คลังเตรียมหาทางรองรับเงินดูแลวัยเกษียณ
กระทรวงการคลังเตรียมหาทางรองรับเงินดูแลวัยเกษียณในช่วง 10 ปีข้างหน้า โตเพิ่มเป็น 800,000 ล้านบาท แนะออมเงินระยะยาวเก็บเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “เงินใช้หลังเกษียณ ความรับผิดชอบของใคร” ว่า ข้าราชการ ประชาชน สมัครเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม แต่ยังมีผู้อยู่นอกระบบการออมเพื่อวัยชรา จึงต้องการหาแนทางส่งเสริมให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการออมเพื่อวัยชรามากขึ้น ด้วยการให้ความรู้ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญในการออมระยะยาว เพราะประเทศพัฒนาแล้วจะมีระบบดูแลสวัสดิการหลังเกษียณได้อย่างครอบคลุม
ดังนั้น ไทยจึงต้องส่งเสริมการออมระยะยาวมากขึ้น ยอมรับว่าแม้ภาระการใช้เงินอุดหนุนระยะยาวของรัฐบาลผ่าน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคมเป็นเงินประมาณ 300,000 ล้านบาทในปี 2557 นับเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และเพิ่มขึ้นเป็น 800,000 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ขนาดเศรษฐกิจจีดีพีของประเทศจะสูงขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตามต้องบริหารจัดการภาระการคลังระยะยาวอย่างรอบคอบ เพื่อรองรับภาระที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอแนวคิดการเพิ่มวัยเกษียณอายุการทำงานจากอายุ 60 ปี และการเพิ่มเงินสมทบของผู้เป็นสมาชิกผ่านกองทุนต่าง ๆ
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ กบข. กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการออมประเทศไทยค่อนข้างครอบคลุม ด้วยการออมผ่าน กบข. กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 45 ล้านคน รวมถึงประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอีก 9 ล้านคน และหากต้องการมีรายได้สำหรับใช้จ่ายอย่างเพียงพอ ต้องมีรายได้ประมาณร้อยละ 70 ของเงินได้ก่อนเกษียณ ดังนั้น ในส่วนของ กบข. จึงเสนอบริการออมเพิ่มภาคสมัครใจอัตราร้อยละ 1-12 เพื่อให้สมาชิกสะสมเงินต้นมากขึ้น เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากขึ้นจากเดิม
นายสมบัติ กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว จึงสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนระยะปานกลางถึงระยาว ดังนั้น จึงมั่นใจว่าผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.ปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ โดยผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.5 ปัจจุบันผลตอบแทนการลงทุนของ กบข.ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกันยายนนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.5-2.7 เนื่องจาก กบข.ปรับพอร์ตการลงทุนให้กระจายความเสี่ยงมากขึ้น โดยเน้นลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงร้อยละ 63 เช่น พันธบัตร ตลาดหุ้นไทยร้อยละ 10 ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก กองทุนอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 5
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า ตั้งแต่เปิดดำเนินการ กอช.มาเป็นเวลา 1 เดือน ผู้มีอาชีพอิสระสนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพื่อออมเงินระยะยาวกว่า 300,000 คน เนื่องจากออมผ่าน กอช.มีความยืดหยุ่นสูง เช่น หากออมเงินมาตั้งแต่อายุ 15 ปี จากนั้นจบการศึกษาได้งานทำเป็นราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ สามารถหยุดนำส่งเงินสะสมได้ เพื่อเปลี่ยนไปเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกบข.แทน จึงมีผู้สนใจสมัครจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย