บสย.เดินหน้าค้ำประกันสินเชื่อแสนล้าน
บสย.พร้อมเดินหน้าค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน คาดเกิดสินเชื่อในระบบ 170,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการกว่า 30,000 ราย
นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กันยายน 2558 นับว่าเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากปรับเกณฑ์การค้ำประกันให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น ทำให้ธนาคารมั่นใจปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าที่มีศักยภาพน้อยกว่าเกณฑ์ปกติมากขึ้น และหากเป็นเอสเอ็มอีที่เคยมีปัญหาหนี้และกลับมามีศักยภาพ แบงก์จะพิจารณาปล่อยสินเชื่อ
สำหรับการค้ำประกันครั้งนี้ บสย.จะรับภาระจ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็นหนี้ NPGs ทั้งโครงการรวมทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละ 30 ของภาระค้ำประกัน โดยแบ่งชดเชยเป็น 2 ส่วน สัดส่วนแรก NPGs ร้อยละ 15 สถาบันการเงินรับผิดชอบ และอีกร้อยละ 15 บสย.จ่ายค่าประกันชดเชย เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต่อเนื่อง 4 ปี โดยปีแรกฟรีค่าธรรมเนียม
ส่วนปีที่ 2-4 รัฐบาลจ่ายค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีร้อยละ 1.25 , 0.75 และ 0.25 ตามลำดับ รวมเงินชดเชยจากรัฐบาลตลอด 4 ปี เป็นเงิน 4,000 ล้านบาท
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า โครงการค้ำประกัน PGS5 ปรับปรุงใหม่ครั้งนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นและลดความกังวลในยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดว่าจะทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน ยอดสินเชื่อทั้งโครงการ 100,000 ล้านบาท อาจใช้เวลากว่า 1 ปี จะปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมด จึงคาดว่าสินเชื่อของระบบจะขยายตัวสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ
หากจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3 จะทำให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-6 ซึ่งจะทำให้เอสเอ็มอีที่ยังไม่เข้าถึงแหล่งทุนกว่า 2 ล้านราย จากทั้งหมด 2.7 ล้านราย มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วยผู้บริหาร บสย. และสมาคมธนาคารไทย แถลงความพร้อมค้ำประกันสินเชื่อแสนล้านบาท โดยนายกฤษฎา ระบุว่า บสย.เตรียมรับค้ำประกันสินเชื่อวงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบเพิ่มขึ้น 170,000 ล้านบาท โดยพร้อมให้ค้ำประกันสินเชื่อตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
เมื่อสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลทั้งซอฟท์โลนของธนาคารออมสิน 100,000 ล้านบาท และการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. จะทำให้สินเชื่อออกสู่ระบบมากขึ้นช่วยพยุงเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3 ได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งคณะกรรมการกระตุ้นการลงทุน เพื่อติดตามและขับเคลื่อนการลงทุนจากโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยมีกรมด้านภาษีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อศึกษาแนวทางส่งเสริมการลงทุนของเอสเอ็มอีให้เกิดการลงทุนระยะยาวอย่างเข้มแข็ง เช่น กลุ่มนวัตกรรม เกษตรแปรรูป.-สำนักข่าวไทย