4 แบงก์ใหญ่เงินฝากวูบ 1.4 หมื่นล้าน ลูกค้าย้ายบัญชี"ประจำ" ซบ"ออมทรัพย์"

4 แบงก์ใหญ่เงินฝากวูบ 1.4 หมื่นล้าน ลูกค้าย้ายบัญชี"ประจำ" ซบ"ออมทรัพย์"

4 แบงก์ใหญ่เงินฝากวูบ 1.4 หมื่นล้าน ลูกค้าย้ายบัญชี"ประจำ" ซบ"ออมทรัพย์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

4 แบงก์ใหญ่ดิ้นรักษากำไร ผลักเงินฝาก 8 เดือนฉุดยอดติดลบ 0.18% สวนทางสินเชื่อขยับขึ้น 1.83% สภาพคล่องทั้งระบบตึงตัว นายแบงก์ฉายภาพลูกค้าโยกเงินฝากประจำไปพักบัญชีออมทรัพย์ ฟาก "เกียรตินาคิน" ดอดหั่นดอกเบี้ยออมทรัพย์พิเศษ 0.1%


นางธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การขยายตัวของเงินฝากใน 4 ธนาคาร (แบงก์) ใหญ่ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค. 58) ติดลบ 0.18% หรือลดลง 1.4 หมื่นล้านบาท มาอยู่ที่ 7,653,750 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อขยายตัว 1.83% ทำให้ ณ สิ้นเดือน ส.ค. มียอดคงค้าง 6,766,359 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ในเดือน ส.ค. มี 10,979,734 ล้านบาท ขยายตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 0.03% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 5.08% ส่วนยอดสินเชื่อรวมอยู่ที่ 10,235,150 ล้านบาท เติบโตจากเดือนก่อนหน้า 0.2% และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.64% สะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์ยังต้องการดูแลต้นทุนการบริหารจัดการเงินฝากและรักษาความสามารถในการทำกำไรโดยรวมไว้

"ตอนนี้การออกโปรดักต์เงินฝากของแบงก์ลดลงและจะเลือกออกเฉพาะโปรดักต์เพื่อมาทดแทนเงินฝากที่ครบกำหนดเพื่อรักษาฐานลูกค้า ไม่เน้นแข่งดอกเบี้ย" นางธัญญลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง ขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยอยู่ที่ 0.5% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน อยู่ที่ 0.93%, 1.23% และ 1.5% ตามลำดับ ซึ่งอาจไม่จูงใจสำหรับผู้ต้องการออมเงินในรูปเงินฝาก ขณะที่สินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมลดลงมาอยู่ที่ 20% จากระดับ 22.3% เมื่อสิ้นปี 2557

นายชัยณรงค์ เอื้อสิทธิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เงินฝากยังขยายตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่หมุนไปอย่างช้าๆ แต่ที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนเงินฝากประจำปรับตัวลดลง และไปเพิ่มในเงินฝากออมทรัพย์ รวมถึงผลิตภัณฑ์การลงทุนในรูปแบบอื่นๆ แทน สะท้อนว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอยู่ในระดับต่ำมาก เป็นปัจจัยผลักดันให้ลูกค้าเคลื่อนย้ายเงินฝากที่ครบกำหนดไปอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยใกล้เคียงกันแต่มีสภาพคล่องสูงกว่าดึงออกมาใช้ในกรณีฉุกเฉินได้สะดวกกว่า

"ตั้งแต่ต้นปีเงินฝากประจำของเราก็หายไปเยอะพอสมควรมีบางส่วนโยกไปลงทุนในกองทุนหรือหลักทรัพย์อื่น ๆ บ้าง เงินฝากลดลงถือเป็นเรื่องปกติในภาวะที่สินเชื่อขยายตัวไม่มากนัก แต่สถานการณ์โดยรวมไม่ได้น่าเป็นห่วง" นายชัยณรงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกรุงไทยยังมีแคมเปญเงินฝากประจำดอกเบี้ยพิเศษออกมาบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการพักเงิน หรือไม่ชอบความเสี่ยง เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 4 เดือน และ 8 เดือน อัตราดอกเบี้ย 1.45% ต่อปี และ 1.7% ต่อปี ตามลำดับ ขณะเดียวกันเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะยังอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง

นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า กลยุทธ์การขยายเงินฝากจะขึ้นอยู่กับการเติบโตของสินเชื่อเป็นหลัก โดยสินเชื่อปีนี้จะเติบโตไม่มากนัก ดังนั้นการระดมเงินฝากจึงทำเท่าที่จำเป็น และระยะถัดไปคงหันไปเน้นการเติบโตของเงินฝากออมทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 33-35% อีกเหตุผลคือเพื่อลดต้นทุน และเพื่อรองรับหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR)

โดยเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์พิเศษลง 0.1% ซึ่งบัญชีส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของลูกค้ารายใหญ่ระดับ 5-10 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายงานเศรษฐกิจและการเงิน เดือน ก.ค. 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อมีแนวโน้มทรงตัว ส่งผลให้ความต้องการระดมเงินฝากปรับตัวลดลง สะท้อนจากการชะลอการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษลงต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งหันไปออกผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและประกันภัยเพื่อรักษาฐานลูกค้าแทน ทำให้ปริมาณเงินฝากใหม่รวมตั๋วแลกเงินลดลง ขณะที่อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากรวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ระดับ 97.07% เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.ที่อยู่ที่ 96.49% (ดูกราฟ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook