บุกสวน "ลองกองตันหยงมัส" เทสโก้ โลตัสลุยซื้อตรง 3 จังหวัดใต้
ด้วยรสชาติที่หวานอร่อย มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ลองกองตันหยงมัสที่ปลูกแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะต้นตำรับจากอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้รับความนิยมอย่างสูง ตลาดบูมสุดขีดราวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะนั้นราคาหน้าสวนพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 80 บาท พ่อค้ารายย่อยรับไปขายต่อในราคากิโลกรัมละ 160-170 บาท ทำให้ความนิยมปลูกลองกองแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศ จนเกิดผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำลงตามลำดับ
ข้อมูลจากคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคใต้ และภาคตะวันออก ตามสถิติปี 2557 ลองกองทั้งประเทศรวม 361,277 ไร่ (เนื้อที่ให้ผล) ผลผลิตรวม 177,978 ตัน แบ่งตามเนื้อที่ให้ผล 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.จังหวัดจันทบุรี เนื้อที่ให้ผล 77,678 ไร่ ผลผลิต 45,444 ตัน 2.จังหวัดนราธิวาส เนื้อที่ให้ผล 60,386 ไร่ ผลผลิต 14,014 ตัน 3.จังหวัดยะลา เนื้อที่ให้ผล 35,904 ไร่ ผลผลิต 22,404 ตัน 4.จังหวัดชุมพร เนื้อที่ให้ผล 34,109 ไร่ ผลผลิต 22,614 ตัน และ 5.จังหวัดนครศรีธรรมราช 25,985 ไร่ ผลผลิต 12,272 ตัน
นอกจากผลผลิตที่ล้นตลาดแล้ว พ่อค้าบางคนอาศัยชื่อเสียงของลองกองตันหยงมัสได้นำผลผลิตจากพื้นที่อื่นสวมแบรนด์ตันหยงมัสเข้าไปจนเกิดปัญหามาตรฐานสินค้าทำให้ราคาตกบวกกับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งทำให้ตลาดลองกองซบเซายิ่งขึ้น
ผลผลิตลองกอง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่เริ่มออกสู่ท้องตลาดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม ปี 2557 ที่ผ่านมา มีจำนวน 40,686 ตัน มาปี 2558 มีจำนวนเพียง 25,104 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 15,582 ตัน หรือ 38.30% คิดเป็นมูลค่าตลาดรวมประมาณ 380 ล้านบาท ในราคาเฉลี่ย ณ แหล่งผลิต 15 บาทต่อกิโลกรัม
โดยเฉพาะผลผลิตของจังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่ให้ผลถึง 60,386 ไร่ แต่ปี 2558 นี้ให้ผลผลิตเพียง 5,930 ตันเท่านั้น ลดลงจากปี 2557 ถึง 8,084 ตัน ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญคือสภาพอากาศที่แปรปรวน และขาดการพัฒนา โดยเกษตรกรไม่มีแรงจูงใจเรื่องราคา จึงปล่อยสวนไปตามยถากรรม ขาดการบำรุงตกแต่งผลผลิต
แม้ว่าผลผลิตในปีนี้จะลดลง แต่ก็ยังไม่สามารถดึงให้ราคาสูงขึ้นมากนัก โดยราคาลองกองช่อเกรดเอ อยู่ที่กิโลกรัมละ 28-30 บาท ส่วนเกรดบี และซี ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-25 บาท และ 12-15 บาท ส่วนตกเกรดคละ 7-8 บาทเท่านั้น
ปัจจุบันการซื้อขายลองกองใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาเปิดล้งเพื่อรับซื้อผลผลิตในพื้นที่อยู่แล้ว แต่เนื่องจากราคาที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ หลายภาคส่วนจึงช่วยหาตลาดให้กับลองกอง 3 จังหวัดชายแดนใต้
อาทิ จังหวัดยะลาได้ประสานงานหาตลาดปลายทาง เพื่อให้เกษตรกรนำผลผลิตไปจำหน่าย เช่น ตลาด อ.ต.ก. ตลาดไอยรา เป็นต้น ขณะที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็มีนโยบายให้เกษตรกรได้ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพลองกอง โดยร่วมกับสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้ามาดำเนินการในการคิดค้นแปรรูปผลผลิตลองกอง โดยทดลองทำแยมลองกอง และน้ำลองกอง เป็นต้น
ล่าสุดไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,800 แห่ง อย่าง "เทสโก้ โลตัส" ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มารับซื้อลองกองจากเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้โดยตรงเป็นครั้งแรก เริ่มต้นที่ศูนย์คัดแยก 2 จุด 2 จังหวัด คือ ยะลา และนราธิวาส โดยรับลองกองตั้งแต่เกรดซีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายในโลตัส 10 สาขาทั่วกรุงเทพ ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท โดยวางเป้าหมายในปีนี้ที่ 80 ตัน และ 150 ตันในปีถัดไป
"บุญธรรม มุณีกาญจน์" ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า งานนี้เป็นจุดเริ่มต้น เป็นการรับซื้อปริมาณไม่มากนัก แต่จะเป็นการฝึกให้เกษตรกรรู้วิธีคัดเกรดผลผลิต ซึ่งต่างจากวิธีขายให้พ่อค้าคนกลางแบบเดิม ๆ ที่ส่วนมากจะใช้วิธีเหมาสวนในราคาที่ถูกมาก บางสวนเหมากันในราคากิโลกรัมละ 4 บาทเท่านั้น
"พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อมีสถานการณ์ชาวบ้านก็ไม่กล้าไปตกแต่งกิ่ง หรือไปพัฒนาเหมือนกับเกษตรกรภาคตะวันออก การทำสวนก็มีขนาดเล็ก 5-10 ไร่ ปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่เกษตรปลอดภัย ไม่นิยมใช้ยากำจัดศัตรูพืช อีกทั้งดินที่มีความชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์ ทำให้ลองกองมีรสชาติอร่อยมาก การที่โลตัสเข้ามาซื้อโดยตรง ถือว่าตัดพ่อค้าคนกลางได้ส่วนหนึ่ง และเป็นการช่วยกระจายลองกองภาคใต้ให้มีชื่อเสียง เพราะโลตัสมีสาขาทั่วประเทศ"
อย่างไรก็ตาม การที่รายใหญ่อย่างเทสโก้ โลตัส เข้ามาช่วยเหลือ กลับพบปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ คือการขายคัดเกรด จะทำให้ลองกองตกเกรดที่เหลือไม่สามารถขายได้ เรื่องนี้ "รอสะดี มะ" กรรมการศูนย์คัดแยก ต.มะนังตายอ อ.เมือง จ.นราธิวาส บอกว่า วิถีชาวบ้านนราธิวาสไม่เหมือนที่อื่น คือไม่ได้ทำสวนลองกองแบบจริงจังนัก ส่วนมากจะปล่อยไปตามธรรมชาติ และคุ้นเคยกับการซื้อขายแบบเดิม ๆ ที่มีพ่อค้าคนกลางเข้าไปรับซื้อเหมาสวน ส่วนการที่โลตัสเข้ามาช่วยซื้อเป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่แน่ใจนักว่าจะทำให้ได้ตรงกับความต้องการ ทั้งเรื่องปริมาณที่ต้องการวันละ 2 ตัน และปัญหาลองกองตกเกรดที่เหลือที่หาคนซื้อไม่ได้
ด้าน "โชคดี วิรุณกาญจน์" หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา บอกว่า ลองกอง 3 จังหวัดภาคใต้เจอวิกฤตหนัก ๆ หลายปี ปีที่ผ่านมาผลผลิตล้นตลาดจนไม่รู้จะล้นอย่างไร ปีนี้ผลผลิตลดลงคาดว่าราคาจะดี ตั้งเป้าไว้กิโลกรัมละ 30 บาท ก็ไปไม่ถึง เพราะก่อนหน้านี้เจอปัญหาน้ำท่วม ทำให้ตลาดปิด พอเจอฝนแล้ง เกษตรกรเร่งตัดก็ทำให้ตลาดราคาตก อีกทั้งราคายางตกทำให้เศรษฐกิจแย่ ชาวบ้านไม่มีกำลังซื้อ จากที่ซื้อคนละ 1 กิโลกรัม ก็ซื้อเพียงครึ่งกิโลกรัม หรือสองขีดเท่านั้น
"เมื่อก่อนตอนราคากิโลกรัมละ 100 บาท ช่อใหญ่เท่าแขนก็ทำได้ แต่ต้องถามว่าราคาจูงใจแค่ไหน วันนี้กิโลกรัมละ 30 บาทยังไม่ได้ เกษตรกรก็ไปเปลี่ยนปลูกพืชอื่นเยอะ ผมอยากให้โลตัสทำอย่างต่อเนื่อง แล้วเราจะหาเกษตรกรเฉพาะจริง ๆ รับรองว่าเราทำให้ได้ แต่ขอให้ทำต่อเนื่อง"
ด้าน "พรเพ็ญ นาถพิริยรัตน์" รองประธานกรรมการฝ่ายกำกับดูแลคุณภาพสินค้า เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า เทสโก้ โลตัส มีโปรเจ็กต์รับซื้อผลผลิตโดยตรงจากแหล่งผลิตมา 5 ปีแล้ว แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่มารับซื้อสินค้าจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยตั้งเป้ารับซื้อลองกอง 80 ตัน และปีหน้าตั้งเป้า 150 ตัน เพราะความต้องการผู้บริโภคในกรุงเทพฯสูงถึง 200 ตัน แม้ว่าเริ่มต้นจะมีปัญหาบ้าง แต่ถือว่าเป็นปีที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เกษตรกรรู้ว่าตลาดต้องการอะไร และเราก็รู้ว่าเกษตรกรต้องการอะไร เป็นการปรับจูนนิสัยใจคอเพื่อความยั่งยืนในอนาคต
"เราจะไม่ซื้อแล้วเลิก ในปีหน้าเราต้องแก้ปัญหาที่พบ เช่น ลองกองช่อที่ฟันหลอ (ลูกร่วง) เราจะทำไงไม่ให้ฟันหลอ เป็นเรื่องที่เราต้องวางแผนร่วมกัน ตอนนี้รับซื้อไปแล้ว 2 ลอต รวม 4 ตัน กระจายตามโลตัส 10 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เช่น รามอินทรา ศรีนครินทร์ พระราม 1 บางใหญ่ บางนา เป็นต้น โดยเราประชาสัมพันธ์ลูกค้าว่า สินค้าเราจากสวนจริง ๆ ซึ่งลอตแรกเราขายหมดภายใน 30 นาที"
เป็นโปรเจ็กต์ที่เพียงแค่เริ่มต้นก็ วิน-วิน แล้ว
"ลองกอง" ฟันหลอ เคล็ดลับความอร่อย
"โชคดี วิรุณกาญจน์" หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา อธิบายว่า พื้นเพเดิมลองกองเป็นไม้ป่า อยู่ในธรรมชาติ ต่อมามีการส่งเสริมพัฒนาพันธุ์ขึ้นมา แต่เดิมเป็นผลไม้ที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลผลิตมาขายกันที่ตลาดโก้งโค้ง ขายกันเป็นกะละมัง ไม่ได้ขายเป็นช่อแบบปัจจุบันนี้
ต่อมานักวิชาการพัฒนาตัดแต่งดอกให้มีช่อยาว จากเดิมที่ขายกันเป็นกะละมัง ก็เปลี่ยนมาเป็นขายเป็นช่อ มีการกำหนดเกรดขึ้นมา โดยเน้นช่อสวย ช่อยาว บวกกับรสชาติที่หวานหอมอร่อย ทำให้ลองกองตันหยงมัสมีราคาสูง สมัยก่อนคนที่เข้าสวนกินลองกองถึงกับต้องคายเมล็ดไว้ให้เจ้าของสวน เพราะขายเมล็ดกันถึงกิโลกรัมละ 1,200 บาท แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีราคาแล้ว การค้าขายสมัยก่อนเฟื่องฟู พ่อค้ารายย่อยจะมาดักรอรถของเกษตรกรตามท้องถนนเพื่อต่อรองราคา และขายกันตรงนั้น
ด้วยความนิยมทำให้ลองกองแพร่หลายไปทั่วประเทศ ตั้งแต่โก-ลกยันเชียงใหม่ แต่ว่าลองกองที่นำไปปลูกที่อื่นจะมีกลิ่นและรสชาติไม่เหมือนกับลองกองที่ใต้
"ที่จริงช่อที่ฟันหลอมันอร่อย ได้รสชาติลองกองแท้ ๆ คือต้องกินช่อที่ฟันหลอ ร่วงบ้าง แต่เราไม่เคยพูดอย่างนี้ เพราะลองกองเป็นผลไม้ที่ต้องกินสุกงอม 80% ขึ้นไปถึงจะได้รสชาติและกลิ่นของมัน แต่ว่าเราชอบของสวย ความต้องการของตลาดช่อลองกองจะแหว่งไม่ได้ เพราะจะทำให้ราคาตก ที่สำคัญลองกองเก็บได้แค่ 3 วัน จึงต้องเก็บผลผลิตช่วง 70% เท่านั้น ซึ่งรสชาติยังไม่อร่อยเต็มที่ ลองกองนั้นเป็นผลไม้ที่ตัดตอนไหน ก็รสชาตินั้น มันไม่ลืมต้น"