แบงก์หั่น ดบ.สกัดลูกค้ากู้บ้านหนี แข่งดุโปร "รีไฟแนนซ์" ลดดอก 1% ยืดเวลาผ่อนหนี้

แบงก์หั่น ดบ.สกัดลูกค้ากู้บ้านหนี แข่งดุโปร "รีไฟแนนซ์" ลดดอก 1% ยืดเวลาผ่อนหนี้

แบงก์หั่น ดบ.สกัดลูกค้ากู้บ้านหนี แข่งดุโปร "รีไฟแนนซ์" ลดดอก 1% ยืดเวลาผ่อนหนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์กอดลูกค้าสินเชื่อบ้านแน่น หวั่นคู่แข่งชูดอกเบี้ยถูกชิงยอดรีไฟแนนซ์ "ซีไอเอ็มบี ไทย" ระบุลูกค้าดี แบงก์ยอมเจ็บตัวหั่นดอกเบี้ยลงให้กว่า 1% ฟาก "แบงก์กรุงเทพ" รับยอดสินเชื่อใหม่โตต่ำเป้าเล็กน้อย เผยโฟกัสปรับปรุงงานหลังบ้านรับการแข่งขันปีหน้า แย้มไต๋อยู่ระหว่างเตรียมแผนงานปีหน้า

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการขอรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งขาเข้าและขาออก เคลื่อนไหวผิดปกติ แม้ที่ผ่านมาจะเห็นหลายธนาคาร (แบงก์) ออกผลิตภัณฑ์เพื่อการรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก ทั้งในส่วนของธนาคารเฉพาะกิจ (แบงก์รัฐ) และแบงก์พาณิชย์ ซึ่งลูกค้าที่อยากรีไฟแนนซ์ก็เพราะต้องการลดภาระดอกเบี้ย มีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระและต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม ซึ่งถ้าเป็นกรณีลูกค้าที่มีประวัติการชำระดี จะเป็นกลุ่มที่ธนาคารแย่งชิงกันมากที่สุด จนต้องยอมลดดอกเบี้ยให้สูงถึง 1% หรือมากกว่า

"แบงก์แห่งใหม่ก็ออกแคมเปญดึงลูกค้า แต่แบงก์เดิมก็ไม่ยอมปล่อยลูกค้าไปง่าย ๆ ก็ต้องสู้กันด้วยออปชั่นต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านอัตราดอกเบี้ย ตอนนี้สู้กันทุกทาง เพราะถ้าให้เลือกระหว่างตลาดรีไฟแนนซ์ที่เห็นประวัติการชำระของลูกค้าอยู่แล้ว กับลูกค้าใหม่ แบงก์จะเลือกลูกค้าที่มีประวัติอยู่แล้ว เพราะจะปลอดภัยกว่า ซึ่งกลุ่มนี้จะเริ่มเห็นช็อปดอกเบี้ยในปีที่ 4 และเรามั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยของเราก็อยู่ในระดับที่แข่งขันได้" นางสาวอรอนงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกโปรแกรมรีไฟแนนซ์ สินเชื่อบ้านโฮมโลนฟอร์ยู (Balance Transfer Refinance Program) ให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษเฉลี่ย 3 ปีแรก 4.67% ต่อปี จากปกติจะอยู่ที่ 6-7% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาที่ 5.77% ต่อปี ซึ่งธนาคารได้เตรียมวงเงินให้โปรแกรมนี้รวม 2,000 ล้านบาท แต่ช่วงที่ผ่านมายอดรีไฟแนนซ์ไม่ได้สูงมากนัก โดยปัจจุบันมีลูกค้ารีไฟแนนซ์เข้ามาประมาณ 5-10% ของสินเชื่อใหม่

โดย 7-8 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารมีสินเชื่อใหม่เข้ามาประมาณ 8,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย ซึ่งทั้งปีตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 14,000 ล้านบาท ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท โดยกลุ่มลูกค้าที่ยังเติบโตได้ดีเป็นกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป หรือซื้อที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี สำหรับปีนี้ตลาดคาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบเติบโต 5-6% หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า โดยปกติลูกค้าจะมองหาธนาคารที่จะสามารถรีไฟแนนซ์ออกไป โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ากู้ปีที่ 3 ขึ้นไป เพราะต้องการประหยัดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารในการหาวิธีเพื่อดึงลูกค้าไว้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง หรือการนำแคมเปญสินเชื่ออเนกประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้า เป็นต้น จึงทำให้ปริมาณการรีไฟแนนซ์ของลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก

"เรามีสินเชื่ออเนกประสงค์ซึ่งเป็นวงเงินเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าเป็นกลไกดูแลลูกค้าอยู่แล้วเพราะเราไม่อยากให้เขาย้ายแบงก์และลูกค้าก็ต้องตระหนักว่าการย้ายแบงก์ไม่ใช่เรื่องง่าย" นายทวีลาภกล่าว

ขณะที่ตลาดสินเชื่อใหม่ยอมรับว่าชะลอตัวลงจากปีก่อน ดังนั้นในปีนี้ ธนาคารจึงจะหันมาเน้นปรับกระบวนการบริหารจัดการภายในเพื่อให้พร้อมกับการแข่งขันและภาวะเศรษฐกิจที่น่าจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า

"การซื้อที่อยู่อาศัยก็ยังเห็นความต้องการในตลาดทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอยู่บ้างแต่อาจจะไม่ได้หวือหวาก็หวังว่าปีหน้ามาตรการต่าง ๆ ภาครัฐจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ค่อย ๆ ดีขึ้น ขณะที่หนี้ครัวเรือนภาครายย่อยน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ ขณะเดียวกันแบงก์ยังอยู่ระหว่างการเตรียมแผนงานในปีหน้า ซึ่งจะต้องดูทั้งสภาพแวดล้อม รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะเป็นกลไกสร้างความเชื่อมั่นและส่งผลดีในระยะยาว" นายทวีลาภกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook