10 ความรู้ทางการเงินเปลี่ยนชีวิต

10 ความรู้ทางการเงินเปลี่ยนชีวิต

10 ความรู้ทางการเงินเปลี่ยนชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Money Coach

อิสรภาพทางความคิดยังมีไม่ได้ อย่าตะเกียกตะกายหาอิสรภาพทางการเงิน


ในทอล์คโชว์ MONEY COACH ON STAGE: ชาตินี้ไม่มีวันจน ผมได้เล่าถึง 10 ความรู้ทางการเงินที่ได้รับมาด้วยตัวเอง จากการเรียนรู้แบบ Street Smart (ข้างถนนนั่นเอง) คือ มั่วนิดๆ งงหน่อยๆ เล่นเอง เจ็บจริง แล้วค่อยๆสะสม ค่อยๆตลกผลึก จนกลายเป็นภูมิปัญญาในแบบฉบับตัวเอง

หลังจากจบทอล์คโชว์ มีผู้ฟังหลายท่านนำมาสรุปให้ฟังกัน วันนี้ผมเลยอยากเล่าให้ฟังในแบบต้นฉบับกันบ้าง ด้วยหวังว่าบทเรียนสิบกว่าปีของผม จะทำให้ผู้อ่านทุกท่านไม่ต้องเสียเวลากับการลองผิดลองถูกในบางเรื่อง และที่สำคัญจะได้ปรับ MINDSET ให้ถูกต้องสำหรับการมุ่งหน้าสู่อิสรภาพทางการเงินกันได้รวดเร็วกันขึ้น

1) วิธีปลดหนี้ดีที่สุดคือสร้างทรัพย์สิน

ความรู้นี้เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในช่วงที่ชีวิตกำลังมุ่งหน้าแก้ไขปัญหาหนี้ หลังจากพยายามทำตามแนวคิดทั่วไปที่สอนๆกัน ก็คือ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ สิ่งที่พบก็คือ ลดรายจ่ายเต็มที่แค่ไหน เราก็ลดได้แค่ประมาณหนึ่ง เพิ่มรายได้มากแค่ไหน เดือนหน้าก็ต้องหาใหม่อีก


แต่เมื่อเทียบงานที่สร้างรายได้เพิ่ม กับทรัพย์สิน (สิ่งที่ทำให้เงินไหลเข้ากระเป๋า โดยไม่ต้องทำงานตลอดเวลา) อย่างบ้านเช่า และธุรกิจฝึกอบรมที่ผมสร้างขึ้นมา กลับพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง งานที่ทำเดือนนี้ เดือนหน้าก็ต้องออกแรงทำอีก แต่ทรัพย์สินที่เราสร้างขึ้น จะช่วยผ่อนหนี้ให้เราในวันที่เรายังเป็นหนี้ และเมื่อหนี้หมดลงไป ทรัพย์สินก็จะยังสร้างกระแสเงินสดให้เราต่อ และทำให้เรามีอิสรภาพทางการเงินได้ในที่สุด


ดังนั้น เหนื่อยหาเงินแก้หนี้ทั้งที วางแผนให้ดี สร้างทั้งงานที่ทำเงินและทรัพย์สินไปพร้อมๆกัน หาวิธีทำให้งานที่เราทำหนึ่งครั้ง หารายได้ให้เราได้มากกว่าหนึ่งครั้งหรือหาไปได้ตลอด แล้วการปลดหนี้ของเราจะเบาแรงลงเรื่อยๆ


2) กระแสเงินสดสำคัญที่สุด

ทุกกิจกรรมในโลกทางการเงิน ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการมีกระแสเงินสดคงเหลือเป็นบวก พนักงานประจำทำงานกินเงินเดือนก็สามารถมีชีวิตทางการเงินที่ดีได้ หากเขาใช้จ่ายไม่เกินรายได้ที่หามาได้ มีกิน มีใช้ มีเหลือเก็บทุกเดือน

บริษัทห้างร้านต่างๆ รวมไปถึงการลงทุนในทรัพย์สินให้เช่า สุดท้ายถ้าเราบริหารจัดการให้กระแสเงินสดเป็นบวก หรือมีกำไรได้ ธุรกิจก็อยู่ได้ การลงทุนก็ไปได้ เมื่ออยู่ได้ ไปได้ วันหนึ่งก็มีโอกาสต่อยอดเพิ่มความมั่งคั่งได้


หลายคนเวลาใช้ชีวิตหรือลงทุน มองแต่ผลตอบแทนที่จะได้ ทั้งๆที่กลยุทธ์สำคัญที่สุดกลยุทธ์แรกที่ต้องทำให้ได้ หากอยากมั่งคั่งก็คือ “ใช้ให้น้อยกว่าที่หาได้” และ “ไม่ขาดทุน”


3) HIGH UNDERSTANDING, HIGH RETURN

หลายครั้งที่แนวคิด High Risk High Return หยุดยั้งผู้คนที่แสวงหาความมั่งคั่งให้ไม่กล้าลงมือทำอะไร เพราะเชื่อว่าถ้าอยากได้ผลลัพธ์ที่ดี ก็ต้องเสี่ยงกันหน่อย

ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย ในมุมของคนที่กล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยง โลกของพวกเขาไม่มีเสี่ยงมากได้ผลตอบแทนมาก สิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ก็คือ ยิ่งคุณรู้จักและเข้าใจสิ่งที่คุณทำมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งมีโอกาสมั่งคั่งมากขึ้นเท่านั้น หรือ HIGH UNDERSTANDING, HIGH RETURN


คนทำงานมากประสบการณ์ทำเงินจากองค์ความรู้เดียวกันได้ดีกว่ามือใหม่ คนทำขนมซึ่งสาระวนเวลาอยู่กับการฝึกฝน พัฒนา ปรับสูตรใหม่ๆ ให้ผู้คนชอบและอยากลองทาน ย่อมทำเงินได้มากกว่าพ่อค้าแม่ค้าที่ทำขนมแค่ให้มีของขายยังชีพได้ หรือนักลงทุนที่พัฒนาความรู้และเชี่ยวชาญอยู่เสมอ และอยู่ในตลาดมานานกว่า ก็คงไม่แปลกอะไรที่พวกเขาจะได้ผลตอบแทนสูงกว่ามือใหม่ หรือพวกมือเก่าที่ไม่ยอมพัฒนาตัวเองและรักบรรยากาศการเป็นนักลงทุนผู้ไร้เดียงสาอยู่เสมอ

คีย์สำคัญของ High Understanding, High Return ก็คือ การลงทุน “เวลา” กับสิ่งที่สนใจ และเริ่มต้นลงมือทำจากสิ่งเล็กๆ (Start Small) แล้วค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นนักลงทุนผู้ช่ำชอง

4) การลงทุน คือ แผนการ

คนที่ลงทุนแล้วขาดทุนอยู่เสมอ เป็นเพราะพวกเขาคิดว่า การลงทุนเป็นเหตุการณ์ (Event) เช่น วันนี้ไปจองคอนโดมา หรือวันนี้จัดหุ้นตัวนั้นมา ฯลฯ แต่ถ้าพูดคุยหรือสอบถามเหตุผลในการซื้อและแผนการลงทุน ก็มักจะพบกับความว่างเปล่าอยู่เสมอ ถ้าการลงทุนมันง่าย แค่ฟังใครสักคนหรือฟังข่าว แล้วก็ลงทุนตามๆกัน แล้วก็รวย อย่างนี้คนส่วนใหญ่ก็ต้องรวยจากการลงทุนกันหมดแล้วสิ

ที่จริงแล้ว การลงทุนนั้นเป็นกระบวนการ (Process) ที่มีผลลัพธ์ คือ แผนการลงทุน (Plan) ที่ชัดเจน (อธิบายได้สมกับเป็นเด็กวิดวะมากๆ 555)

อย่างผมเองตอนจะเริ่มต้นลงทุนบ้านเช่าเล็กๆ ราคาแค่ 1.35 ล้าน ผมยังต้องเดินดูบ้านเช่าตั้งเป็นสิบๆหลัง เพื่อให้เข้าใจว่าลูกค้าในตลาดเป็นใคร ชอบเช่าห้องแบบไหน ราคาเท่าไหร่ Demand-Supply เป็นอย่างไร จากนั้นจึงมาประเมินราคาซื้อ เจรจาต่อรอง จัดไฟแนนซ์เพื่อลงทุนซื้อ และตบตูดตบท้ายกันเบาๆด้วย แผนการรับมือความเสี่ยง โดยถามตัวเองง่ายๆว่า ก) บ้านเช่าที่ผมจะลงทุน มีโอกาสฉิบหายได้จากอะไรบ้าง และผมพอจะป้องกันอะไรได้บ้างมั้ย ข) ถ้าป้องกันไม่ได้ เจ็บสุดจะแค่ไหน และต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า มีแผนรับมือกับเรื่องนั้นๆ อย่างไร … ถ้าตอบไม่ได้ ก็จะยังไม่ลงทุน

จำไว้ว่า ถ้าคุณลงทุนด้วยปากกับหู (ถามเขา ฟังเขา แล้วก็เชื่อเขา) สุดท้ายคุณจะไม่มีทางมั่งคั่งร่ำรวยได้ เป็นได้เต็มที่ก็แค่ผู้ร่วมสนุก เพราะผลลัพธ์การลงทุนที่ดี ขึ้นอยู่กับว่า คุณเป็นนักลงทุนที่ีดีแค่ไหน และมีแผนการลงทุนอย่างไร

5) เงินวิ่งตามคุณค่า

Create Your Value and Money will Follow เป็นความเชื่อหลักที่ผมยึดถือมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ยิ่งเราสร้างคุณค่าได้มากเท่าไหร่ เงินก็ยิ่งหลั่งไหลมาหาเรามากขึ้นเท่านั้น

“คุณค่า” ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการแก้ไขปัญหาให้ผู้อื่น ทำในสิ่งที่ผู้อื่นต้องการ ทำในสิ่งที่ผู้อื่นได้รับประโยชน์ ซึ่งในมุมมองของผม คุณค่าที่ว่านี้มีทั้งมิติความลึกและความกว้าง

ในมิติความลึก หมายถึง ความเป็นตัวจริงของคุณ ความเจ๋งของสินค้าและบริการของคุณ ถ้าดีจริง เจ๋งจริง ยังไงก็ขายได้ ส่วนในมิติความกว้างก็คือ ตลาดที่คุณเลือกเล่น ถ้าอยากประสบความสำเร็จทางการเงิน ต้องเลือกและลงมือสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ตลาดขนาดใหญ่ที่มีลูกค้าจำนวนมากเท่านั้น

ร้านก๋วยเตี๋ยวไม่อร่อย ไม่มีคนทาน แต่ร้านอร่อยที่ตั้งอยู่หน้าหมู่บ้าน มีลูกค้าแค่ไม่กี่ราย ก็รวยไม่เท่ากับร้านก๋วยเตี๋ยวที่เปิดหลายสาขาและมีแฟรนไชส์ครับ … ถ้าอยากทำเงินล้าน คุณก็ต้องทำในสิ่งที่ Impact หรือส่งผลกระทบกับคนนับล้าน นั่นคือสิ่งที่คุณต้องจดจำ

6) ทรัพยากรทั้งโลกเป็นของเรา

แนวคิดข้อนี้บางคนฟังแล้วเอาไปตีความกันใหญ่โต หาว่าสอนให้เป็นคนเอาเปรียบสังคมบ้างหละ คิดแต่ประโยชน์ส่วนตนบ้างหละ ที่จริงแล้วผมสร้างประโยคที่ว่า “ทรัพยากรทั้งโลกเป็นของเรา” ก็เพื่อสอนเรื่อง เงินมาที่หลังไอเดีย ต่างหาก … ยังไง?

คนจำนวนไม่น้อยเวลาฝันว่าอยากทำอะไรสักอย่าง พวกเขามักมีข้ออ้างว่า ไม่มีเงิน ไม่มีคนช่วย ไม่มีเครื่องมือ ไม่มี ไม่มี ไม่มี ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งผมเองและผู้ประสบความสำเร็จอีกจำนวนมาก หลายคนก็เริ่มจากความไม่มีเหมือนกัน คนที่ไม่มีเงิน ไม่มีทุน ก็ต้องให้เวลากับไอเดียของตัวเองให้มาก เปลี่ยนไอเดียให้จับต้องได้เป็นรูปธรรมในเบื้องต้น ด้วยการเก็บข้อมูลและทำแผนการขึ้นมา

ไม่มีเงินใช้เงินคนอื่นได้ ไม่มีเครื่องจักร ก็จ้างเขาผลิตเอาได้ ไม่มีทีมงาน ก็ Outsource ได้ ไม่มีเวลา ก็จ้างลูกจ้างได้ ทุกอย่างเป็นไปได้หมด เริ่มต้นแค่ลองทำอะไรจริงๆจังๆ กับ “ไอเดีย” ของเรา อย่ามัวแต่เล็ง แต่ฝัน เพราะนั่นไม่มีทางทำให้ความฝันเราเป็นจริงได้ครับ

7) กติกาพิเศษมีไว้สำหรับคนพิเศษ

โลกนี้เป็นโลกของการ “เจรจา” กติกาทั่วไปมีไว้สำหรับคนธรรมดา ถ้าไม่เคยคิดจะสอบถาม ตามหา หรือร้องขอ เราก็ต้องได้ในสิ่งที่คนทั่วไปได้กัน ทางเลือกก็น้อยลง ข้อจำกัดในการลงทุนหรือสร้างความมั่งคั่งก็เพิ่มขึ้น

เอาแค่เรื่องง่ายๆอย่างเช่น คนฝากเงินจำนวนเท่าๆกัน ฝากธนาคารเดียวกัน สาขาเดียวกัน ยังได้ดอกเบี้ยไม่เท่ากันเลย เพราะคนหนึ่งคุย คนหนึ่งร้องขอ (แต่ต้องฝากมากหน่อยนะ 555)

หรือคนสองคนเป็นหนี้เท่าๆกัน ค้างจ่ายมานานเท่าๆกัน คนหนึ่งเจรจาขอส่วนลด อีกคนหนึ่งยอมรับยอมจำนนต่อเงื่อนไขโดยดุษฎี แบบนี้ก็ประหยัดค่าใช้จ่ายหนี้ได้ไม่เท่ากัน มันก็เป็นเรื่องจริงที่ว่าขอแล้วใช่ว่าจะได้ แต่ถึงยังไง ขอก็ยังมีโอกาสได้ แต่ถ้าไม่ขอ ไม่ถาม ไม่ลองคุย แบบนี้ยังไงก็ไม่ได้แน่นอน

ชีวิตเราเลือกได้ครับ ดังนั้นลองเลือกเอาเองดูว่า เราอยากได้กติกาแบบไหน

8) ยิ่ง Share ยิ่งมั่งคั่ง

ในอดีตผมเคยเป็นคนงกจนเกินพอดี คิดทำอะไรก็อยากได้ทั้งหมด ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นทำให้การก้าวสู่อิสรภาพทางการเงินของผมยากและช้า เพราะถ้าเราอยากได้ทั้งหมด เราก็ต้องทำเองทั้งหมด

การทำอะไรด้วยตัวคนเดียวมันก็สนุกดีครับ แต่ถ้าเทียบกันแล้วยังไงมันก็สู้ทีมของมืออาชีพมารวมตัวกันไม่ได้ ถ้ายังจำเรื่องเงินวิ่งตามคุณค่ากันได้ ทีมที่แข็งแกร่งสร้างคุณค่าได้มากกว่า และยังตอบสนองความต้องการคนได้มากกว่าอีกด้วย

แม้ว่าจะต้องแบ่งเรื่องของผลกำไรให้กับทีมงานที่มาช่วย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วน ผู้ส่งมอบ Outsource ลูกจ้างชั้นดี เอเยนต์การขายการตลาด แต่ก็นั่นแหละ 100 เปอร์เซ็นต์ของกำไร 1 ล้านที่รับอยู่คนเดียว อาจเทียบไม่ได้กับ 10 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจหรือการลงทุนที่มีขนาด 100 ล้านก็เป็นได้

ลองมองใหม่ คิดใหม่ สร้างทีม สร้างพันธมิตร แล้วแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างพอเหมาะพอสม ทำให้เรารวยได้มากกว่าและรวยได้เร็วกว่าครับ

9) นิยามอิสรภาพทางการเงินที่แท้จริง

คนทั่วไปนิยามคำว่า “อิสรภาพทางการเงิน” คือ การมีจำนวนมาก (100 ล้าน 1,000 ล้าน) ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องกังวล และกลายเป็นที่มาของกระแสขยะแขยงการทำงานประจำ ด้วยเชื่อว่าไม่สามารถนำพาชีวิตไปถึงฝันได้

โรเบิร์ต คิโยซากิ ผู้แต่งหนังสือพ่อรวยสอนลูก ให้นิยามคำๆเดียวกันไว้ในเป็นสมการว่า “เมื่อไหร่ที่เรามีรายได้จากทรัพย์สิน หรือ Passive Income มากกว่ารายจ่ายรวม เมื่อนั้นเราก็จะมีอิสรภาพทางการเงิน”

สำหรับตัวผม ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่วิ่งหาคำๆนี้ ผมพบนิยามใหม่ที่คิดว่าน่าจะถูกต้องกว่า เบากว่า สบายกว่า และมีความสุขมากกว่า นิยามอิสรภาพทางการเงินในแบบของผมก็คือ “สิทธิในการเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ” ไม่เกี่ยวว่าจะมีเงินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าชีวิตในแบบที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ เราคิดได้เองหรือเปล่า เลือกเองหรือเปล่า และได้ใช้ชีวิตในแบบที่ชอบหรือไม่ ทำงานประจำก็มีอิสรภาพทางการเงินได้ หากนั่นเป็นสิ่งที่คุณเลือกมันด้วยตัวเอง

10) ความรู้ทางการเงินขั้นสูงสุด คือ การรู้จักและเข้าใจตัวเอง

คนเราแค่รู้จักและเข้าใจว่า “ความสุข” ในชีวิตของตัวเอง คือ อะไร และใช้ชีวิตในทุกวันให้มีความสุข นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับการเกิดมาชาติหนึ่ง

บ้านจะใหญ่หรือเล็กไม่เกี่ยว รถจะหรูหรือเปล่าไม่ใช่ประเด็น คนเราเกิดมาต่างกัน ดังนั้นไม่มีทางที่ความสุขในชีวิตของแต่ละคนจะเหมือนกัน และไม่มีทางที่อิสรภาพทางการเงินของแต่ละคนจะเท่ากันหรือเลียนแบบกันได้ ฟังแล้วอาจดู Abstract แต่ความสุขในชีวิตคนเราก็เป็นแบบนั้นจริงๆนะ

คนเราสามารถเริ่มต้นทำความรู้จักและเข้าใจตัวเองได้ง่ายๆ ด้วยการเลิกฟังคำพูดและความเห็นของคนอื่นที่มีต่อรูปแบบชีวิตของเรา แล้วหันมา ฟังเสียงหัวใจตัวเองอย่างจริงจัง อะไรทำแล้วมีความสุข วัดกันง่ายๆด้วยใจ

ผมมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว แต่ก็ยังอยู่บ้านหลังเล็กๆ ราคา 2 ล้านกว่าบาท ขับรถโตโยต้าวีออส แต่ใช้ชีวิตมีความสุขทุกวัน เพราะออกแบบเวลาในแต่ละวันได้เอง ได้ทำงานที่รัก ไม่ต้องทำงานเพื่อเงิน ไม่รับงานที่ขัดกับความรู้สึกตัวเองแม้จะได้เงินมากมาย ทำงานเหมือนไม่ได้ทำงาน เพราะไม่รู้สึกเหนื่อยและมีความสุขทุกวัน

ผมเชื่อและคิดอยู่เสมอ คนที่กำลังมุ่งมั่นมองหาอิสรภาพทางการเงินอยู่ในวันนี้ จะไม่มีทางหามันเจอได้เลยตราบชั่วชีวิต เพราะตราบใดที่ “อิสรภาพทางความคิดยังมีไม่ได้ ก็จงอย่าตะเกียกตะกายหาอิสรภาพทางการเงินเลย” (เดี๋ยวจะเหนื่อยไปชั่วชีวิต)

คนเราเกิดมาชาติเดียวครับ จงใช้ชาติหนึ่งชาติเดียวของพวกเราทุกคน ให้เป็นชาตินี้ที่ไม่มีวันจนนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook