รู้ยัง! ทำงานมีรายได้ ต้องจ่ายภาษีหรือไม่อย่างไร...?
อีก 10 สัปดาห์จะหมดปี 2558 ดูแล้วยังเหลืออีกไม่นานนะครับ ... แน่นอนว่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายเมื่อนึกถึงสิ้นปี นอกจากวันหยุดยาวแล้ว ต้องคิดถึง เรื่องโบนัสสิ้นปีว่าจะได้หรือไม่ได้ ได้เท่าไร เพื่อจะได้วางแผนการใช้จ่ายในช่วงหยุดยาวได้ถูก หรือ คนที่มองอนาคตระยะกลางระยะยาว ก็เตรียมวางแผนเผื่อสำหรับการออมการลงทุนในอนาคตด้วย
แต่มีเรื่องที่สำคัญ ที่มนุษย์เงินเดือนต้องคิดและวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ และศึกษาเรียนรู้ไว้นั้นก็คือ การวางแผนภาษี ... สำหรับคนที่เริ่มทำงานใหม่ ยังไม่เคยเสียภาษี รู้หรือยังว่า ต้องมีรายได้เท่าไรจึงเสียภาษี หรือ คนที่ทำงานอิสระต้องมีรายได้เท่าไรจึงต้องเสียภาษี และ แต่ละคนมีหน้าที่อย่างไรในการเสียภาษี รวมถึง จะมีอะไรบ้างที่มาช่วยลดหย่อนภาษี มีการลงทุนอะไรบ้างที่ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับแต่ละคนแล้วยังมีส่วนในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ..?
เพื่อเป็นการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ sanook money จะรวบรวมและนำเสนอ แผนการบริหารภาษี แผนการลงทุนที่ช่วยลดภาระภาษีเน้นเฉพาะบุคคลธรรมดา หรือ พวกมนุษย์เงินเดือน มนุษย์รับจ้าง ฯ อย่างต่อเนื่องให้กับแฟนๆได้เรียนรู้ร่วมกัน
สำหรับตอนแรก จะขอเริ่มต้นด้วย พื้นฐานที่ว่า ใครบ้างต้องเสียภาษี...มนุษย์เงินเดือน มีรายได้เท่าไรจึงต้องเสียภาษี และ อัตราภาษีของแต่ละคนที่มีรายได้แตกต่างกันจะเสียภาษีในอัตราเท่าไร..?
ใครบ้างต้องเสียภาษี...?
เรื่องนี้เป็นไปตามประมวลรัษฎากร ซึ่งก็คือกฎหมายเกี่ยวกับภาษีนั้นแหละครับ ได้กำหนดไว้ว่า ...
ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้จาก การจ้างแรงงานประเภทเงินเดือน ค่าจ้างที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)
- กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 50,000 บาท
- กรณีที่มีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 100,000 บาท
2. ผู้มีเงินได้จาก การทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่มิใช่เกิดจากการจ้างแรงงาน ที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)
- กรณีไม่มีคู่สมรสต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท
- กรณีมีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกัน เกิน 60,000 บาท
3. กองมรดกของผู้ตายที่ยังไม่แบ่งเกิน 30,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 30,000 บาท
สรุปง่ายๆนะครับว่าคนที่มีรายได้ระหว่างปี ตามเกณฑ์ 1-4 ข้างต้นต้องมีหน้าที่ ย้ำว่ามีหน้าที่ต้องยื่นแบบเพื่อคำนวณภาษี..นะครับ...ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่ว่ากันไปตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษี และ อัตราเริ่มต้นที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายครับ
ในส่วนของมนุษย์เงินเดือน หรือ คนที่มีรายได้จากเงินเดือนค่าจ้างเพียงอย่างเดียว ต้องมีรายได้ต่อปีเท่าไรจึงจะเสียภาษี(ย้ำว่าต้องมีหน้าที่ยื่นคำนวณภาษีตามเกณฑ์นะครับ) ?
เนื่องจากตามประมวลรัษฎากร มีการกำหนดเบื้องต้นว่า ผู้มีเงินได้จากรายได้ประจำ หรือเงินเดือน สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40 %ของ รายได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี และหักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้อีก 30,000 บาท สำหรับคนโสดนะครับ
ดังนั้นจากฐานข้างต้น มนุษย์เงินเดือน หรือคนมีรายได้ประจำ ที่ต้องเสียภาษี จะต้องมีรายได้ มากกว่า เดือนละ 20,000 บาทขึ้นไป เพราะ อัตราภาษีตามประมวลรัษฎากร ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ
รายได้ 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
รายได้ 150,001-300,000 บาท เสียภาษี 5%
รายได้ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10%
รายได้ 500,001-750,000 บาท เสียภาษี 15%
รายได้ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20%
รายได้ 1,000,001-2,000,000 บาท เสียภาษี 25%
รายได้ 2,000,001-4,000,000 บาท เสียภาษี 30%
รายได้ตั้งแต่ 4,000,000 บาท ขึ้นไปเสียภาษี 35%
จากฐานเงินเดือน 20,000 บาท ต่อเดือน รายได้ต่อปีเท่ากับ 240,000 บาท หักค่าใช้จ่าย 60,000 บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 30,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 150,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีตามกฎหมาย หากใครมีรายได้มากกว่านั้น เพียง 1 บาท ก็จะเสียภาษีทันทีในอัตรา 5 %
พอจะเห็นแนวทางหรือยังครับ เริ่มคำนวณกันได้แล้วครับว่าเราจะเสียภาษีหรือไม่...? และจะมีวิธีการอะไรบ้างที่จะช่วยลดหย่อนภาษีลงได้บ้าง มาติดตามกันในตอนต่อไปครับ.......