อภิศักดิ์-เล็งลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา-ควบคู่เพิ่มรายได้รัฐผ่านอี-เพย์เมนต์
ขุนคลังร่ายแผนงาน 3 ด้าน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปลุกผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอี ธุรกิจประคองเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพ ส่งซิกลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ควบคู่ทำระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ต้อนรายได้เข้ารัฐ ขอเวลาทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดผลกระทบประชาชน วาดฝันผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน หนุนใช้อี-เพย์เมนต์ลดใช้เงินสด จัดระบบจูงใจผู้ประกอบการทำบัญชีเดียว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน "ร่วมสร้างเศรษฐกิจไทย พูดคุยกับทีมเศรษฐกิจใหม่" เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ว่า มี 3 เรื่องที่ต้องการผลักดันคือ เรื่องแรกทำอย่างไรให้เศรษฐกิจในอนาคต สอง เรื่องภาษี และสุดท้าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
เรื่องแรก การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยคนรายได้น้อย ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี อุดช่องว่างในการใช้จ่ายภาครัฐ เติมส่วนที่ขาย เช่น โครงการที่เบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่า 1 ล้านบาท สามารถทำโดยวิธีตกลงราคาได้ อีกด้านคือสร้างความเข้มแข็งในระดับตำบล โดยเงินที่เติมลงไปจะเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลงไปกว่านี้
ขณะเดียวกัน จะทำให้เอกชนมีบทบาทกับประเทศมากขึ้น เช่น ผ่านการสนับสนุนการลงทุนผ่านช่องทางของบีโอไอ ขณะที่ กระทรวงการคลังได้ตั้งคณะทำงานหนึ่งชุดเพื่อเสาะหาอุตสาหกรรมที่ควรเป็นอนาคตของประเทศ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะผลสรุปคร่าวๆ ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้ ส่วนอุตสาหกรรมที่ว่า ยกตัวอย่าง ไบโอเมดิคอล หรือที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ซึ่งคนไทยเก่ง หรือการต่อยอดอุตสาหกรรมรถยนต์ การอัพเกรดจากผู้ประกอบรถยนต์ไปสู่การออกแบบ หรือการพูดถึงอุตสาหกรรมการบิน ฯลฯ พร้อมกับสนับสนุนการลงทุน ซึ่งคาดว่า ปี 2559 น่าจะใช้งบลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ราว 1.3 แสนล้านบาท
"หากทำได้หมดนี้ ประเทศไทยจะมีประสิทธิภาพดีขึ้น และสิ่งที่เน้นคือการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพของภาคเอกชนมากขึ้น"นายอภิศักดิ์กล่าว
เรื่องที่สอง ด้านภาษี ที่เพิ่งออกมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เช่น ภาษีนิติบุคคลให้เป็นการถาวร 20% เพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชน ถามว่าทำไมต้องลด เพราะมีผลอยู่หลายด้าน เช่น การแข่งขัน หากเปิดประเทศ เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ไม่ว่าจะผลิตสินค้าใดในเออีซี ก็มีโอกาสส่งสินค้าไปได้ทั้งประเทศ ดังนั้นการที่ประเทศต่าง ๆ จะมีแนวคิดตั้งอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไหน ตัวภาษีจะเป็นกำหนดในการพิจารณา เพราะหากเรามีการเก็บภาษีสูงเหมือนอดีตที่ 30 % ก็อาจไม่จูงใจอุตสาหกรรมต่างๆ
ส่วนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่เหลื่อมกันอยู่ตอนนี้ สูงสุดอยู่ที่ 35% ก็มีผลกระทบพอสมควร เพราะคนที่มาลงทุน ก็จะมีพนักงานเข้ามา หรือจ้างพนักงาน หากเราคิดภาษีที่แพง ประเทศต่างๆ ก็ต้องคิดเหมือนกัน ดังนั้นแนวคิดการปรับปรุงภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ก็มีความจำเป็น เพื่อให้เราสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ แต่เรื่องนี้ทำแล้วอาจส่งผลให้รายได้รัฐ เงินงบประมาณหายไปเยอะ ดังนั้นต้องพิจารณาถึงความเพียงพอ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ทำอะไร
อีกทั้งหากทำ ก็ต้องคิดว่าเราจะหาเงินจากไหนเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนภาษีอื่นๆ เราจะพยายามทำให้การชำระภาษีเป็นเรื่องสะดวก และทำให้มีการรวมกลุ่ม ประเภทภาษีที่น้อยลง ขณะเดียวกัน จะปรับขบวนการ ปรับระเบียบต่างๆ โดยพยายามทำให้เป็นกฏเกณฑ์ชัดเจน เพื่อป้องกันการคอรัปชั่น ส่วนเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทางทฤษฏีเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็จะกระทบกับคนจำนวนมาก ขณะนี้ จึงให้เอากลับมาทบทวน เพื่อลดผลกระทบของบุคคลต่างๆ ซึ่งหากได้แล้ว จะนำกลับมาเสนออีกครั้ง
สุดท้าย เรื่องการทำโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เช่น สนับสนุนระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นเชิงบูรณาการ จากที่ใช้เงินสดจำนวนมาก อันนี้ก็อยากเปลี่ยนโครงสร้างนี้เพื่อลดการใช้เงินสด โดยสิ่งที่จะทำคือ ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) ตั้งแต่ผู้ซื้อ ร้านค้า และต้องทำให้ทุกร้านมีเครื่องรับบัตรต่างๆ ได้สะดวกขึ้น
"หากเป็นไปได้ จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนเติมเงิน ซึ่งแบงก์ต่างๆ ก็ต้องเอื้อในการเติมเงินต่างๆ ขณะเดียวกัน จะทำเรื่องนี้ไปผูกกับคนมีรายได้น้อย ปัจจุบันเรามีรถเมล์ฟรี ค่าไฟฟ้าลดราคา แต่สิ่งที่ทำคือ ขาดระบบเชื่อมโยง หากเราสามารถพัฒนาระบบอี-เพย์เมนต์ได้ ก็จะสามารถช่วยคนมีรายได้น้อยได้ เช่น คนถือบัตรอันนี้ ไม่ต้องจ่ายเงิน"นายอภิศักดิ์กล่าว
ขณะเดียวกัน การทำเรื่องนี้ยังช่วยลดการหลีกเลี่ยงภาษีได้ทันที เพราะจะหักภาษีได้เลยเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร และทุกอย่างจะเชื่อมกับระบบของสรรพากรได้ จะทำให้รายได้ภาษีของประเทศเพิ่มขึ้น ภาษีบุคคลธรรมดาจะสามารถลดลงได้ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นโครงการที่จะเห็นโครงร่างภายใน 1 เดือนนับจากนี้ อีกเรื่องที่ต้องการผลักดันคือ การทำให้ผู้ประกอบกิจการต่างๆ ทำบัญชีเดียว