“แคนตาลูป บ้านหัวถิน” ไม้ผลดีเมืองระโนด สร้างเม็ดเงิน 100,000 บาท/รุ่น

“แคนตาลูป บ้านหัวถิน” ไม้ผลดีเมืองระโนด สร้างเม็ดเงิน 100,000 บาท/รุ่น

“แคนตาลูป บ้านหัวถิน” ไม้ผลดีเมืองระโนด สร้างเม็ดเงิน 100,000 บาท/รุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สาวบางแค (เรื่อง-ภาพ)

ผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีต มักมีคำพูดติดปากว่า “เมืองระโนด มีแต่ไผ่ กับโตนดเต็มนา” ในวันนี้ อำเภอระโนด มีของดีเพิ่มอีกอย่างคือ “แคนตาลูป” และไม้ผลอีกนานาชนิด ที่มีรสชาติอร่อย คุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั่วไป จากฝีมือบุกเบิกการทำสวนผลไม้ของ “คุณแป๋ว-รุ้งตะวัน ช้างสาร” สาวอำเภอสามพราน ที่โชคชะตาพัดพาเธอมาเป็น “ลูกสะใภ้ชาวอำเภอระโนด” เมื่อ 20 ปีก่อน

คุณแป๋ว-รุ้งตะวัน ช้างสาร เกิดและเติบโตในครอบครัวชาวสวนผลไม้ ย่านคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หลังจากเธอแต่งงานกับหนุ่มใต้ ก็ย้ายถิ่นฐานมาอยู่อำเภอระโนดซึ่งเป็นบ้านเกิดของสามี ปัจจุบันครอบครัวเธอ มีบุตร 5 คน พักอาศัยอยู่รวมกันใน บ้านเลขที่ 25/1 หมู่ที่ 4 ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 90140 โทร. (082) 266-8947

อาชีพทำสวนผลไม้ สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

คุณแป๋ว กล่าวว่า ที่ดินมรดกจากครอบครัวสามีผืนนี้ เคยใช้ทำนาปลูกข้าวมาก่อน แต่รายได้จากการทำนาไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงดูครอบครัว เนื่องจากเธอมีพื้นฐานความรู้เรื่องการทำสวนผลไม้อยู่แล้ว จึงชักชวนสามีปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำสวนผลไม้ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน

ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงจากการปลูกข้าวมาทำสวนผลไม้ เพื่อนบ้านก็หาว่าเธอบ้าเพราะใครๆ ก็ปลูกข้าวทำนากันทั้งนั้น ปรากฏว่า เธอตัดสินใจถูกต้อง เพราะอาชีพการทำสวนผลไม้ประสบความสำเร็จ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำตลอดทั้งปี เพราะสภาพดินในอำเภอระโนด มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ เอื้อต่อการเจริญเติบโตของไม้ผลนานาชนิด

เธอปรับสภาพพื้นที่นา จำนวน 32 ไร่ ให้กลายเป็นร่องสวนเหมือนการทำสวนผลไม้ในจังหวัดนครปฐม โดยจ้างรถแบ๊กโฮมาขุดยกร่องน้ำ ยกร่องแปลงปลูกได้จำนวน 17 ร่อง ระยะหน้ากว้างประมาณ 3 เมตร ปัจจุบันเธอปลูกผลไม้ในลักษณะสวนผสมผสาน โดยใช้แรงงานครอบครัว ปลูกดูแลไม้ผลที่เป็นรายได้หลัก ได้แก่ ฝรั่งแป้นสีทอง เนื้อที่ปลูก 15 ไร่ ชมพู่ทับทิมจันทร์ เนื้อที่ปลูก 9 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือ ใช้ปลูกแคนตาลูป

การปลูก-ดูแล

สวนแคนตาลูปของเธอเป็นเจ้าแรก ในอำเภอระโนด ต่อมาได้ขยายพื้นที่การปลูกในกลุ่มเครือญาติ ปัจจุบันเธอปลูกแคนตาลูปติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยธรรมชาติของแคนตาลูปพันธุ์นี้ ไม่ชอบน้ำฝน จึงปลูกพืชชนิดนี้หลังจากหมดฤดูฝนไปแล้ว ปัจจุบัน คุณแป๋วเลือกปลูกแคนตาลูปพันธุ์เลดี้ซัน ของ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด ซึ่งเป็นสินค้าขายดี เป็นที่นิยมบริโภคกันมากในปัจจุบัน เพราะมีเนื้อสีส้มสวย รสชาติดี เนื้อนุ่ม หวานฉ่ำและมีกลิ่นหอม

การปลูกแคนตาลูปไม่ใช่เรื่องยาก คุณแป๋ว ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ประมาณ 1 กำมือ รองก้นหลุมก่อนการปลูก และหยอดเมล็ดแคนตาลูปลงหลุม หลุมละ 5 เมล็ด ในแปลงที่เตรียมไว้ โดยปลูกร่องละ 1 แถว ในระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 1 ศอก สามารถปลูกแคนตาลูปได้ จำนวน 500 หลุม หลังปลูก เมล็ดเติบโตขึ้นเป็นต้นกล้า คุณแป๋วจะคัดเลือกต้นที่สมบูรณ์ แข็งแรง เหลือไว้แค่ 2-3 ต้น ต่อหลุม หลังจากนั้น จะฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อกระตุ้นให้ต้นเจริญเติบโต เลื้อยไปตามพื้นดินเหมือนกับการปลูกแตงโม

คุณแป๋ว บอกว่า ช่วงที่แคนตาลูปยังเป็นต้นอ่อนต้องคอยฉีดพ่นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตของระบบราก ระบบใบ ของต้นแคนตาลูป ให้มีลำต้นแข็งแรงและผลิดอกตัวเมียที่สมบูรณ์

โดยธรรมชาติ ต้นแคนตาลูปจะผลิใบเลี้ยงออกมาก่อน ตามด้วยใบจริง เมื่อเห็นใบจริงโผล่ออกมา คุณแป๋วจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อเร่งต้น พอต้นแคนตาลูปเริ่มเลื้อยแตกแขนง เห็นดอกตุ่มๆ ยังไม่บาน คุณแป๋วจะเริ่มให้ปุ๋ยเร่งดอก ปุ๋ยเร่งต้น ควบคู่กันไป เพราะหากให้ปุ๋ยเร่งดอกอย่างเดียว แต่ไม่ให้บำรุงต้นด้วย ลำต้นแคนตาลูปก็จะแคระแกร็นได้

“การใส่ปุ๋ยแต่ละครั้งจะใช้สัดส่วนไม่มาก โดยทั่วไป แปลงปลูกแคนตาลูป จำนวน 500 หลุม จะใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 15-15-15 หรือปุ๋ยสูตร 13-13-21 ครั้งละไม่เกิน 15 กิโลกรัม หลังจากต้นแคนตาลูปติดผลแล้วจึงจะเพิ่มปริมาณการให้ปุ๋ยเร่งลูกอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 25 กิโลกรัม เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของผลและเพิ่มรสชาติความหวาน” คุณแป๋ว กล่าว

ส่วนการให้น้ำ ที่นี่ใช้เรือรดน้ำแปลงปลูกแคนตาลูป เหมือนกับทำสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอสามพราน ระยะแรกของการปลูกจะให้น้ำทั้งเช้าและเย็น เมื่อต้นโตเริ่มทอดยอด แตกแขนง ก็จะให้น้ำตามสภาพดิน หากสภาพดินแห้ง จึงให้น้ำ หากดินเปียกแฉะก็งดการให้น้ำสัก 1-2 วัน นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษคือ การกำจัดวัชพืช เพราะหากปล่อยให้วัชพืชขึ้นเยอะ แย่งอาหาร แย่งอากาศหายใจ ดอกแคนตาลูปก็จะร่วงหล่นได้ง่าย

การเก็บผลผลิตมักใช้วิธีนับอายุ หลังจากดอกบานแล้วประมาณ 30-35 วัน หรือสังเกตจากสีผิวเปลือก ผลแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีครีม แต่คุณแป๋วนิยมเก็บผลสุกที่ขั้วหลุดออกมาให้เห็น เพราะจะได้ผลสุกเต็มที่ เนื้อนุ่ม หวานฉ่ำ มีกลิ่นหอม ที่สำคัญมีรสชาติอร่อยโดนใจลูกค้า

แคนตาลูปใช้ระยะเวลาปลูกและเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 2 เดือน แต่ให้ผลตอบแทนสูง คุณแป๋วสามารถปลูกแคนตาลูปได้ทั้งปี เฉลี่ยปีละ 3 รุ่น โดยวางแผนการปลูกแคนตาลูปรุ่นละ 5 ไร่ สลับหมุนเวียนกันไป หลังจากปลูกเก็บผลผลิตไป 1 รุ่นแล้ว จะไม่นิยมปลูกซ้ำที่เดิม เพราะเสี่ยงต่อการติดโรค จึงจำเป็นต้องย้ายไปปลูกยังที่ดินแหล่งใหม่ ส่วนบริเวณที่ปลูกเดิมต้องพักแปลงการปลูกประมาณ 3-4 เดือน จึงเริ่มเพาะปลูกรอบใหม่ได้อีกครั้ง

คุณแป๋ว บอกว่า ล่าสุดเธอมีโอกาสไปดูการปลูกแคนตาลูปแบบขึ้นร้านที่จังหวัดนครสวรรค์ ก็รู้สึกสนใจ เพราะดูแลจัดการได้ง่าย ลดปัญหาแคนตาลูปผลเน่าในช่วงหน้าฝนได้ แต่มีติดขัดที่ว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้ต้องชะลอการลงทุนไปก่อน

ปัญหาอุปสรรคที่เจอระหว่างการรอเก็บเกี่ยวคือ “แมลงเต่าทอง” โดยตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ในดิน จะเข้าทำลายกัดแทะกินใบ ยอดอ่อน และแขนง แถมเป็นพาหะของเชื้อไวรัสอีกด้วย ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารเคมีช่วยกำจัดแมลง

บริหารจัดการดี...มีกำไรเหลือเพียบ

ปีแรกของการลงทุนสวนแคนตาลูปแห่งนี้สร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋าประมาณ 300,000 บาท เฉลี่ยรายได้ ตกรุ่นละ 100,000 บาท คุณแป๋ว บอกว่า เมล็ดพันธุ์แคนตาลูป ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ลูกผสมที่มีราคาแพง และหาซื้อได้ยาก แต่สวนแคนตาลูปของเรา ถือว่าใช้ต้นทุนต่ำ เพราะอาศัยการเก็บเมล็ดที่ปลูกในรุ่นที่ 3 มาเพาะขยายพันธุ์เอง สามารถประหยัดต้นทุนได้จำนวนมาก แต่วิธีนี้มีจุดอ่อนคือ ผลผลิตที่ได้จะมีลักษณะรูปทรงผิดเพี้ยนจากพันธุ์เดิมสักเล็กน้อย แต่ยังให้รสชาติความอร่อยเหมือนเดิม

“การลงทุนแต่ละรุ่น ใช้เงินทุนไม่ถึง 15,000 บาท ประกอบกับ แหล่งนี้ยังไม่เคยปลูกแคนตาลูปมาก่อน จึงไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนรุนแรงเหมือนกับแหล่งปลูกไม้ผลที่อื่นๆ จึงประหยัดต้นทุนค่าสารเคมีได้จำนวนมาก” คุณแป๋ว กล่าว

ประการต่อมา คุณแป๋วปลูกเอง ขายเอง ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท โดยนำสินค้าออกจำหน่ายในงานแสดงสินค้าของท้องถิ่น รวมทั้งเปิดแผงขายประจำในตลาดน้ำ ตำบลคลองแดน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว นโยบายปลูกเอง ขายเองของเธอ สามารถสร้างผลกำไรได้สูงตลอดทั้งปี เมื่อเทียบกับการขายส่งให้แม่ค้าคนกลางในราคาหน้าสวน ที่กิโลกรัมละ 20 บาท

หลังจากสวนผลไม้ของคุณแป๋วประสบความสำเร็จในด้านการปลูกและการตลาด ก็จุดประกายให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงสนใจอยากทำสวนผลไม้บ้าง แต่หลายรายทำไปได้ก็ล้มเหลว เพราะขาดทักษะการทำสวนผลไม้

สำหรับเกษตรกรมือใหม่ที่อยากทำสวนผลไม้ คุณแป๋ว แนะนำว่า ควรเริ่มต้นจากการทำสวนฝรั่ง เพราะเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย ขายคล่อง ตลาดต้องการสูงตลอดทั้งปี สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ การห่อผล หากดูแลจัดการไม่ดีพอ อาจเจอแมลงวันทองรบกวน ทำให้ผลผลิตเสียหายได้

หากใครสนใจ มีข้อสงสัย อยากแลกเปลี่ยนข้อมูลการปลูกดูแลไม้ผลของคุณแป๋ว หรือสนใจอยากเยี่ยมชม “สวนรุ้งตะวัน แคนตาลูป บ้านหัวถิน” สามารถติดต่อกับคุณแป๋ว ได้ที่เบอร์โทร. (082) 266-8947 หรือชมภาพกิจการของสวนแห่งนี้ได้ที่เฟซบุ๊ก “สวนผลไม้ระโนด”

ติดตามข่าวสารอื่นๆได้ที่
http://www.facebook.com/Khaosodfarm

ข้อมูล
www.technologychaoban.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook