"แลนด์มาร์ก" ค้าปลีก 5 ย่าน 5 ทำเล...แห่ยึดใจกลางเมือง
"พลังสยาม" Siam Synergy กลายเป็น "ย่านค้าปลีก" แห่งใหม่ล่าสุดหลังประกาศเปิดตัวไปปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการแท็กทีมของ 3 กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าที่ปักหมุดทำเลสยาม-ปทุมวัน คือ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค, กลุ่มสยามพิวรรธน์และกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เพื่อตอกย้ำตัวตนของย่านสยามในฐานะศูนย์กลางเทรนด์ การช็อปปิ้ง และศิลปวัฒนธรรม-ความบันเทิงที่หลากหลายและครบทุกมิติ ด้วยจุดแข็งของทำเลใจกลางเมืองศูนย์กลางของจุดเชื่อมรถไฟฟ้า ขนาดพื้นที่รีเทลรวมกว่า 1 ล้าน ตร.ม. และมีทราฟฟิกหมุนเวียนทั้งย่านกว่า 5.5 แสนคนต่อวัน
นั่นหมายความว่า ตลอดเส้นถนนหลักของศูนย์การค้าใจกลางเมืองตั้งแต่สุขุมวิท-เพลินจิต-ราชประสงค์-สยาม-ปทุมวัน-ประตูน้ำ จะมีย่านการค้าถึง 5 แห่งในระยะทางไม่กี่กิโลเมตร ไล่เรียงจากกลุ่มหลัก "ราชประสงค์ บางกอก ดาวน์ทาวน์" ของสมาคมราชประสงค์, เพลินจิตซิตี้, เอ็ม ดิสทริค, เซ็นทรัล แบงค็อก และพลังสยาม ยังไม่นับรวมกับย่านประตูน้ำที่ผนึกกำลังกันก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
หัวขบวนใหญ่พลังสยาม "สุเวทย์ ธีรวชิรกุล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ฉายภาพว่า ย่านค้าปลีกใจกลางสยามนี้จะครอบคลุมตั้งแต่แยกเฉลิมเผ่าไปจนถึงแยกบรรทัดทองและสะพานหัวช้างให้เป็นหนึ่งเดียวกันโดยการลงทุนของพาร์ตเนอร์ทั้ง 3 รายในช่วง 3 ปีจากนี้มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท รวมถึงการดึงร้านค้าที่มีในศูนย์กว่า 4,200 รายให้มาผนึกแคมเปญการตลาด และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ
สอดคล้องกับ "บุญส่ง ศรีสว่างเนตร" รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มธุรกิจสยามสแควร์ กล่าวว่า ย่านสยามเป็นย่านที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจการค้าที่แข็งแกร่ง เป็นทำเลทองของกรุงเทพฯเทียบเท่ากับย่านกินซ่า Ginza ของญี่ปุ่น ในแต่ละวันมีทราฟฟิกตลอดทั้งย่านสยามนี้กว่า 550,000 คนต่อวันและในจำนวนนี้ 30% เป็นชาวต่างชาติ
เช่นเดียวกับมุมมองของ "ชฎาทิพ จูตระกูล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ขยายความว่า แม้ว่าในตลาดจะมีย่านค้าปลีกเกิดขึ้นหลายแห่ง
แต่เชื่อว่า "สยาม" เป็นชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้จักทั้งคนไทยและโดยเฉพาะต่างชาติที่มาเมืองไทยแล้วไม่มีใครที่จะไม่มาสยาม
"เมืองไทยจะมีสักกี่ย่านการค้าแต่เราคือสยาม เชื่อมั่นในความเป็นสยาม"
ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของการปั้นย่าน "ค้าปลีก" เพื่อสร้างทำเลของศูนย์การค้าเป็นแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อาทิ โมเดล "ราชประสงค์ บางกอก ดาวน์ทาวน์" การขยับทัพรอบใหม่ของสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจย่านราชประสงค์ได้วางผังพัฒนาย่านราชประสงค์ให้เป็นย่านเศรษฐกิจและไลฟ์สไตล์รองรับนักท่องเที่ยวไทยเทศและเป็นศูนย์กลางรองรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์(City MICE Hub) รวบรวมศูนย์การค้าใจกลางกรุง 5 ศูนย์การค้า รวมพื้นที่ค้าปลีกกว่า 6.5 แสน ตร.ม. โรงแรมหรูระดับ 3 ดาว จนถึงระดับลักเซอรี่ 3,900 ห้อง
"เพลินจิตซิตี้" ที่รวม 5 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ "เซ็นทรัล-ธ.กรุงศรี-โนเบิลฯ-ยูนิเวนเจอร์-นายเลิศกรุ๊ป" เพื่อพัฒนาย่านธุรกิจเพลินจิต-วิทยุ อาณาจักรเอ็ม ดิสทริค ของ "ศุภลักษณ์ อัมพุช" ที่ได้กว้านที่ดิน 2 ฝั่งถนนสุขุมวิทกว่า 50 ไร่ แปลงโฉมทำเลสถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์ ปั้น 3 ศูนย์การค้า "เอ็มโพเรียม-เอ็มควอเทียร์-เอ็มสเฟียร์" ให้เป็นอาณาจักรค้าปลีกแห่งใหม่
เช่นเดียวกับ CENTRAL BANGKOK ของกลุ่มเซ็นทรัลที่ขีดเส้นทาง 4 แหล่งช็อปปิ้งห้างเซ็นทรัล ชิดลม, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี, ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และห้างเซน ครอบคลุมถนนเพลินจิต, ราชดำริ, วิทยุ และพระราม 4 ให้เป็นทำเลใจกลางเมือง รูปแบบเดียวกับโมเดลมหานครระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นย่าน Central London, Central Hong Kong หรือ Central Singapore
หรือต้นปีที่ผ่านมา ย่าน "ประตูน้ำ" ได้ผนึกกำลังก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำด้วย
การรวมผู้ประกอบการ 7 ราย คือ เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์, แกรนด์ไดมอนด์พลาซ่า, ชิบูญ่า ประตูน้ำ, ห้างกรุงทองพลาซ่า, อินทรา สแควร์, วอเตอร์เกต พาวิลเลียน และศูนย์การค้า เดอะ พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง เพื่อพัฒนาให้ย่านค้าส่งสินค้าแฟชั่นประตูน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งช็อปปิ้งระดับอาเซียน
ความเคลื่อนไหวของการผนึกรวมกันของย่าน "พลังสยาม" ครั้งนี้ ไม่เพียงเชื่อมต่อทางกายภาพด้วย "สกายวอล์ก" แต่ยังรวมถึงการทำตลาดที่เข้มข้นร่วมกันมากขึ้น ทั้งอีเวนต์ กิจกรรม และแคมเปญ แบบ "คูณ 3" เพื่อสร้างกระแสและอิมแพ็กต์ "เขย่า" ค้าปลีกใจกลางเมือง