บุกดงกล้วยหอมทอง...พันล้าน "Land of Hom Banana"

บุกดงกล้วยหอมทอง...พันล้าน "Land of Hom Banana"

บุกดงกล้วยหอมทอง...พันล้าน "Land of Hom Banana"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย รัตนา จีนกลาง

แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเห็นผลไม้หลายชนิดขึ้นมาวางขายในห้างสรรพสินค้า หรือโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ เพราะนี่คือช่องทางการจัดจำหน่ายที่ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคได้ครอบคลุม กว้างขวางมากที่สุดในยุคนี้

แต่ปรากฏการณ์ทางการตลาด "กล้วยหอมลูกเดียว" แพ็กอยู่ในถุงพลาสติกติดแบรนด์ วางขายเด่นสะดุดตาอยู่หน้าเคาน์เตอร์เก็บเงินในร้านสะดวกซื้อ โดยเฉพาะในเซเว่นอีเลฟเว่นนับพันสาขา ขายดิบขายดี จนกระทั่งขาดตลาดในบางวันของฤดูกาลกล้วย ๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นตัวชี้ว่าตลาดกล้วยหอมทองโตแบบก้าวกระโดด

ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่งเห็นว่า นี่เป็นการตอบโจทย์การตลาดได้ตรงจุดจริง ๆ สำหรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และตอนนี้กระแสรักสุขภาพก็กำลังมาแรง ผู้คนนิยมทานกล้วยหอมกันมากขึ้น ขณะที่นักกีฬาอาชีพระดับโลกก็ต้องทานกล้วยหอมเช่นกัน เพราะเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง

เมื่อก่อนหากคิดจะทานกล้วยหอม ก็ชั่งใจว่าจะมีใครช่วยกินมั้ย เพราะควักตังค์ซื้อมาแบบยกหวีเกือบ 20 ลูก ก็กินไม่หมด กินไม่ทันสักที เพราะกล้วยจะสุกงอมเร็วมาก แช่ตู้เย็นก็เอาไม่อยู่ เพราะจะแปรสภาพเป็นสีดำ เนื้อเละ เน่าเสียง่าย ทานไม่ได้

แต่วันนี้มีคนคิดแบ่งกล้วยหอมขาย ทั้งแบบลูกเดียว สองลูก สามลูก สี่ลูก หรือหากเป็นครอบครัวใหญ่ก็สามารถซื้อยกหวีไปเลย นี่คือทางเลือกของคนซื้อปลายทาง เพราะซื้อง่าย-ทานสะดวก เพียง 1-2 ลูกก็อิ่มท้องแล้ว

คำถามคือว่าเจ้ากล้วยหอมเหล่านี้ มาจากที่ไหน ใครปลูก ใครขาย...? ยุทธการแกะรอยดงกล้วยหอมทอง จึงเริ่มขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ทีมงานทำการบ้านล่วงหน้า ก็เริ่มเห็นต้นทางแล้วว่า "จังหวัดปทุมธานี" ซึ่งอยู่ใกล้ชานเมืองกรุงเทพฯนี่แหละ ที่เป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมมากอันดับหนึ่งของประเทศไทย

โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานข้อมูลไว้ว่า ในปี 2556 นั้น ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทั้งประเทศ 86,270 ไร่ มีผลผลิตรวม 234,220 ตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ 232,689 ตัน ส่งออกต่างประเทศ 1,531 ตัน มูลค่าการส่งออกกว่า 46.07 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกยังน้อยมาก

ที่น่าสนใจอีกก็คือ พื้นที่ 5 อันดับแรกที่ปลูกกล้วยหอมมากที่สุดคือ ปทุมธานี 14,170.5 ไร่ (อำเภอหนองเสือ ปลูกมากที่สุดราว 14,000 ไร่ เกษตรกร 700 ราย) รองลงมาคือ เพชรบุรี 8,956 ไร่ ชุมพร 8,507 ไร่ สระบุรี 3,997 ไร่ และ หนองคาย 3,254 ไร่ ที่เหลือก็กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบปลูกกินในครอบครัว หรือส่งขายตลาดภายในจังหวัดกันเอง

วันนี้ ปทุมธานี เมืองแห่งทุ่งรังสิต โดดเด่นทั้งในฐานะเมืองโรงงาน เมืองโลจิสติกส์-ศูนย์กระจายสินค้า เมืองหมู่บ้านจัดสรร แต่ที่สำคัญยังเป็น "คลังผัก-ผลไม้" หล่อเลี้ยงคนกรุงอีกด้วย

โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอ "หนองเสือ" ซึ่งในอดีตเคยเลื่องชื่อเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ และสวนส้มแสนอร่อย แต่วันนี้ปิดตำนานไร่ส้มไปแล้ว เพราะปลูกยาก โรค/แมลงเยอะ แต่วันนี้ก็มีชาวสวนบางรายพยายามพลิกฟื้นสวนส้มขึ้นมา แต่ก็มีพื้นที่ไม่มาก เพราะดูแลยาก ต้นทุนสูง ทำให้ชาวหนองเสือต้องปรับตัว และได้หันมาปลูกกล้วยหอมเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่ป้อนให้กับห้างโมเดิร์นเทรด

คำว่า หนองเสือ ดูน่าเกรงขามมิใช่น้อย ดินแดนแห่งนี้ก็มีตำนานเล่าขานกันมาว่า เนื่องจากภูมิประเทศเป็นป่าดงชุ่มน้ำมาก่อน จึงมีสัตว์ป่าทั้งเสือ-ช้างลงมาจากภูเขา รอยต่อสระบุรีและนครนายก เพื่อมาหากินในละแวกนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า หนองเสือ ในเวลาต่อมานั่นเอง

เมื่อเราตะลุยไปตามหาดงกล้วย โดยเริ่มตั้งแต่โซนคลอง 8 จนถึงคลอง 13 อำเภอหนองเสือ ก็พบว่าที่นี่มีสภาพดินดำน้ำชุ่ม เป็นแอ่งน้ำ เขียวขจีเต็มไปด้วยสวนกล้วยหอม สวนมะพร้าว สวนปาล์มน้ำมัน สวนผักชนิดต่าง ๆ ปลูกสลับกันไป

นอกจากนั้นบริษัทจากญี่ปุ่นก็ได้เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยออร์แกนิก เพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นด้วย นอกเหนือจากที่สหกรณ์การเกษตรท่ายาง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่เป็นผู้ปลูกและส่งออกกล้วยออร์แกนิกไปตีตลาดญี่ปุ่นมาหลายปีแล้ว แต่ก็มีปริมาณไม่มากนัก เพราะปลูกยาก ต้องปลอดสารเคมีจริง ๆ ซึ่งผู้บริหารสหกรณ์บอกว่า ปัจจุบันได้หันมาโฟกัสทำตลาดในประเทศเป็นหลัก เพราะความต้องการเพิ่มมากขึ้นจนผลิตไม่พอขาย เรียกว่าเป็นปีทองของกล้วยจริง ๆ

เจ้าของสวนกล้วยที่หนองเสือประเมินว่า น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท กล้วยหอมทองสามารถปลูกได้เกือบทุกพื้นที่ของไทย ใช้เวลาราว 9 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว พร้อมให้คำแนะนำแก่บรรดามือใหม่หัดปลูกว่า ต้องศึกษาวิธีการปลูกและดูแลรักษาให้ดีก่อน เพราะลงทุนสูง

สิ่งที่ชาวสวนกลัวกันมาก เพราะอยู่เหนือการควบคุมก็คือ "เจ๊ลม" หมายถึง ลมพายุที่พัดกระหน่ำต้นกล้วยหักระเนระนาด บางแห่ง3เสียหายหลายแสนมาแล้ว อีกทั้งตอนนี้หน่อกล้วยหอมก็ขาดตลาดและแพง

นี่คือเรื่องของกล้วยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook