ปิดตำนาน "สะพานเหล็ก" เก็บไว้ในความทรงจำ
โดย ณัชพิมพ์ รัตนาสินนอก
boatchanat@me.com
ตั้งแต่เด็กจนโต หลายคนมีความทรงจำและผูกพันกับ "ตลาดสะพานเหล็ก" เพราะสถานที่แห่งนี้คือแหล่งจำหน่ายเกมและของเล่นที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะต้องการเครื่องเล่นเกมรูปแบบไหน หายากหาง่าย ไปจนถึงของเล่นทุกประเภท สามารถหาซื้อได้ที่นี่ทั้งหมด จึงไม่แปลกนักที่จะรู้สึกใจหายกับการจัดระเบียบรื้อย้ายผู้ค้าทั้งหมดออกจากพื้นที่ ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ขีดเส้นตายภายในวันที่ 14 ตุลาคมนี้
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย จากยุคเกมตลับเฟื่องฟูจนต้องถอยให้กับเกมออนไลน์ในยุคหลัง แต่ "ตลาดสะพานเหล็ก" หรือตลาดคลองโอ่งอ่างแห่งนี้ ยังคงยืนหยัดอยู่ได้เรื่อยมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพราะผู้ค้าต่างปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคม จึงมักพบเห็นคนทุกรุ่นทุกวัยมาเลือกซื้อของไม่ขาดสาย โดยเฉพาะพ่อที่จูงลูกมาซื้อของเล่น ซึ่งตัวพ่อเองก็มาสะพานเหล็กตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเช่นกัน แต่ต่อไปนี้บรรยากาศแบบนี้จะไม่มีอีกแล้ว เพราะเร็วๆ นี้พื้นที่ทั้งหมดจะต้องถูกรื้อย้ายเพื่อจัดระเบียบเมือง จากการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะคูคลอง
ย้อนกลับไปดูประวัติของคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นคูเมืองเดิมในอดีต เชื่อมต่อจากคลองบางลำพูบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ สิ้นสุดที่บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า ซึ่งเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2519 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนให้คลองโอ่งอ่างเป็นโบราณสถาน และต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดแนวคิดการอนุรักษ์และพัฒนาคลองโอ่งอ่าง ด้วยการจัดระเบียบบริเวณปากคลองโอ่งอ่างและให้มีการปรับปรุงสะพานหัน ที่มีรูปลักษณ์เป็นสะพานสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อส่งเสริมให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน
และเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2543 คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่ามีมติให้ กทม.รื้อถอนอาคารและแผงค้าที่รุกล้ำบริเวณคลองโอ่งอ่าง แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ซึ่งในปี 2547 สำนักงานตลาด กทม.ได้เข้าไปติดป้ายประกาศแจ้งให้ผู้ค้าย้ายออกจากพื้นที่ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เพราะในขณะนั้นสำนักงานตลาด กทม.มีกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ
ปัจจุบันที่นี่มีร้านค้ากว่า 700 ร้าน ส่วนใหญ่จำหน่ายของเล่น เครื่องเล่นเกมและอุปกรณ์ต่างๆ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงร้านซ่อมทุกประเภท โดยเป็นการตั้งร้านบนพื้นที่สาธารณะคือตามแนวคลอง และสร้างสิ่งปลูกสร้างลงไปในคลอง ตั้งแต่บริเวณสะพานดำรงสถิตถึงสะพานบพิธพิมุข
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. บอกว่า ที่ต้องจัดระเบียบที่แห่งนี้เพราะเป็นแหล่งการค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะอย่างผิดกฎหมาย อีกทั้งยังมีการจำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์และหนีภาษีจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน ซึ่งตรวจสอบได้ยาก อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ที่สำคัญคลองโอ่งอ่างยังเป็นโบราณสถานของชาติที่ต้องได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่สภาพปัจจุบันมีอาคารรุกล้ำคลองเต็มพื้นที่ ทำให้คลองเกิดความเสื่อมโทรม จึงอยากให้ผู้ค้าเข้าใจและเห็นแก่ส่วนรวม ควรยอมรับว่าตนอยู่ในที่สาธารณะอย่างไม่ถูกต้อง
ขณะที่อีกด้านคือกลุ่มผู้ค้า ได้ออกมาเรียกร้องให้ กทม.ทบทวนมาตรการจัดระเบียบ แม้ว่าในทางกฎหมายผู้ค้าจะอยู่อย่างไม่ถูกต้อง แต่หากย้อนกลับไปดูตั้งแต่แรกเริ่ม ผู้ค้าได้เข้ามาในพื้นที่อย่างถูกกฎหมาย ซึ่ง ชัญญา สุรวุฒินาค ผู้ค้านาฬิกาตลาดสะพานเหล็ก เล่าว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ผู้ค้ากลุ่มแรกที่เข้ามาขายที่นี่เป็นผู้ค้าจากคลองถมที่ถูกย้ายมาจากการจัดระเบียบ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสะพานเหล็กได้รับความนิยมจนเป็นแลนด์มาร์กของเมือง
จึงอยากให้ กทม.พิจารณาถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งผู้ค้าจะไปยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อสำนักงานเขตพระนครและสัมพันธวงศ์ เพื่อขอความเห็นใจจาก กทม. หากต้องการจัดระเบียบพื้นที่ ผู้ค้าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ แต่อย่าย้ายออกไปเลย
ด้านคนซื้ออย่าง น้องมาร์ค และ น้องโอม ก็บอกว่า อดใจหายไม่ได้ เพราะมาเดินเลือกซื้อเกมและของเล่นที่นี่เป็นประจำเมื่อมีเวลาว่างหลังเลิกเรียน อีกทั้งอยู่ใกล้โรงเรียนและมีสินค้าจำนวนมากให้เลือกซื้อ หากไม่มีตลาดสะพานเหล็กแล้วก็ไม่รู้จะไปซื้อของเหล่านี้ที่ไหน เวลาไปซื้อในห้างก็ต้องใช้เวลาเลือกซื้อ เพราะบางอย่างไม่มีขาย
แต่สุดท้ายแล้วก็ถึงเวลานับถอยหลังปิดตำนานสถานที่สำคัญอีกแห่ง ตามวัตถุประสงค์หลักคือคืนพื้นที่สาธารณะให้กับทุกคน