โปรยยาหอมกระตุ้นอสังหาทั้งระบบ รัฐเร่งปลดล็อกสินเชื่อ-ผ่อน0%2ปี

โปรยยาหอมกระตุ้นอสังหาทั้งระบบ รัฐเร่งปลดล็อกสินเชื่อ-ผ่อน0%2ปี

โปรยยาหอมกระตุ้นอสังหาทั้งระบบ รัฐเร่งปลดล็อกสินเชื่อ-ผ่อน0%2ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์รัฐขานรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ปลุกกำลังซื้อ"ธอส." ถกทีมผู้บริหารแก้ปมยอดกู้ไม่ผ่านพุ่งปรี๊ด-แคมเปญดอกเบี้ยต่ำ "ออมสิน" อาสาเป็นตัวช่วยปล่อยกู้รายย่อยวงเงินไม่เกิน 2 ล้าน แบงก์เอกชนแบ่งรับแบ่งสู้3 สมาคมอสังหาฯ ลุ้นต่อ ชงแพ็กเกจเต็มรูปแบบทั้งลดค่าโอน-จดจำนอง พ่วงยาแรงดอกเบี้ย 0% 2 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลุ้นอย่างใจจดใจจ่อสำหรับมาตรการกระตุ้น อสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลประยุทธ์ 3 หลังจากประสบภาวะยอดขายชะลอตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2557 ที่รับผลกระทบจากการเมือง ล่าสุดแม้จะผ่านไปแล้ว 8 เดือนแรกของปี 2558 ยังไร้ปัจจัยบวกเนื่องจากเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในต้นเดือน ต.ค.นี้ โดยส่วนหนึ่งจะเข้าไปแก้ปัญหาผู้กู้ซื้อบ้านไม่ผ่านด้วยเหตุผลธนาคารพาณิชย์ มีความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีผ่านทางธนาคาร อาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ส่วนมาตรการภาษีทั้งลดภาษีโอน 2% ภาษีจดจำนอง 1% ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% คงต้องพิจารณารายละเอียดต่อไป

"ที่แน่ ๆ คงไม่มีนโยบายให้ ธอส.ปล่อยกู้ในกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพทางการเงิน หรือกลุ่มเสี่ยงเป็นหนี้เสีย" นายอภิศักดิ์กล่าว

ซื้ออสังหาฯเงินหมุน 5 เท่า

ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการ บมจ.ริชี่เพลซ 2002 ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 33 กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทาง 3 สมาคมได้ร่วมกันจัดงานมหกรรมบ้านฯครั้งสุดท้ายของปี ระหว่าง 8-11 ต.ค.นี้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ ตั้งเป้ามียอดขายในงาน 3,000 ล้านบาท จากผู้ประกอบการ 200 ราย จำนวน 600 บูท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซาในช่วงที่ผ่านมา การจัดงานครั้งนี้ทางสมาชิกบริษัทพัฒนาที่ดินลงขันกันจัดโปรโมชั่นกลาง

สำหรับ ผู้จองซื้ออสังหาฯภายในงานร่วมลุ้นส่วนลดสูงสุด 1 ล้านบาท ถือว่าเป็นแคมเปญแรงที่สุดที่เคยทำมา เดิมจะให้ลุ้นส่วนลดเพียง 5 หมื่น-3 แสนบาท

"ไตรมาส 4 จะเป็นตัวชี้ชะตาเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายยังทำยอดขายไม่ถึงเป้า เพราะกำลังซื้อหดตัวรุนแรงมาก สมาคมเลือกจัดงานช่วงต้นไตรมาสสุดท้ายเพื่อเป็นกิจกรรมกระตุ้นตลาดให้มีความ คึกคัก เพราะเชื่อมั่นว่า ถ้ารัฐบาลอยากปลุกเศรษฐกิจให้คึกคัก การกระตุ้นอสังหาฯจะช่วยได้เพราะคนซื้อบ้าน 1 ล้านจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบถึง 5 เท่า จากการซื้อวัสดุตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ต่อเติมบ้าน"

ยอดกู้ไม่ผ่านพุ่ง 45%

ผู้ สื่อข่าวสอบถามถึงความจำเป็นในการออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วง 4 เดือนหลังของปี ดร.อาภากล่าวว่า ตอนนี้เอกชนฝากความหวังว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่จะเร่งผลักดันออกมา ใช้โดยเร็ว ก่อนหน้านี้ ทาง ดร.สมคิดและทีมงานเศรษฐกิจมีการเข้าพบตัวแทนผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมทั้งข้อเสนอแนะจากดีเวลอปเปอร์ไปแล้ว ส่วนจะหยิบข้อเสนอใดออกมาเป็นมาตรการหรือไม่ รวมทั้งจะประกาศใช้เมื่อใดขึ้นกับรัฐบาลโดยเอกชนมีข้อเสนอในภาพรวมต้องการ ให้มีมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเป็นแพ็กเกจ เพื่อเข้ามาช่วยลดภาระผู้บริโภคโดยตรง ได้แก่ การยกเว้นภาษีค่าโอน ภาษีจดจำนอง รวมทั้งข้อเสนอในฝั่งวงเงินกู้ด้วย เพื่อแก้ปัญหากู้ไม่ผ่านที่มีสถิติสูงมากในปีนี้ โดยข้อมูลของสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยระบุสูงถึง 40-45% จากปกติอยู่ที่ 30-35%

ส.คอนโดฯเชียร์ช่วยผู้ซื้อ

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯผ่าน ธอส. คาดว่าน่าจะเป็นเรื่องอัตราส่วนการผ่อนชำระ ปัจจุบัน ธอส.ตั้งไว้ 30-40% อาจขยับเพดานเป็น 50% ทำให้โอกาสกู้ผ่านของลูกค้าจะง่ายขึ้น สมมติลูกค้ามีรายได้ 1 หมื่นบาท/เดือน เดิม ธอส.จะพิจารณาภาระหนี้มีได้ไม่เกิน 3,000 บาท ในอนาคตอาจเพิ่มให้เป็นเดือนละ 5,000 บาท แต่ข้อเสียที่ต้องระวังคือหนี้เสียอาจเพิ่มขึ้น

นายประเสริฐตั้งข้อ สังเกตด้วยว่า ฐานลูกค้าสินเชื่อ ธอส.เป็นกลุ่มซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สัดส่วนเพียง 10% ของตลาดรวมที่มีมูลค่า 2.9 แสนล้านบาท จึงมีความเห็นว่า หากรัฐบาลต้องการช่วยเศรษฐกิจภาพรวมก็ควรจะให้ ธอส.ขยับเพดานเงินกู้ให้สูงกว่า 1.5 ล้านบาท อาจจะ 2 ล้านบาท

"ในแง่ ผู้ประกอบการวันนี้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ยังแข็งแรงอยู่ เอกชนอยากเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องการเชื้อเพลิงคือมาตรการรัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้เร็วและแรง จริง รถไฟทั้งขบวนถึงจะเดินไปได้" นายประเสริฐกล่าว

ขอยาแรง ดบ. 0% 2 ปี

นาย มานะ จิระนภากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้อมบุญ จำกัด เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯในรอบนี้ ทราบว่ามีข้อเสนอยกเว้นค่าโอน-จดจำนอง ซึ่งมีประโยชน์ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ซื้อและผู้ประกอบการได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะ

ผู้ประกอบการรายกลางหรือรายย่อยที่เงินทุนหมุนเวียนเริ่ม ติดขัด แต่มองว่ายังเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องลูกค้ากู้ไม่ผ่านกับการผลักดันยอดขาย ใหม่

ดังนั้นมาตรการที่เหมาะสมกว่าน่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยที่ รัฐอาจช่วยอุดหนุนให้กับธนาคารพาณิชย์ และออกมาตรการบ้านหลังแรกเหมือนที่เคยทำมาแล้วในรัฐบาลชุดก่อน ๆ สำหรับบ้านและคอนโดฯราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจาก วงการอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า ทาง 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์เสนอขอมาตรการฟรีค่าโอน-จดจำนอง 1 ปี เพราะมองว่าปีนี้จะมีการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาฯมากที่สุด โดยเฉพาะไตรมาส 4 ยังเหลือโครงการสร้างเสร็จรอโอนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียว กันก็มีการหยิบยกมาตรการดอกเบี้ยบ้าน 0% 2 ปีเสนออยู่ในแพ็กเกจของมาตรการด้วย เนื่องจากเคยเป็นนโยบายรัฐบาลที่ใช้ได้ผลมาก่อน ที่สำคัญจะช่วยลดภาระยอดผ่อนต่องวดให้กับประชาชนโดยตรง ซึ่งทางรัฐบาลมีท่าทีรับไว้พิจารณา

ธอส.พร้อมปล่อย 0%

นาง อังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ธอส.มีการประชุมผู้บริหารสัญจร เสาร์ 26 ก.ย. 58 ที่พัทยา โดยนำประเด็นมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเป็นหัวข้อหลักด้วย ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้มาตรการเดิมในเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0%

สำหรับความพร้อมของ ธอส. ปัจจุบันมีสภาพคล่อง 7 หมื่นล้านบาท หรือ 10% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ 6.5% ดังนั้นจึงสามารถรองรับการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยตามนโยบาย รัฐบาลได้อีกมาก ในขณะที่ยอดหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลปัจจุบัน 5% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอยู่ 6%

สถิติ 8 เดือนแรกของปีนี้ ธอส.มียอดปล่อยสินเชื่อรวมที่กว่า 9 หมื่นล้านบาท หากต้องปล่อยสินเชื่อรองรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐบาล เชื่อว่าจะทำให้ ธอส.ปล่อยสินเชื่อในปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.49 แสนล้านบาท

ออมสินเป็นตัวช่วยอีกแรง

นาย ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในส่วนของธนาคารจะช่วยเสริมแพ็กเกจต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้าน หรือการลดหย่อนบางด้านที่เกี่ยวกับสินเชื่ออสังหาฯ

"ธอส.เป็น หัวหอก เราก็เป็นฝ่ายสนับสนุน โดย ธอส.มีฐานลูกค้าสินเชื่อรายย่อยใหญ่ที่สุดในตลาด 8-9 แสนล้านบาท ออมสินมีพอร์ตเพียง 3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของ ธอส.เท่านั้น แต่เราจะช่วยดูในแพ็กเกจเสริมเพื่อช่วยสนับสนุนให้นโยบายรัฐขับเคลื่อนไปได้ เร็ว ในส่วนที่เราดูแลได้คือพ่อค้า แม่ค้า ประชาชนต่าง ๆ ที่เป็นผู้กู้รายย่อย"

สถิติ ณ สิ้นไตรมาส 2/58 ธนาคารออมสินมียอดคงค้างสินเชื่อเคหะ 3 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท โดยแต่ละปีมีวงเงินปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาฯเฉลี่ยปีละ 7 หมื่นล้านบาท

ส่วนใหญ่ปล่อยกู้วงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท เปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปปล่อยสินเชื่อเฉลี่ย 2-5 ล้านบาท

แบงก์เอกชนแบ่งรับแบ่งสู้

นาย ทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการกู้ไม่ผ่านมีจำนวนเพิ่มขึ้น ปัจจัยหลักคือความสามารถในการผ่อนชำระในระยะยาว ถ้าคนไม่มีศักยภาพในการผ่อนระยะยาว ถึงยังไงคงกู้ไม่ผ่านอยู่ดี ดังนั้นการออกมาตรการกระตุ้นออกมาคงไม่ทำให้สถาบันการเงินต้องผ่อนปรน เงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อ หรือทำให้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อลดลงจากตอนนี้อยู่ที่ 40%

"ยอมรับว่า ดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดภาระให้ลูกค้าได้ อย่างไรก็ดี ศักยภาพลูกค้าในการผ่อนชำระถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุด ธนาคารต้องพิจารณาในส่วนของหนี้ต่อรายได้ ภาระหนี้ต่อครัวเรือนตามปกติอยู่แล้ว" นายทวีกล่าว

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลอนุมัติแพ็กเกจกระตุ้นอสังหาฯจริง จะช่วยเร่งการตัดสินใจในกลุ่มลูกค้าที่มีความพร้อมในการซื้อบ้านได้เร็วขึ้น แต่อาจไม่ถึงกับช่วยกระตุ้นยอดขายบ้านในภาพรวม เพราะปัจจุบันผู้มาขอสินเชื่อมีกำลังการผ่อนจ่ายที่ลดลง เพราะมีปัญหาหลักทั้งภาวะเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือน จะเห็นจากปัจจุบันธนาคารมียอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านเฉลี่ย 30-35% บางเดือนอาจขยับขึ้นไปสูงถึง 40%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook