รีเซตวินัยการเงินตัวเองบ้าง

รีเซตวินัยการเงินตัวเองบ้าง

รีเซตวินัยการเงินตัวเองบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ มุมคิดคนข่าว โดย ปัญจวรรณ pan_jawan@hotmail.com

ด้วยความชอบแวะเวียนเข้าเว็บไซต์ pantip.com อยู่เสมอ เพื่อดูว่า ขณะนั้น ๆ ผู้คนเขาสนใจเรื่องอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆพลันก็ไปสะดุดกับหัวข้อ "อาการของคนเสพติดหนี้ (Debt Addiction)" หรือ "เป็นหนี้ซ้ำซาก"

ช่างเป็นหัวข้อที่เข้ากับบรรยากาศของคนไทยตอนนี้เสียจริง เพราะถือเป็นหนึ่งปัญหาใหญ่ และเป็นภัยเงียบที่บ่อนทำลายความแข็งแรงทางการเงินของคุณโดยไม่รู้ตัว

เจ้าของกระทู้ได้หยิบยกสัญญาณอันตราย12ประการที่แปลมาจากhttp://www.moneycrashers.com/what-is-debt-addiction/ และ http://debtorsanonymous.org/help/signs.htm

เริ่มตั้งแต่ความไม่เข้าใจสถานะทางการเงินของตัวเอง มีพฤติกรรมที่ชอบหยิบยืมเงินชาวบ้าน ไม่มีการวางแผนทางการเงิน จับจ่ายของที่ไม่จำเป็น ไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อถึงกำหนด รู้สึกดีเมื่อซื้อของด้วยบัตรเครดิต สร้างหนี้ใหม่โปะหนี้เก่า ใช้เงินเดือนชนเดือน รู้สึกอับอายเมื่อสนทนาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กับคนอื่น มีรายได้น้อยแต่ใช้มาก และมีความหวังเสมอว่าจะมีใครหรืออะไรเข้ามาช่วยยามลำบาก

ที่จริงแล้วการเป็นหนี้ ผู้เขียนมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่การ "ไม่มีวินัย" ในตัวเองต่างหากที่น่าอาย คนทั่วไปมักคิดว่าใช้จ่ายเท่าไหร่ไม่เป็นไร ขอให้หาเงินได้มาก ๆ เอาไว้ก่อน หรือถ้าหาเงินได้มากแล้วจะรวยขึ้น แต่ลืมคิดกลับด้านว่า ไม่สำคัญว่าคุณจะหาเงินได้เท่าไหร่ แต่คุณรู้จักใช้และเก็บให้เป็นหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า

คำถามที่ตามมาคือ คุณจะทนกับสภาวะที่เป็นอยู่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ได้นานแค่ไหน เพราะคงไม่มีใครยื่นมือมาช่วยเหลือคุณได้ตลอดเวลาหรอก ถ้าคุณไม่ดูแลตัวเอง

ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะหันมา "รีเซตชีวิตทางการเงินตัวเองเสียใหม่"

เริ่มจากตรงไหน ผู้เขียนว่าเรื่องง่าย ๆ อันดับแรกเลย ต้องยอมรับปัญหาและตระหนักรู้ว่า เป็นหนี้เขา ยังไงเราก็ต้องจ่าย ฉะนั้น ก็ต้องเลิกสร้างหนี้ใหม่จนเกินตัว (โดยเด็ดขาด) ถ้าเป็นไปได้ก็หาช่องทางหารายได้เสริม (เริ่มจากไม่ต้องมีต้นทุน) พูดกันตรง ๆ อยากรวย อยากมั่งคั่ง ก็ต้องหารายได้ แต่สำคัญกว่าคือเริ่มจากเงินในมือของตัวเองนั่นละคะ

แต่ถ้าวันหนึ่งทำแล้วยังรู้สึกว่าไม่ไหว แนะนำเข้าไปขอปรับโครงสร้างหนี้กับแบงก์กันโต้ง ๆ ไปเลย แล้วตั้งหน้าตั้งตาใช้กรรมเสีย ถึงจุดหนึ่งที่พอมีเงินเหลือก็เก็บออมหรือลงทุนบ้าง (คิดอะไรไม่ออกเข้าแบงก์ที่มีอยู่หลากหลายสีได้เลยค่ะ)

เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรู้ปัญหาข้อนี้ดีอยู่แล้ว ซึ่งก็เห็นความพยายามในการแก้ไข โดยเฉพาะกองทุนการออมแห่งชาติที่พยายามจะให้การออมไปสู่ประชาชนฐานราก

ทางภาคเอกชน โดยสมาคมธนาคารไทยผนึกกำลังกับสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สอ.ดย.) เดินหน้าโครงการ "รู้เก็บ รู้ใช้ สบายใจ" หรือ Saving for Change ภายใต้หลักสูตร 4 รู้สู่ความมั่งคั่ง คือรู้เป้าหมาย รู้ใช้จ่าย รู้จักออม และรู้ลึกลงทุน เพื่อปลูกฝังการวางแผนทางการเงินเพิ่มพูนความรู้แก่เยาวชนแบบบูรณาการอีกด้วย

เหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆแต่จำเป็นสำหรับคนไทยมากๆอย่าคิดว่า วินัยในการใช้จ่ายไม่จำเป็น แต่ที่จริงแล้วสำคัญยิ่งยวด อย่าลืม !!! อยู่อย่างคนรวยไม่มีวันรวย อยู่อย่างคนจนไม่มีวันจน

เร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง จะได้ไม่ต้องมานั่งรีเซตตัวเองใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook