หนี้เสียทะลักแบงก์แห่เทขาย "เจเอ็มที"คิวประมูลยาวข้ามปี

หนี้เสียทะลักแบงก์แห่เทขาย "เจเอ็มที"คิวประมูลยาวข้ามปี

หนี้เสียทะลักแบงก์แห่เทขาย "เจเอ็มที"คิวประมูลยาวข้ามปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"แบงก์-น็อน แบงก์" แห่เทขายหนี้เสียทะลักตลาด หนุนธุรกิจรับซื้อหนี้เสียคึกคักช็อปเข้าพอร์ตกระจาย "เจเอ็มที" เผยคิวประมูลยาวถึงปีหน้า ชี้กลุ่มไม่มีหลักประกันต้นทุนแค่ 5% "แบงก์กรุงไทย" โอดขายยากหนี้เสียล้นถูก "กดราคา" เหลือ 40-60% ของมูลหนี้

ธุรกิจรับซื้อหนี้เสียคึกคัก

นายปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมธุรกิจบริหารหนี้เสียปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว กดดันให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นทั้งระบบ ส่งผลให้สถาบันทางการเงินทั้งธนาคารพาณิชย์และน็อนแบงก์ ทยอยเทขายหนี้เสียออกมาจำนวนมาก ซึ่งเป็นโอกาสดีให้บริษัทที่รับบริหารหนี้ด้อยคุณภาพสามารถเลือกซื้อหนี้มา ในต้นทุนต่ำลง

"ตอนนี้บริษัทมีคิวเข้าประมูลซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจาก แบงก์และน็อนแบงก์ยาวไปจนถึงปีหน้าแล้ว เพราะมีแบงก์ใหญ่เกรดเอ เปิดขายหนี้เสียจำนวนมาก ส่วนเจ้าที่ไม่เคยขายหนี้เสียมาก่อน ก็นำออกมาขายบ้างแล้ว จึงทำให้บริษัทตั้งเป้ารับซื้อหนี้เสียเข้ามาเพิ่มในพอร์ตปีนี้ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท" นายปิยะกล่าว

โดยล่าสุด JMT เพิ่งลงนามสัญญาซื้อมูลหนี้ด้อยคุณภาพของ บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) 1,509 ล้านบาท และธนาคารธนชาต 3,586 ล้านบาท ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือน ก.ย. 58 บริษัทได้ซื้อหนี้เสียเข้ามาแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท อีกทั้งอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อหนี้เสียจาก บมจ.ซิงเกอร์ (ประเทศไทย) มูลค่าไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ และหากดำเนินไปตามนี้ จะส่งผลให้บริษัทมีพอร์ตบริหารหนี้ปีนี้กว่า 30,000 ล้านบาท และมีพอร์ตสะสม ณ สิ้นปีอยู่ที่ 95,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย

"เจเอ็มที" ชี้ต้นทุนหนี้แค่ 5%

นาย ปิยะกล่าวว่า การประมูลหนี้แต่ละครั้ง บริษัทจะมีต้นทุนเฉลี่ยลอตละ 5% ของมูลหนี้ที่เปิดประมูล เนื่องจากเป็นหนี้ไม่มีหลักประกันประเภทหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล โดยที่บริษัทจะสามารถติดตามหนี้ได้เกินครึ่งของมูลหนี้ทั้งหมด เนื่องจากบริษัทมีฐานข้อมูลลูกหนี้อยู่แล้วกว่า 2.5 ล้านราย ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิราว 28-30% และคาดว่าปีนี้น่าจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 120.61 ล้านบาท

"เอ็นพีแอลปีนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจรับบริหารหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกัน มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จากที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดราว 90% ของหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกันที่สถาบันการเงินนำออกมาประมูลในแต่ละปีอยู่ แล้ว" นายปิยะกล่าว

ด้านนางสาวธิดา แก้วบุตตา กรรมการ บมจ.ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 (SAWAD) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทมีแผนจะซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอีก 800-1,000 ล้านบาท หลังจากต้นปีได้ซื้อหนี้เข้าพอร์ตแล้วประมาณ 200 ล้านบาท โดยปัจจุบันแบงก์มีหนี้เสียทยอยออกมาประมูลจำนวนมาก และแต่ละลอตมีมูลค่าขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ที่เข้าร่วมประมูลให้มีโอกาสเลือกกลุ่มหนี้ที่บริษัทถนัด ได้มากขึ้น โดยกลุ่มหนี้ที่บริษัทร่วมประมูลจะเป็นกลุ่มหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาทิ บ้าน ที่ดิน และรถยนต์ เป็นต้น

ในการประมูลหนี้แต่ละครั้งส่วน ลดเฉลี่ยประมาณ 20-60% ของมูลหนี้ ส่วนลดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณภาพของหลักประกัน ขณะที่ผลตอบแทนของมูลหนี้ของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 30-50% ของมูลค่ายอดหนี้ สำหรับปีหน้าบริษัทมีแผนจะซื้อหนี้เสียเข้าพอร์ตเพิ่มอีกกว่า 2,000 ล้านบาท

ยอดประมูลหนี้เสียพุ่ง 4 หมื่น ล.

นายชูเกียรติ จิตติไมตรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM กล่าวว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา มีสถาบันการเงิน 7-8 แห่ง นำทรัพย์เอ็นพีแอลออกมาประมูลในตลาดแล้วประมาณ 40,000 ล้านบาท และคาดว่าทั้งปีจะมีการนำทรัพย์ออกมาขายไม่น้อยกว่า 45,000 ล้านบาท โดยทั้งเป็นหนี้มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จากธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมากกว่าปี 2557 ที่มีออกมาขายประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท

สำหรับ ราคาซื้อขายถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงหรือต่ำเกินไป ขณะที่คุณภาพทรัพย์ก็ถือว่าดีกว่า 3-4 ปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถาบันการเงินเข้าใจในธุรกิจของ AMC มากขึ้น จึงเลือกนำทรัพย์มาขายเพื่อลดภาระทั้งด้านกำลังคนและต้นทุนการตั้งสำรอง ขณะที่ปริมาณหนี้เสียในตลาดก็มีมากขึ้น

"หนี้เสียในระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท การนำออกมาขายทอดตลาด 4-5 หมื่นล้านบาท ก็ยังถือว่าน้อย ดังนั้นก็มีโอกาสเห็นสถาบันการเงินตัดหนี้ออกมาขายเพิ่มขึ้นอีก โดยที่ผ่านมามีเอสเอ็มอีแบงก์นำออกมาขาย 300-400 ล้านบาท ไทยพาณิชย์ 3,000 ล้านบาท ทหารไทยประมาณ 3,000 ล้านบาท ธนชาต 1,500-1,600 ล้านบาท กรุงศรีฯ 1,000 กว่าล้านบาท และไตรมาส 4/2558 ก็น่าจะเห็นนำมาประมูลอีกรอบ"

โดย ช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีสินทรัพย์ 3.96 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเอ็นพีแอล 3.84 แสนล้านบาท และเอ็นพีเอ 2.13 หมื่นล้านบาท ขณะที่ซื้อทรัพย์เข้ามาบริหารเพิ่มขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกคิดเป็นภาระหนี้ตามบัญชีประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท

นายชูเกียรติกล่าวว่า ธุรกิจบริหารหนี้ถือว่าดีพอสมควร โดยเฉพาะในกลุ่มบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ที่ผ่านมาจึงเห็นการก่อตั้งบริษัทหรือการแตกตัวบริษัทลูกออกมารับติดตามหนี้ มากขึ้น โดยข้อมูลจาก ธปท.มี AMC ประมาณ 40 แห่ง แต่ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เหมือนเป็นที่ปรึกษาทางการเงินมากกว่าบริหารหนี้โดย ตรง

กรุงไทยชี้ขายยากถูกกดราคา

แหล่งข่าวจากธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาปริมาณเอ็นพีแอลของสินเชื่อรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอีของ ธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมาจึงต้องดำเนินการแบบเชิงรุกทั้งการ บริการจัดการเอง การขายให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) การให้ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือเคทีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกไปบริหารจัดการ และการว่าจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาช่วยติดตามทวงหนี้

ปีนี้ธนาคารตั้ง เป้าในการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายทั้งสิ้น 7,750 ล้านบาท โดยช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาสามารถขายออกแล้ว 3,420 ล้านบาท ต่ำกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อ ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็หดตัวลง ต้องการกอดเงินสดไว้มากกว่า ส่งผลให้การระบายทรัพย์ออกไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็กทำได้ยาก ขึ้น ขณะเดียวกันการแข่งขันในตลาดบ้านและคอนโดมิเนียมมือ 2 ก็อยู่ในระดับที่สูงมาก

"วิธีการขายหุ้นเสียของธนาคารจะใช้วิธีแบ่ง เกรดทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะขายได้ราคาและขายง่าย เสนอให้แก่กลุ่มลูกค้าที่คิดว่าเป็นกลุ่มเป้าหมาย การนำไปเสนอขายตามงานมหกรรมต่าง ๆ รวมถึงให้แต่ละสาขานำทรัพย์ไปเสนอขาย"

โดยราคาที่ขายออกยอมรับถูกกดราคาลงมาพอสมควร แต่ก็ยังอยู่ที่ระดับประมาณ 40-60% ของราคาประเมิน ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ยังรับได้ ขณะที่การให้เคทีซีนำไปบริหารส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสินเชื่อบุคคลและกลุ่มเช่า ซื้อเป็นหลัก

"เรามีทรัพย์ในมือค่อนข้างเยอะ จึงต้องเร่งระบายออก และตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท.ให้แบงก์ถือครองทรัพย์ได้ไม่เกิน 5 ปี ดังนั้นทรัพย์ที่มีอายุนานจะต้องนำทยอยออกขาย ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ อีกอย่างเราก็มีต้นทุนในการตั้งสำรองด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งบริหารจัดการ" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ก่อนหน้านี้นายชัยชาญ พลานนท์ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มบริหารทรัพย์สินพร้อมขาย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ในช่วงเดือน พ.ย.ธนาคารเตรียมจัดงานเอ็นพีแอลแกรนด์เซล โดยนำทรัพย์ออกมาขายทั่วประเทศผ่านสาขาของธนาคารทั้ง 1,200 แห่ง ทั้งที่เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินเปล่า ซึ่งเป็นทรัพย์มูลค่าไม่เกินราคา 50 ล้านบาท คละเกรด และลดราคาทรัพย์ลงจากราคาประเมิน โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการถือครอง เช่น

ทรัพย์มีอายุ 10 ปี จัดโปรโมชั่นผู้ซื้อจ่ายเฉพาะค่าธรรมเนียม 1% จากปกติที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมและรวมภาษีด้วยที่ 6.3% ของราคาซื้อทั้งยังอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพหรือ บสก.เสนอขายทรัพย์มูลค่ากว่า 4,260 ล้านบาท หรือกว่า 900 รายการ ทั้งที่ดินแปลงใหญ่ อาคารพาณิชย์ บ้านเดี่ยว ที่ดินเปล่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook