อยากเที่ยว...แต่มีงบจำกัด ประหยัดค่าอะไรได้บ้าง? (ตอน 2)
จากบทความตอนที่แล้ว MoneyGuru.co.th ได้นำเสนอไอเดียการจัดการงบประมาณการท่องเที่ยว โดยการตัดค่าใช้จ่ายจาก 1.การเลือกซื้อตั๋วเครื่องบิน 2.การเลือกที่พัก และ 3.การวางแผนสถานที่เที่ยวล่วงหน้า นั้น เรามาต่อกันที่ ตอนที่ 2 กันครับ
4. เตรียม Pocket Money ล่วงหน้า
พอคุณรู้แล้วว่าจะไปเที่ยวที่ประเทศใด และงบประมาณอยู่ที่เท่าไหร่ การเริ่มดูอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินของประเทศนั้นๆ กับเงินบาทไทย ก็สามารถช่วยให้คุณประหยัดได้ครับ เพราะการเฝ้าดูอัตราแลกเปลี่ยนจะทำให้คุณรู้ว่าเทรนด์ของค่าเงินในสกุลเงินที่คุณจะต้องใช้นั้น อยู่ในขาขึ้นหรือขาลง และช่วงเวลาก่อนการเดินทางอาจจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ค่าเงินนั้นๆ เปลี่ยนแปลงก็ได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง คุณจึงสามารถใช้เทรนด์พิจารณาแลกเงินเก็บไว้ล่วงหน้าก่อนเดินทางครับ
นอกจากนี้ สถานที่แลกเงิน ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อย เราแนะนำว่า อย่าแลกเงินที่สนามบินครับ เพราะคุณมักจะได้อัตราที่สูงกว่าปกติ และอย่าถอนเงินสดเป็นเงินสกุลนั้นๆ จากตู้เอทีเอ็มในต่างประเทศ เพราะจะมีค่าธรรมเนียมที่่คุณจะต้องเสียเพิ่มเติม
5. เปิดโรมมิ่ง หรือ ซื้อซิมใหม่ ดีน้า?
จะไปเที่ยวแต่ละที หลายคนก็คงเป็นห่วงคนทางบ้าน อยากมีสัญญาณโทรศัพท์ไว้ติดต่อให้อุ่นใจ โดยคุณอาจจะใช้บริการ Roaming กับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่ในเมืองไทย หรืออาจจะซื้อซิมการ์ดใหม่แบบเติมเงินไว้ใช้ในประเทศนั้นโดยเฉพาะ แต่ทั้ง 2 วิธีนี้ จะทำให้คุณต้องเสียเงินเพิ่มครับ เราจึงแนะนำว่า ให้ใช้บริการ internet / wifi ตามสถานที่ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปดีกว่า เช่น โรงแรม ร้านกาแฟ ฯลฯ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แล้วคุณจะทึ่งว่า สะดวกสบายพอๆ กับมีสัญญาณมือถืออยู่ในมือเลยล่ะครับ แถมประหยัดเงินได้อีก
6. เปลี่ยนความคิดเรื่องการซื้อของฝาก
หลายคนคงหมดเงินไปเยอะกับการซื้อของฝาก จนบางทีตัวเองไม่ได้เที่ยวสมใจด้วยซ้ำ แถมน้ำหนักกระเป๋าก็อาจจะเกินอีกต่างหาก เราจึงขอแนะนำให้เปลี่ยนความคิดเรื่องนี้เสียใหม่ โดยการส่งเป็นไปรษณีย์กลับไปให้คนที่เมืองไทยแทน เพราะผู้รับจะรู้สึกดีกว่า เป็นสิ่งที่จับต้องได้ แถมยังราคาถูกกว่าของที่ระลึกแบบอื่นๆ เยอะเลยครับ นอกจากนี้ การแชร์รูปภาพของคุณให้คนทางบ้านผ่านทาง social media ต่างๆ ก็เป็นการประหยัดงบประมาณได้ดี เพราะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่มเติม และผู้รับก็ได้เห็นคุณให้หายคิดถึงด้วยครับ
7. กลับจากทริปแล้ว ก็ยังทำเงินได้
เมื่อกลับจากทริปแล้ว แต่ปรากฎว่าเงินพ็อกเก็ตมันนี่ที่เตรียมไปดันเหลือ และค่าเงินบาทไทยยังคงไม่แข็งค่าขึ้น คุณก็สามารถไม่แลกเงินกลับเป็นเงินบาทโดยทันทีได้ครับ แต่เก็บไว้เพื่อเก็งกำไรแทน หรือเพื่อใช้ในทริปต่อไปได้ โดยเฉพาะเงินสกุลหลักๆ เช่น USD, Euro, GBP ฯลฯ ครับ ดีกว่าเสียค่าธรรมเนียมแลกเงินกลับเป็นเงินบาทครับ
หวังว่าเคล็ดลับการตัดค่าใช้จ่ายเวลาไปทริปทั้ง 7 ข้อ จาก MoneyGuru.co.th จะช่วยคุณประหยัดในทริปต่อไปของคุณนะครับ หากสนใจเคล็ดลับการประหยัดเงินในโอกาสอื่นๆ สามารถหาอ่านได้ที่บล็อกของ MoneyGuru.co.th ครับ
อ่านบทความ “อยากเที่ยว...แต่มีงบจำกัด ประหยัดค่าอะไรได้บ้าง? (ตอน 1)” ได้ ที่นี่ ครับ