ปลูกกะหล่ำเดือนละแสน "ภูทับเบิก" เกษตรเปลี่ยนอนาคต
ประชาชาติธุรกิจ สำรวจเศรษฐกิจของภูทับเบิกที่โด่งดังเรื่องการปลูกกะหล่ำปลีแหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศและใช้สารเคมีมากที่สุดแต่ในระยะเวลา 5 ปีที่กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าไปส่งเสริมเรื่องการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ลดการใช้สารเคมี มาสู่การเกษตรปลอดภัยสร้างรายได้มหาศาล
ตัวเลขของนักท่องเที่ยวในระยะ 5 ปีมานี้ เพชรบูรณ์มีนักท่องเที่ยวเติบโตขึ้นปีละ 10-15 เปอร์เซ็นต์ และเป็นจังหวัด 12 เมืองต้องห้ามพลาด ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเพชรบูรณ์เฉลี่ย 1.7 ล้านคนต่อปี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ กล่าวด้วยว่า ปลายปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวทะลุ 2 ล้านคนแน่นอน และคาดว่าจะมีรายได้กว่า 5,400 ล้านบาทในสิ้นปี หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรที่สำคัญก็คือ "ภูทับเบิก" อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์
ผู้ใหญ่บ้านทับเบิกใหม่ นายวันชัย ชยารมย์ กล่าวว่า ที่ภูทับเบิก มีพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก ๆ ราว 2,000 ไร่ และพื้นที่ไร่ขนาดใหญ่อีกหมื่นกว่าไร่ ปลูกกะหล่ำปลีเป็นหลัก ส่งไปขายทั่วประเทศ โดยจะส่งไปที่ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท และตลาดหล่มสัก ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 18 บาท หัวหนึ่งตกราว 1 กิโลครึ่ง
"ชาวบ้านได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมการเกษตร และจังหวัดในการลดการใช้สารเคมีเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา พอเราเริ่มลดสารเคมี ต้นทุนลดลง ขณะที่สินค้าส่งออกของจังหวัด อย่างกะหล่ำปลีก็กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อไปด้วย"
เกษตรกรที่ภูทับเบิกจะมีรายได้จากการปลูกกะหล่ำปลี1รอบหรือราว 3 เดือน ครั้งละ 2-3 แสนบาทต่อครัวเรือน และมีแนวโน้มว่าราคาจะเพิ่มมากขึ้น
ผู้ใหญ่วันชัยเล่าต่อว่า ตอนนี้มีคนขึ้นมาชมไร่กะหล่ำปลีมากขึ้น นักท่องเที่ยวจะขึ้นมาพัก 1 คืนเพื่อมาชมไร่กะหล่ำปลี แล้วก็ขับรถต่อไปที่อื่นๆ ที่นี่จึงแทบจะไม่มีห้องว่างเลย มีคนมาจับจองตลอดทั้งปี ราคาห้องอยู่ที่ 500-3,500 บาทต่อคืน
"ในช่วงสองสามปีนี้ มีการขยายตัวของรีสอร์ตเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีผู้ประกอบการราว 60 ราย มีห้องทั้งหมด 900 ห้อง และคงจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พื้นที่เกษตรลดลง แต่พื้นที่ปลูกหลัก ๆ จะอยู่ด้านใน ซึ่งเราจะมีรถบัสรับไปดูไร่กะหล่ำปลีแปลงใหญ่ในพื้นที่กว่า 10,000 ไร่"
ผู้ใหญ่บอกด้วยว่า นักท่องเที่ยวจะเต็มตลอดในช่วงเสาร์-อาทิตย์ จนทำให้ชาวบ้านแบ่งพื้นที่มาทำที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว "ถ้าพื้นที่เต็มแล้ว ต่อไปที่พักจะขยายตัวไปที่ภูซากุระและภูลมโลในอนาคต
ภูทับเบิกมีเงินหมุนเวียนจากการเกษตรและรีสอร์ต โฮมสเตย์ ราวปีละพันล้านบาท และก็ยังเติบโตไม่หยุด เมื่อพื้นที่ปลูกกะหล่ำปลีลดลง ก็ยิ่งเกิดการแข่งขันของพ่อค้า เข้ามาประมูลรอจับจองตั้งแต่ยังไม่เก็บเกี่ยว ขณะที่รีสอร์ต-โฮมสเตย์ ก็เป็นจุดหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว เพื่อมาดู "ไร่กะหล่ำปลีปลอดภัยสุดลูกหูลูกตา" ได้อีกด้วย
นายสงกรานต์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเสริมว่า กรมได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรรุ่นใหม่ทำงานกับคนรุ่นเก่ามากขึ้น รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับกลุ่มแรงงานในชุมชนคือเป็นชายหรือหญิงมากกว่ากัน ก็จะมีการจัดการต่างกัน และนำข้อดีผลิตภัณฑ์ของแต่ละชุมชนออกมาพัฒนาสร้างเศรษฐกิจต่อไป
"อย่างภูทับเบิกเขาปลูกกะหล่ำปลี นี่คือข้อดี เพราะหัวกะหล่ำปลี 80 จาก 100 ลูกมาจากที่นี่ ทุกคนต้องได้รับประทาน ตราบใดที่มีกะหล่ำปลีคู่กับภูทับเบิก สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น และที่ภูทับเบิกยังมีอากาศหนาวทั้งปี มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,786 เมตร เป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ สิ่งที่เราทำก็คือ ทำให้เกิดความสุขในการผลิต และเราไม่ได้ทำผู้เดียว เป็นการร่วมมือกับของกระทรวงเกษตรฯ-จังหวัด นี่คือเป้าหมายหลักของเรา"
วันนี้เศรษฐกิจในชุมชนเกิดได้ ผู้ประกอบการใหม่ ๆ วิสาหกิจชุมชนคุณภาพเกิดได้ เพียงแต่ต้องรู้จักใช้เครื่องมือต่าง ๆ ตามจุดเด่นของแต่ละที่ให้เหมาะสมเท่านั้น