จี้3กรมภาษีลดขั้นตอนเอื้อธุรกิจ ค้านขาดทุนสะสมหักภาษีM&A

จี้3กรมภาษีลดขั้นตอนเอื้อธุรกิจ ค้านขาดทุนสะสมหักภาษีM&A

จี้3กรมภาษีลดขั้นตอนเอื้อธุรกิจ ค้านขาดทุนสะสมหักภาษีM&A
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ขุนคลัง" ลั่น 3 กรมภาษีปรับกระบวนการเอื้อเอกชนทำธุรกิจง่ายขึ้น คาดเสร็จสิ้นปีนี้ ส่วนข้อเสนอเอกชนขอ ยันให้ไม่ได้ทั้งหมด คนในคลังเผยขอ 3 ข้อให้ได้แค่ 2 ข้อ สรรพากรค้าน "นำผลขาดทุนสะสม" ของบริษัทเดิมไปทยอยหักค่าใช้จ่ายของกิจการใหม่ที่เกิดจากควบรวม ชี้คดีขึ้นสู่ศาลแล้วยุติไม่ได้-หวั่นถูก "ป.ป.ช.-สตง." ลงดาบ


นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับปรุงตัวชี้วัดเกี่ยวกับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของภาคเอกชน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกรมภาษีทั้ง 3 กรม ต้องปรับกระบวนการต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เอกชนมากขึ้น น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2558 นี้ ก่อนที่ธนาคารโลกจะมีการประเมินจัดอันดับใหม่ช่วงเดือน ม.ค. 2559

"จุดที่จะต้องสัมผัสกับผู้ลงทุน ก็จะมีหน่วยงานภาษีทั้งหลาย ไม่ว่าจะกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ที่จะต้องปรับกระบวนการเพื่อให้ง่ายขึ้น ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่เราจะทำ" นายอภิศักดิ์กล่าว

ส่วนประเด็นที่เอกชนขอให้พิจารณามาตรการภาษีการควบรวมกิจการ (M&A) นั้น นายอภิศักดิ์กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องภาษี M&A จะเป็นคนละส่วนกับ Ease of Doing Business ที่จะเป็นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางด้านธุรกิจ โดยเรื่องภาษี M&A จะต้องพิจารณารายละเอียด เพราะจะยกเว้นภาษีให้หมดตามที่ขอคงทำไม่ได้

ก่อนหน้านี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนได้เสนอกรมสรรพากรให้พิจารณามาตรการยกเว้นภาษีเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ เพื่อช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันกรมสรรพากรจะเก็บภาษีในกรณีที่มีการควบรวมกิจการ ตัดหนี้เสีย และเมื่อควบรวมเป็นบริษัทใหม่ ต้องจ่ายภาษี ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เคยกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปเจรจากันอีกที

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า มาตรการภาษี M&A ที่เอกชนเสนอมามี 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.ขอยกเว้นภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล) อากรแสตมป์ที่เกิดจากการโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นของอีกบริษัท (Share Swap)

2.นำผลขาดทุนสะสมของบริษัทเดิมไปทยอยหักค่าใช้จ่ายของกิจการใหม่ที่เกิดจากการควบรวมได้ และ

3.ยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทผู้โอนหุ้น กรณีปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท และเสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรจากการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศกำหนดที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มว่า ในข้อเสนอให้ยกเว้นภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดา/นิติบุคคล)/อากรแสตมป์ที่เกิดจากการโอนหุ้นเพื่อแลกกับหุ้นของอีกบริษัท (Share Swap) นั้น สามารถพิจารณาดำเนินการได้ รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทผู้โอนหุ้น กรณีปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท และเสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีอากรจากการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินและเจ้าหนี้อื่น สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ก็สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นการต่ออายุมาตรการเดิม

"ข้อที่เสนอให้นำผลขาดทุนสะสมของบริษัทเดิมไปทยอยหักค่าใช้จ่ายของกิจการใหม่ที่เกิดจากการควบรวมคงทำไม่ได้แน่ เพราะปัจจุบันยังมีเรื่องฟ้องร้องค้างกันอยู่ในศาลประมาณ 30 ราย คิดเป็นเงินภาษีนับแสนล้านบาท ถ้ากรมสรรพากรยอมยุติเรื่องให้ตามข้อเสนอนี้ ก็จะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เอาผิดแน่นอน" แหล่งข่าวกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook