5 ศาสตร์แห่งการใช้บัตรเครดิต แบบชีวิตจริง!!!

5 ศาสตร์แห่งการใช้บัตรเครดิต แบบชีวิตจริง!!!

5 ศาสตร์แห่งการใช้บัตรเครดิต แบบชีวิตจริง!!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

TAXBugnoms

บล็อกเกอร์ผู้รวมเรื่องราวและประสบการณ์ที่สั่งสมจากการทำงานในแวดวงภาษี บัญชี การเงิน การลงทุน และเรื่องราววุ่นๆในการใช้ชีวิต


“คุณพรี่หนอมคะ สนใจมีบัตรเครดิตไหมคะ ตอนนี้อนุมัติง่ายมาก แค่มีบัตรประชาชนก็ได้แล้วค่ะ” มิตรสหายขายบัตรเครดิตท่านหนึ่งกล่าวถามผมด้วยคำถามสบายๆ ชวนให้จิตใจไหวหวั่นอยากจะมีบัตรเครดิตกับเค้าสักใบ แต่นับๆดูก็ปาไป 4-5 ใบแล้วนะที่มีเนี่ยยยย

พอเมื่อผมคิดได้แบบนั้น… ก็เลยตัดสินใจทำบัตรเครดิตเพิ่มอีกใบ เพราะของแถมมันล่อตาล่อใจเสียเหลือเกิน (เห้ย!อะไรกันวะเนี่ย) แต่!!! ที่ผมกล้าพูดแบบนี้ เพราะว่าผมมีเคล็ดลับที่ช่วยให้ใช้บัตรเครดิตอย่างมีความสุขได้ง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องมองว่ามันเป็นภัยร้ายกลายเป็นหนี้ หรือไปถึงขั้นตัดบัตรทิ้ง (เอ่อ.. พี่ตัดบัตรแล้วพี่จะสมัครทำไมครับ) เพราะทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากเทคนิคง่ายๆ 5 ข้อ ผมขอรับรองเลยครับว่า ถ้าทำได้ตามนี้… ไม่มีวันที่หนี้บัตรเครดิตจะมาทำร้ายเราได้อย่างแน่นอนครับ

โดยเทคนิคง่ายๆในการใช้บัตรเครดิต 5 ข้อที่ผมจะแชร์ให้ฟังในบทความนี้ มันคือ นับวันดี-อย่าเป็นหนี้-มีให้ครบ-จบให้เป็น-เห็นข้อมูล เอาล่ะ.. เรามาดูกันทีละข้อดีกว่าว่ามันหมายความว่าอย่างไร

1. นับวันดี คือ การรู้จักวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของบัตรใบนั้นๆ ได้แก่ วันตัดบัญชี และ วันกำหนดจ่ายชำระ ซึ่งจะสามารถทำให้เราวางแผนการจ่ายเงินได้ง่ายๆ ตามแต่ละวัน มาทำความรู้จักกันดีกว่าครับว่า มันคือวันอะไรบ้าง?

วันตัดบัญชี คือ วันตัดยอดบัตรเครดิต ซึ่งยอดที่ตัดบัญชีนี้คือยอดที่เราต้องจ่ายในวันกำหนดจ่าย
วันกำหนดจ่าย คือ วันสุดท้ายที่ต้องจ่ายชำระหนี้ มิฉะนั้นจะต้องเสียดอกเบี้ยบัตรเครดิต ชะละล่า

ถ้าหากจัดการวางแผนดีๆ แล้วล่ะก็ เราจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี่ยสูงสุดประมาณ 45-50 วันตามเงื่อนไขของบัตรแต่ละแห่งครับ

ตัวอย่างเช่น บัตรของธนาคาร Aommoney มีวันตัดรอบบัญชีในวันที่ 15 ในทุกเดือนและมีวันกำหนดจ่ายในวันที่ 1 ของุเดือนถัดไป


ถ้าเราใช้บัตรเครดิตในวันที่ 20 สิงหาคม 2558 ยอดนี้จะกลายเป็นยอดที่ต้องจ่ายของรอบเดือนกันยายน (16 สิงหาคม – 15 กันยายน) ที่จะต้องครบกำหนดจ่ายในวันที่ 1 ตุลาคม แต่ถ้าเกิดเราใช้บัตรเครดิตก่อนวันที่ 15 สิงหาคม 2558 ยอดนี้จะถูกเรียกเก็บในวันที่ 1 กันยายน 2558 ทันทีคร้าบ

เห็นไหมล่ะครับว่า ถ้าเรา วางแผนดี อดใจไปอีก 5 วันก็ยืดเวลาการจ่ายชำระได้อีกเดือนกว่าๆ แบบสบายๆ แต่อย่าลืมนะครับว่า ยืดแล้วก็ต้องจ่ายให้ถูกต้องครบทุกงวด เพราะปัญหาของการยืดเวลาบริหารการเงินแบบนี้ ถ้าเป็นหนี้ขึ้นมาจะลำบากมากเลยล่ะคร้าบ และนั่นคือที่มาของเคล็ดลับข้อที่ 2 อย่าเป็นหนี้!

2. อย่าเป็นหนี้ แปลว่า อย่าเป็นหนี้ แหม่แปลได้ตรงตัวเป๊ะๆ เลยครับพรี่หนอม ต่อให้เราจะนับวันดีแค่ไหน แต่ถ้าเราพลาดท่าเป็นหนี้ขึ้นมาเมื่อไร สิ่งที่เราสร้างมาก็จะจบลงทันที

อย่าลืมนะครับว่า บัตรเครดิตนั้นมีไว้เพื่อความสะดวกในการจ่ายชำระเท่านั้น แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะใช้มันได้ฟรีๆโดยไม่มีความเสี่ยงอะไร ดังนั้นท่องเอาไว้ว่า เราต้องจ่ายชำระเต็มจำนวนทุกครั้ง และควบคุมใจให้ดีไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว จะมีปัญหาได้ครับ

เพราะถ้าเกิดเราจ่ายไม่ตรงเวลา หรือจ่ายเพียงแค่ขั้นต่ำ 10% ดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่มีนั้นจะกลายเป็นมหันตภัยร้ายทำลายเรานะครับ เพราะ การคิดดอกเบี้ยไม่ได้คิดจากวันที่ตัดยอด แต่จะคิดตั้งแต่วันแรกที่เรารูดบัตรเพื่อเปิดใช้ และจะคิดไปจนกว่าการจ่ายชำระจะครบถ้วนในรอบต่อไป ขอยกตัวอย่างวิธีการคำนวณง่ายๆ ตามนี้ครับ

นายเกรย์แมน ทำบัตรเครดิตธนาคาร Aommoney มีวันตัดรอบบัญชีในวันที่ 15 ในทุกเดือนและมีวันกำหนดจ่ายในวันที่ 1 ของุเดือนถัดไป โดยมีอัตราดอกเบี้ยจำนวน 20% ต่อปี

วันที่ 1 สิงหาคม นายเกรย์แมนรูดบัตรไปใช้จำนวน 20,000 บาท เพื่อซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ เมื่อวันครบกำหนดชำระ นายเกรย์แมนตัดสินใจจ่ายขั้นต่ำ (10%) คือ 2,000 บาทในวันที่ 1 กันยายน สิ่งที่นายเกรย์แมนจะประสบพบเจอก็คือ


ดอกเบี้ยส่วนแรก: คิดจากยอดตั้งแต่วันใช้จ่าย (1 สิงหาคม) ไปจนถึงวันสรุปยอดค่าใช้จ่าย (15 สิงหาคม) คึอ 20,000 x ดอกเบี้ย (20%) x 15 วัน / 365 = 164.38 บาท

ดอกเบี้ยส่วนที่สอง: คิดจากยอดค้างชำระ นับตั้งแต่วันที่ชำระขั้นต่ำ (1 กันยายน) ไปจนถึงวันสรุปยอดค่าใช้จ่ายเดือนถัดไป (15 กันยายน) คือ 18,000 x ดอกเบี้ย (20%) x 15 วัน / 365 = 147.94 บาท

ดังนั้น วันที่ 15 กันยายน ยอดที่นายเกรย์แมนเป็นหนี้ คือ 18,000 + 164.38 + 147.94 = 18,312.32 บาท และถ้านายเกรย์แมนยังจ่ายขั้นต่ำต่อไป ดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบไวชนิดที่ใจหายเลยล่ะครับ

พูดก็พูดเถอะครับ โชคชะตาคนเรามันก็ย้อนแย้งแกล้งรัก บอกว่าไม่ให้เราใช้จ่ายเกินตัว แต่พี่ๆธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตทั้งหลายกลับออกวงเงินให้สูงถึง 3-5 เท่าของรายได้ อยู่ที่ว่ารายได้ใครจะเยอะแค่ไหน แล้วแบบนี้จะไม่ให้ใช้ได้อย่างไรล่ะครับ!!

ดังนั้น.. วิธีป้องกันการใช้จ่ายเกินตัวง่ายๆที่ผมเลือกใช้ คือ การโอนเงินสดเข้าบัญชีพักไว้ทุกครั้งที่ใช้ เปรียบเสมือนกับการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับค่าบัตรเครดิต ซึ่งวิธีนี้ป้องกันได้ดีมากๆเลยล่ะครับ เพราะถ้าใช้ไม่ดีเงินหมดก็จะลำบากอย่างแน่นอน หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ กำหนดจำนวนเงินใช้จ่ายให้แน่นอนไปเลยครับ เช่น เดือนละ 10,000 บาท แล้วโอนเงินฝากธนาคารรอไว้เลยแบบนี้ก็ตัดปัญหาได้ดีทีเดียวครับ

3. มีให้ครบ บัตรเครดิตทุกวันนี้มีให้เลิอกหลายเจ้ามากมาย แถมยังมีตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของชีวิต มีหลายคนบอกว่า ให้ใช้บัตรไปเดียวก็พอเพื่อควบคุมการใช้จ่าย ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีและง่ายๆสำหรับคนที่ไม่มีวินัยทางการเงินครับ แต่สำหรับผม จะแยกกันใช้ตามไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่า ถ้าเป็นเติมน้ำมันใช้บัตรนี้คุ้ม ถ้าเก็บสะสมไมล์ใช้บัตรนี้เลย หรือถ้ากินเที่ยวก็ใช้อีกบัตร เพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับครับ

ประเด็นสำคัญตรงนี้คือ เราต้องรู้ก่อนครับว่า ไลฟ์สไตล์ของเรานั้นเป็นแบบไหน และมีอะไรที่สามารถใช้จ่ายผ่านบัตรได้บ้าง หลังจากนั้นก็แบ่งแยกและกำหนดให้แน่นอนตามความต้องการ และที่สำคัญอย่าลืมปฎิบัติข้อ 1 และ 2 ที่ว่าไปด้วยครับ


เพราะต้องไม่ลืมครับว่า ถ้าจะใช้ประโยชน์ให้ครบถ้วน วินัยในการใช้จ่ายก็ต้องดีด้วย ไม่ใช่ยิ่งมียิ่งรูดแบบนี้ชีวิตจบแน่ๆครับ (ท่องไว้ๆๆ วินัยสำคัญที่สุดคร้าบ)

4. จบให้เป็น เทคนิคข้อนี้คือ การใส่ใจเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับบัตรด้วยนะครับ เริ่มจากควบคุมความอยากของเราให้ได้ โดยการ จบที่ใจ ไม่ซื้อเกินกว่าที่ตัวเองจ่ายไหว ไม่กดเงินสดออกมาเพราะมันมีค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่สูงมว้ากกก หลังจากนั้นให้มาจบที่จ่าย คือ อย่าฟุ่มเฟือยกับการจ่ายที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ให้ควบคุมการจ่ายโดยการตัดผ่านบัญชีธนาคารเพื่อลดค่าธรรมเนียม รวมถึงบัตรที่มีค่าธรรมเนียมรายปี เพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แน่ใจด้วยว่า เราใช้ไหวและจ่ายไหว ไม่งั้นชีวิตไปแน่ๆครับผม

เคยมีเพื่อนผมคนหนึ่งมีบัตรสิทธิประโยชน์มากมายที่กำหนดค่าธรรมเนียมรายปีไว้สูงมาก ผลปรากฎว่าได้มาก็ใช้ไม่ถึงยอดที่กำหนดให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม แถมสิทธิประโยชน์ก็ไม่ได้ใช้จนครบ พอครบปีโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตั้งหลายพัน พอยกเลิกบัตรก็เสียแต้ม แบบนี้ไม่คุ้มกันเลยใช่ไหมล่ะครับ

5. เห็นข้อมูล ข้อสุดท้ายคือการมองเห็นข้อมูลของเราครับ ทุกการใช้จ่ายบัตรต้องแน่ใจว่าเป็นการใช้จ่ายของเราเอง ไม่ได้ถูกแอบอ้างหรือขโมย เพราะอาจจะมีรายการแปลกๆที่เราไม่ได้ใช้ ดังนั้นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าครบถ้วนทุกรายการเสียก่อนนะครับ

สำหรับวิธีการนี้จะใช้การเก็บบันทึก Slip บัตรเครดิต หรือจดรายการผ่าน Application การเงินต่างๆตามที่สะดวกก็ได้ครับอย่างตัวผมเองใช้ App บันทึกรายการบัตรเครดิตที่ชือว่า PIGGIPO ช่วยบันทึกรายการทุกการใช้จ่าย แจ้งเตือน และตรวจสอบการจ่ายชำระของตัวเองได้ง่ายๆเลยล่ะครับ

และ 5 เคล็ดลับทั้งหมดนี้ คือ เคล็ดลับการใช้บัตรเครดิตของตัวผมเองครับ ซึ่งบางข้ออาจจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่กำลังใช้บัตรเครดิตอยู่ หรือกำลังตัดสินใจที่สมัครบัตรเครดิต ท้ายที่สุดนี้ผมก็ขอเตือนไว้ครับว่า เครืองมือการเงินทั้งหลายในโลกนี้ มีทั้งประโยชน์และโทษทั้งสองด้าน แล้วแต่ว่าใครจะเห็นมันและเลือกใช้อย่างไรให้ถูกต้องและถูกใจ ถ้าใช้ดีก็ปลอดหนี้แถมมีสิทธิประโยชน์ดีๆ เพียบ แต่ถ้าใช้ไม่เป็นก็อาจจะเจ็บหนัก ดังนั้นอย่าลืมศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนทุกครั้งก่อนตัดสินใจนะคร้าบบบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook