมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ให้ลูกจ้างที่ทำงานให้บริษัท ซึ่งเดินทางจากสถานที่ทำงานหนึ่งไปสู่อีกทางหนึ่ง ต้องได้รับการพิจารณาว่า เวลาเหล่านั้นเป็นเวลาทำงาน โดยนับตั้งแต่การเดินทางออกจากบ้านและกลับด้วย ซึ่งกฎนี้จะถูกนำไปใช้ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศ
ทั้งนี้ กฎดังกล่าวไม่นับรวมสำหรับผู้ที่เป็นพนักงานออฟฟิศที่เดินทางไปกลับบ้านและออฟฟิศซึ่งตั้งอยู่ที่เดิมเป็นประจำ โดยศาลยุติธรรมยุโรปได้ยกตัวอย่างว่า ถ้าช่างซ่อมประปาต้องเดินทาง 2 ชั่วโมง เพื่อไปทำงานสถานที่แรกในตอนเช้า เวลาในการเดินทางนั้นๆ ต้องถูกนับเป็นเวลาทำงานด้วย และรวมถึงการเดินทางกลับบ้านด้วย
อย่างไรก็ตาม การออกกฎนี้ เกิดจากกรณีการทำงานของพนักงานบริษัทรักษาความปลอดภัยไทโค (Tyco หรือ TYC) ในสเปน ที่ต้องเดินทางไปทำงานเพื่อติดตั้งและเช็คระบบความปลอดภัยในสถานที่ต่างๆ ซึ่งบางวันต้องใช้เวลาขับรถไปยังสถานที่ทำงานแห่งแรกเป็นเวลา 3 ชั่วโมง แต่บริษัทไม่นับว่าเป็นเวลางานจนกว่าพนักงานจะเดินทางไปถึงที่ที่ต้องไปปฏิบัติงานแล้ว
ซาราห์ เฮนโคซ์ หุ้นส่วนบริษัทเอเลน แอนด์ โอเวอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจ้างงาน กล่าวว่า การออกกฎดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานทำงานที่ต้องเคลื่อนย้ายและเดินทางตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังระบุว่า บริษัทต่างๆ จะหาทางเลี่ยงกฎดังกล่าวเพื่อไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยการตั้งออฟฟิศประจำขึ้นโดยให้พนักงานเข้าไปตอกบัตรหรือเซ็นชื่อก่อนที่จะเริ่มเดินทางไปปฏิบัติงานแรกของวัน ซึ่งการทำเช่นนี้ก็จะสามารถลดเงินที่ต้องจ่ายให้พนักงานเป็นค่าเดินทางได้
รายงานข่าวระบุว่า พนักงานกลุ่มที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลประโยชน์จากกฎนี้คือ ผู้ทำงานดูแลผู้ป่วย ประเภทโฮมแคร์ และบริการด้านอื่นๆ ซึ่งต้องเดินทางไปยังบ้านของผู้ว่าจ้าง
ทั้งนี้ ยูนิสัน สหภาพแรงงานที่ดูแลพนักงานโฮมแคร์จำนวน 30,000 ราย ในสหราชอาณาจักร ยินดีจะปฏิบัติกตามกฎนี้ แต่ต้องมีวิธีกำกับให้แน่ใจว่าพนักงานจะไม่โกงบริษัท
นายแมทธิว อีแกน โฆษกยูนิสัน กล่าวว่า ไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะทำให้กฎใช้ได้จริงๆ และราบรื่น