ยักษ์ "ค้าปลีก" แห่อวดโฉม ศูนย์การค้า "ชานเมือง" เขย่าปลายปี

ยักษ์ "ค้าปลีก" แห่อวดโฉม ศูนย์การค้า "ชานเมือง" เขย่าปลายปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้บรรดาศูนย์การค้าใจกลางเมืองจะยังคงลุ้นกลุ่มลูกค้า "นักท่องเที่ยว"ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการจับจ่ายและกระจายเม็ดเงินช็อปปิ้ง แต่สำหรับศูนย์การค้า "รอบนอกและหัวเมืองหลัก" ยังคงเดินหน้าตามแผน โดยเฉพาะการเปิดตัวศูนย์การค้าแห่งใหม่ โครงการส่วนต่อขยาย รวมถึงการลงทุนยกเครื่องแปลงโฉมครั้งใหญ่ เพื่ออวดโฉมให้ทันในช่วงปลายปีที่ถือว่าเป็นหน้าขายสำคัญของธุรกิจค้าปลีก

ความเคลื่อนไหวที่คึกคักและมีสีสันในช่วงเทศกาลปลายปี ล้วนเป็นภาพการเคลื่อนทัพของกลุ่มทุนค้าปลีกรายหลักในตลาดแทบทั้งนั้น อาทิ โครงการ 4,000 ล้าน "สเปล" Zpell ของกลุ่มฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต, โครงการ 6,000 ล้าน Central Festival East Ville ของกลุ่มเซ็นทรัล รวมถึงการยกเครื่อง "เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า" เพื่ออัพเกรดและเพิ่มพื้นที่ 5.7 หมื่น ตร.ม.

เช่นเดียวกับย่านศรีนครินทร์ ศูนย์การค้า "ซีคอนสแควร์" เตรียมเพิ่มพื้นที่ 1.2 หมื่น ตร.ม. เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าระดับกลางและบน ด้วยการดึงแบรนด์ดังร้านค้าอาหารใจกลางเมืองมาร่วมทัพ รวมถึงล่าสุดการเข้ามาลงทุนของกลุ่ม "อิออน" เพื่อปั้นช็อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ขนาด 1 หมื่น ตร.ม. นำร่องสาขาแรกที่ศรีราชา

อวดโฉม พ.ย. ยึดรังสิต

โครงการส่วนต่อขยายกว่า 1 แสน ตร.ม. ของ "สเปล" จะตอกย้ำภาพลักษณ์ความเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯตอนเหนือชัดเจน เพราะเมื่อรวมกับโครงการเดิมจะมีพื้นที่รวมกว่า 6 แสน ตร.ม. "พิมพ์ผกา หวั่งหลี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสิต พลาซ่า จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าฟิวเจอร์ พาร์ค ฉายภาพว่า เตรียมที่จะอวดโฉมสเปลปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และดึงกลุ่มร้านอาหารและแฟชั่นใจกลางเมืองเข้ามาเปิดกว่า 200 ร้านค้าเพื่อเป็นศูนย์กลางการช็อปปิ้งของกรุงเทพฯตอนเหนือเพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าตลาดบนให้เป็น 40% ของสัดส่วนลูกค้าทั้งหมด

"กลุ่มลูกค้าในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไป ใช้ชีวิตการทำงานในเมือง และมีไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง คนกลุ่มนี้ต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องฟันฝ่าการจราจรไปช็อปปิ้งในเมือง เราจึงต้องเร่งลงทุนเพื่อรองรับเมืองที่ขยายตัวและรับมือการแข่งขัน"

และได้ทุ่มงบฯ 200 ล้านบาท เพื่อสร้างสะพานเชื่อม-ปรับรูปแบบจราจรเข้าศูนย์การค้าด้วย Fly Over Bridge สะพานเชื่อมทางยกระดับจากเส้นรังสิต-นครนายก ด้านถนนพหลโยธิน เพื่อเข้าศูนย์การค้าโดยตรง และ Future Park Station ปรับภูมิทัศน์และการจราจร 10,000 ตร.ม. บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้า เป็นศูนย์รวมรถสาธารณะและจุดจอดรถ BRT รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงในปี 2561

สัญญาณบวกดันค้าปลีก

เช่นเดียวกับการเตรียมเปิดตัวส่วนต่อขยายเฟส 3 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ สำหรับคอมมิวนิตี้มอลล์ เดอะ คริสตัล "กวีพันธ์ เอี่ยมสกุลรัตน์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.อี. รีเทล จำกัด ฉายภาพว่า ปลายปีสัญญาณบวกของธุรกิจค้าปลีกปรับตัวดีขึ้น บรรยากาศโดยรวมก็มีทิศทางที่ดี บริษัทเตรียมที่จะเปิดตัวโครงการลงทุน 2,000 ล้านบาท ตามแผนที่วางไว้

ซึ่งส่วนต่อขยายเฟส 3 เดอะ คริสตัล พาร์คนี้จะเพิ่มพื้นที่ 1 แสน ตร.ม. และมีร้านค้าในรูปแบบไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ เข้ามาเสริมทัพและสร้างสีสันได้มากขึ้น การตกแต่งจะเน้นบรรยากาศหรูหรา เรียบง่าย เพื่อให้ลูกค้ามาได้บ่อยและอยู่ได้นาน ๆ และมีแม็กเนตสำคัญคือ โรงหนังเอสเอฟเอ็กซ์ ฟิตเนสเฟิร์ท และคริสตัลมาร์เก็ต ซึ่งเป็นศูนย์รวมอาหารเทคโฮม เข้ามารองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มนิชมาร์เก็ต

เซ็นทรัลอวดโฉม 3 ศูนย์

เช่นเดียวกับการเคลื่อนทัพลุยต่อเนื่องของกลุ่มทุนเซ็นทรัล "นภารัตน์ ศรีวรรณวิทย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินบัญชี และบริหารความเสี่ยง บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตเพียง 5% แต่ช่วงครึ่งปีหลังโดยเฉพาะปลายปีที่เป็นไฮซีซั่น การจับจ่ายใช้สอยและการกระตุ้นจากหลาย ๆ ฝ่ายจะเข้ามาดันการเติบโตได้มาก นอกจากการเปิดศูนย์เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสท์ วิลล์ เลียบด่วนรามอินทรา ในช่วงปลายปีแล้วนั้น ยังเตรียมเปิดโฉมใหม่ของศูนย์การค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และบางนา

ทั้งนี้ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ลงทุน 1,900 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ขายอีก 8,000 ตร.ม. เปลี่ยนโฉมทั้งภายนอกและภายใน ขณะที่เซ็นทรัล บางนา ลงทุนเพิ่ม 1,400 ล้านบาท เพิ่มพื้นที่ขาย 4,000 ตร.ม. และจะทยอยเปิดเป็นโซน ๆ ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า

ด้าน "เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสท์ วิลล์" เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา เซ็นทรัลพร้อมลอนช์ในช่วงปลายปีนี้เช่นกัน ด้วยรูปแบบศูนย์การค้า Outdoor ขนาด 1.3 แสน ตร.ม. ด้วยมูลค่าลงทุน 6,000 ล้านบาท

ขยับทัพรอบทิศ

เช่นเดียวกับการขยับทัพของกลุ่ม "ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์" เตรียมงบฯกว่าพันล้านบาทยกเครื่องซีคอน ศรีนครินทร์ รับการแข่งขันค้าปลีกในโซนกรุงเทพฯตะวันออก ซึ่งแข่งขันสูงไม่แพ้ในใจกลางเมือง เนื่องจากมีทั้งศูนย์ขนาดใหญ่และขนาดกลาง และคอมมิวนิตี้มอลล์ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ด้วยการเพิ่มพื้นที่ 3 หมื่น ตร.ม. และดึงร้านค้าแบรนด์ดังทั้งร้านอาหารและแฟชั่นเข้ามาเสริม เพื่อขยายไปยังกลุ่มเป้าหมายระดับบีบวก

หัวเรือใหญ่ "มาซามิสึ อิกุตะ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า เมืองไทยมีการขยายตัวที่ดีของตลาดค้าปลีก แม้ว่าสถานการณ์กำลังซื้อและเศรษฐกิจจะไม่สดใสนัก แต่มองว่าเป็นช่วงสั้น ๆ เพราะในระยะยาวมีการเติบโต การลงทุนและการเข้ามาเปิดช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ขนาด 1 หมื่น ตร.ม. เป็นครั้งแรกในย่านกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นที่ศรีราชา เดินหน้าตามแผนลงทุนที่วางไว้ และเพื่อเป็นการรองรับตลาดในอนาคต

สอดคล้องกับมุมมองของแหล่งข่าวในแวดวงค้าปลีก ฉายภาพความเคลื่อนไหวนี้ ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่เห็นได้ชัดของการลงทุนของศูนย์การค้ารอบนอกและชานเมืองเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดใหม่ๆ และกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่มีกำลังซื้อและมีไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เติบโตขึ้นตามการขยายตัวออกไปรอบนอกของโครงการที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันซึ่งกลุ่มค้าปลีกแต่ละรายมีการลงทุนมากขึ้นและเร่งปักธงไปในทุกพื้นที่ที่มีโอกาส

การจัดทัพลุยทุกรูปแบบของยักษ์กลุ่มทุนค้าปลีก ไม่เพียงสร้างสีสันและบรรยากาศโค้งท้ายปลายปีให้คึกคัก แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมให้ "ธุรกิจ" เดินหน้าฝ่าทุกวิกฤตไปได้ต่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook