แบงก์ร่วมวงแข่งสินเชื่อบ้าน ถล่ม "ดอกเบี้ยต่ำ-ผ่อน40ปี"

แบงก์ร่วมวงแข่งสินเชื่อบ้าน ถล่ม "ดอกเบี้ยต่ำ-ผ่อน40ปี"

แบงก์ร่วมวงแข่งสินเชื่อบ้าน ถล่ม "ดอกเบี้ยต่ำ-ผ่อน40ปี"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แบงก์พาณิชย์นั่งไม่ติด อัดแคมเปญรักษาฐานลูกค้า หลังคลังหนุน ธอส.อุ้มลูกค้าอสังหาฯ "ซีไอเอ็มบี ไทย" ท้าชน ธอส. บ้านไม่เกิน 3 ล้าน กดดอกเบี้ย 4% 3 ปี เขย่าตลาดช่วงไตรมาส 4 เดือด "ออมสิน" รับนโยบายร่วมวงถล่มดอกเบี้ยพิเศษ พร้อมผ่อนคลายเงื่อนไขยืดเวลาผ่อนชำระเป็น 40 ปี คาดปลายสัปดาห์นี้ได้ข้อสรุป

CIMB ถล่มดอกเบี้ย 4% สู้ ธอส.

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างเตรียมออกแคมเปญกระตุ้นตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อล้อไปกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ธนาคารได้เตรียมมาตรการไว้ค่อนข้างหลากหลาย และคาดว่าจะสามารถนำเสนอออกมาได้ภายในต้นเดือน พ.ย. 2558 และระยะแรกกำหนดระยะเวลาการทำแคมเปญภายใน 3 เดือน หรือสิ้นสุดในเดือน ม.ค. 2559

"เรายังไม่สรุป โดยอยู่ระหว่างการศึกษามาตรการของภาครัฐโดยละเอียด ซึ่งยังมีหลายจุดที่ยังไม่ชัดเจน เช่น มาตรการจดจำนองครอบคลุมทั้งที่อยู่อาศัยใหม่-เก่า หรือการรีไฟแนนซ์หรือไม่ เราจึงเตรียมแคมเปญของเราเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าไว้ค่อนข้างหลาก หลาย" นางสาวอรอนงค์กล่าว

เบื้องต้นธนาคารได้เตรียมแคมเปญ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับผลเชิงบวกโดยตรงกับมาตรการของธนาคารอาคารสงคราะห์ (ธอส.) ในกลุ่มที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ธนาคารเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษเฉลี่ยระยะ 3 ปี ที่ระดับ 4% ต่อปี สำหรับลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการที่ธนาคารได้ร่วมมือกับผู้พัฒนา อสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ชั้นนำทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวสูงตามแนวรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ รวมถึงโครงการแนวราบในบางพื้นที่

ส่วนอีกกลุ่มซึ่งซื้อที่อยู่อาศัย ราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ธนาคารก็มีแคมเปญอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้เลือกหลากหลาย เช่น อัตราดอกเบี้ย 4.25-4.5% ต่อปี หรือบางโครงการที่ดีและเป็นลูกค้าที่ดีก็สามารถรับอัตราดอกเบี้ยเทียบเท่า กับอัตราดอกเบี้ยพิเศษในแคมเปญแรกที่ 4% ก็เป็นได้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดที่แข่งกันอยู่ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% (กรณีลูกค้าที่ไม่ได้ซื้อประกันคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือ MRTA อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้น 0.50-0.75%)

"แคมเปญที่ออกมาถือเป็นทางเลือก ให้กับลูกค้าที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เพื่อให้เร่งตัดสินใจเร็วขึ้น เพราะช่วยประหยัดต้นทุนให้ลูกค้าได้ค่อนข้างมาก โดยค่าโอนและ

ค่าจดจำนองปกติจะต้องจ่ายที่ล้านละ 2 หมื่นบาท ตอนนี้จะเหลือแค่ 200 บาทเท่านั้น แถมยังได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษอีกด้วย ซึ่งแบงก์ก็ไม่ได้เฉือนเนื้อเพราะเป็นแคมเปญดึงลูกค้าในช่วงสั้น ๆ ทั้งมาตรฐานการให้สินเชื่อของเราก็ยังเข้มข้นเหมือนเดิม และถ้าได้ลูกค้าที่ดีเข้ามาก็สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพิ่มด้วย"

ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มที่ซื้อบ้านราคา 1-3 ล้านบาทราวประมาณ 30-50% ของพอร์ตสินเชื่อคงค้างที่มีอยู่ประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยคุณภาพของลูกค้าในกลุ่มนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี มีอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเอ็นพีแอลของพอร์ตรวมที่ 3% ปลาย ๆ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าวัยเริ่มทำงานที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของ ตัวเอง

ปลุกสินเชื่ออสังหาฯ Q4 เดือด

นางสาวอรอนงค์ กล่าวต่อว่า โดยปกติในไตรมาสสุดท้ายสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเติบโตกว่าไตรมาสอื่น ๆ ประมาณ 20% แต่การที่ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นออกมาเชื่อว่าจะทำให้ยอดเติบโตกว่าปกติเป็น 30% ส่วนจะทำให้มีแรงส่งให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบ โตอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 2559 หรือไม่นั้น ต้องยอมรับว่าอาจจะยาก เพราะปัจจุบันข้อจำกัดในการเติบโตมีอยู่ค่อนข้างมาก เช่น เศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน ดังนั้น จึงอาจทำได้เพียงแค่การระบายสต๊อกที่อยู่อาศัยในตลาดออกไปได้เท่านั้น หากจะทำให้ตลาดขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยความต่อเนื่องด้านการเติบโตของเศรษฐกิจ

"มาตรการนี้ไม่ได้รักษาได้ทุกโรค เป็นแค่การจุดชนวนให้กับเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น และทำให้บรรยากาศดีขึ้น โดยยอดการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกของเราทำได้ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีน่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่ 14,000 ล้านบาท"

ออมสินร่วมถล่ม ดบ.-กู้ยาว 40 ปี

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับการเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ให้เข้าถึงที่อยู่อาศัย ตามนโยบายของภาครัฐที่เพิ่งออกมาล่าสุดนั้น ในส่วนของธนาคาร อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว โดยเบื้องต้น รมว.คลังได้ขอให้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย เข้าไปร่วมปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย จากที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.ดำเนินการอยู่ในวงเงิน 10,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่ามาตรการนี้น่าจะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากประชาชนผู้มีราย ได้น้อย

ดังนั้นวงเงินที่ ธอส.เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ จึงต้องให้ทั้ง 2 ธนาคารเข้ามาร่วมปล่อยกู้ดอกเบี้ยพิเศษด้วย ส่วนเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในอัตราเดียวกับ ธอส.หรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา เพื่อเสนอให้กับคณะกรรมการของธนาคารเห็นชอบ

นายชาติชายยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ธนาคารเตรียมผ่อนคลายเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อทั่วไป เพื่อให้ผู้กู้เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เช่นผู้กู้มีเงินเดือน 10,000 บาท สามารถขอสินเชื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ 1 ล้านบาท รวมทั้งมาตรการแบ่งเบาภาระของผู้กู้มากขึ้น เช่นการยืดระยะเวลากู้ออกไปเป็นไม่เกิน 40 ปี จากเดิม ที่กำหนดผ่อนชำระไม่เกิน 30 ปี

"มาตรการดังกล่าวยังไม่สรุปชัดเจน คาดว่าปลายสัปดาห์นี้น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น แต่การผ่อนเกณฑ์ทั่วไป อย่างเช่นดอกเบี้ยพิเศษ จะเท่า ธอส.ที่ปล่อยกู้อยู่หรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างหาอัตราเหมาะสม ซึ่งหากทำแล้วขาดทุน ก็ต้องขอชดเชยจากรัฐบาล ส่วนวงเงินปล่อยกู้เรามีความสามารถปล่อยกู้เกิน 1 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว เพราะวงเงินดังกล่าวก็มาจากเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อบ้านที่ธนาคารตั้งเป้า ปีละ 7 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว"

ทั้งนี้ปัจจุบันการคิดอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารออมสิน คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยทั่วไปช่วง 3 ปีอยู่ที่ 4.5% ขณะที่ 5 ปีขึ้นไปอยู่ที่เฉลี่ย 5%

กรุงไทยแย้มอยู่ระหว่างศึกษา

ด้านนายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะออกแคมเปญกระตุ้นตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาดว่าจะเป็นกลุ่มใดหรืออย่างไร เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล โดยอยู่ระหว่างการศึกษาว่าจะเจาะกลุ่มลูกค้าใด หรือมีเงื่อนไขอย่างไร แต่ต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่ไม่ลดหย่อนลง นั่นคือต้องพิจารณาตามความเสี่ยงที่เป็นจริง

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปีเป็นช่วงที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตที่สุด โดยปกติจะมีสัดส่วนถึง 40% ของยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวมทั้งปี แต่ในปี 2558 ยอมรับว่าสินเชื่อชะลอตัวลง และหากไม่มีมาตรการของภาครัฐออกมาน่าจะทำให้สินเชื่อในไตรมาสสุดท้ายนี้เติบ โตต่ำกว่าปีที่แล้ว การที่รัฐบาลออกมาตรการมาช่วยกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อได้เร็วขึ้น และยังเห็นการเติบโตที่ดี

โดยธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อที่ อยู่อาศัยในปีนี้มากกว่า 6% โดยธนาคารยังมุ่งปล่อยสินเชื่อในทุกกลุ่ม แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย

KK ชี้อสังหาฯรายย่อยรับอานิสงส์

นายวิศรุต ปัญญาภิญโญผล ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐน่าจะส่งผลให้บรรยากาศโดยรวมปรับ ตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าของธนาคารที่เป็นดีเวลอปเปอร์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่กว่า 80% เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี

"มาตรการนี้น่าจะส่งผลดีต่อลูกค้าดีเวลอปเปอร์ ของเรามากกว่า หรือถึงแม้ ธอส.จะเข้ามาจับกลุ่มลูกค้าพรีไฟแนนซ์ด้วย ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นการเสริมให้ตลาดแข็งแรงขึ้นมากกว่าเป็นการแย่งตลาดกัน เพราะตลาดกลุ่มนี้เป็นฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นตลาดที่ค่อน ข้างกว้างมาก และมาตรการนี้ก็น่าจะเป็นการจุดเชื้อให้ตลาดคึกคักขึ้น แต่จะมีความต่อเนื่องหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้เร็วเพียงใด"

กสิกรฯเมินแข่งตลาดล่าง

ขณะที่นายทวี ธีระสุนทรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารปัจจุบันมีสัดส่วน 70% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย โดยช่วง 9 เดือนแรกธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 250,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 2% ถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย สาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 40% เพราะเมื่อคำนวณแล้วรายได้ของผู้กู้ไม่น่าเพียงพอต่อการผ่อนชำระหนี้

ส่วนมาตรการกระตุ้นสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่าน ธอส.สำหรับที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทนั้น ถือว่าเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกับทางธนาคาร เพราะส่วนใหญ่ 70% ของลูกค้าธนาคารเป็นคนที่กู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคามากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นความร่วมมือกับดีเวลอปเปอร์ สำหรับเรื่องหนี้เสียกลุ่มนี้ขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 2.1% จากปลายปี 2557 อยู่ที่ 1.9%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook